xs
xsm
sm
md
lg

“สุกำพล” ปัดเพิ่มงบกลาโหมเอาใจกองทัพ ชี้ใช้ปรับเงินเดือนตามนโยบายรัฐ ยันพร้อมแจง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
เปิดงบทหาร 1.8 แสนล้าน เงินเพิ่ม-จีดีพีลด ทบ.ครองแชมป์ได้รับมากสุด 8.8 หมื่นล้าน แต่จ่ายเบี้ยเลี้ยงทหารพรานอ่วม - ผูกพันซื้ออาวุธอีก “ราชองรักษ์”งบหดกว่าเดิม 30 ล้าน ผุดงบฯ ปรองดองทุกเหล่าทัพ “รมว.กลาโหม” ปัดรัฐบาลเอาใจกองทัพ เทงบให้ แจงเพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน ใช้ 8.8 พันล้านขึ้นเงินเดือนตามนโยบายเพิ่มค่าครองชีพรัฐบาล

วันนี้ (22 พ.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ในส่วนของกระทรวงกลาโหมจำนวน 180,811,381,800 บาท ที่ถูกวิจารณ์ว่าได้รับงบตอบแทนจากรัฐบาล ว่า งบประมาณที่เพิ่มจากปี 2555 จำนวน 12,000 ล้านบาท โดยงบประมาณ 8,800 ล้านบาท ต้องนำมาปรับเงินเดือนข้าราชการทหาร ตามมติคณะรัฐมนตรีให้ผู้ที่จบปริญญาตรี ได้เงินเดือน 15,000 บาท และต่ำกว่าปริญญาตรี 9,000 บาท ซึ่งเงินทั้งหมดจะใช้เป็นการจ่ายเงินให้กำลังพล ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มมีแค่ประมาณ 3,200 ล้านบาทเท่านั้นที่ต้องแบ่งให้ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นจำนวนเงินนิดเดียวเอง ทั้งนี้ งบประมาณที่ได้มาทั้งหมดจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทรงชีพ เช่น เงินเดือน ส่วนงบพัฒนาจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ จะนำไปจ่ายโครงการต่างๆที่แต่ละกองทัพได้ซื้อของที่ได้ทำสัญญาซื้อขายหลายปี อีกส่วนเป็นงบพัฒนาที่เหลือนิดเดียว ซึ่งต้องนำงบมาซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ที่ชำรุดทรุดโทรม

“ยืนยันว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท รัฐบาลไม่ได้เอาใจกองทัพ เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นมาเขาเอามาจ่ายเงินเดือนข้าราชการจำนวน 8.8 พันล้าน ไม่ได้เอามาทำอะไร ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจริงแค่ 3.2 พันล้านเท่านั้น ทั้งนี้ ถ้ามีการอภิปรายพาดพิงถึงงบประมาณกระทรวงกลาโหมผมก็ต้องชี้แจง แต่ถ้าไม่พาดพิงก็จะไปชี้แจงวันสุดท้ายเลย ก็ดูจังหวะ แต่เชื่อว่าเขาคงไม่พาดพิงเพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไร" พล.อ.อ.สุกำพล ระบุ

แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า สำหรับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นในปี 2556 ส่วนใหญ่เป็นงบฯ ทรงชีพ เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน เป็นการเพิ่มตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดค่าครองชีพขั้นต่ำ 15,000 บาท โดยเหล่าทัพที่มีการเสนอขึ้นมามากที่สุดคือกองทัพบก เพราะมีกำลังพลมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเบี้ยเลี้ยงของทหารพราน หลังจากที่รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพบกจัดตั้ง 5 กรมทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อทดแทนทหารหลัก ทั้งนี้ งบฯ ลงทุน ยังอยู่ในอัตราคงที่ และยังไม่มีการเริ่มตั้งโครงการใหม่ โดยเฉพาะกองทัพบก ยังมีภาระงบผูกพันจาการจัดหายุทโธปกรณ์เข้าประจำการในปีก่อนๆ ทั้ง รถเกราะล้อยาง BTR-3E1 เฮริลคอปเตอร์ MI-17 ของรัสเซีย และ UH-60 ( Black Hawk ) ส่วนงบฯซ่อมบำรุง ส่วนใหญ่จะเป็น เฮริลคอปเตอร์ที่มีประจำการอยู่ และ รถยนต์บรรทุก

“ ภาพรวมของงบประมาณในปี 2556 แม้จะได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับ จีดีพี แล้วถือว่าได้ลดลง จากปี 2555 ที่จัดสรรให้ 1.48 % ของจีดีพี แต่ปีนี้ได้แค่ 1.44 % ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งเป้าหมายของยุทธศาสตร์ของเราต้องการเพิ่มงบประมาณให้ได้ในอัตรา 2 % ของจีดีพี ซึ่งขณะนี้ยังห่างไกลมาก ซึ่งเป้าหมายนี้ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2544-2545 ช่วงที่มีการจัดสรรงบฯ ให้กองทัพมากที่สุดคือ รัฐบาลสมัย นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งพุ่งขึ้นถึง 1.68 % ของจีดีพี แต่หลังจากนั้นก็ถดถอยลงมาเรื่อยๆ แม้แต่ละปีจะมีการทำกรอบงบประมาณเพิ่มขึ้นก็ตาม และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยังถือว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับงบประมาณด้านนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งในระยะหลังประเทศเพื่อนบ้านได้ริเริ่มโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเข้าประจำการ ทั้งเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ทันสมัย และเรือดำน้ำ ในขณะที่พม่าแม้กรอบวงเงินงบประมาณไม่มากนัก แต่การงบฯด้านการทหารมากถึง 5 %ของจีดีพี ”แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวผู้นี้ ยังมองว่า ยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณของรัฐบาล โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นที่การฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดปัญหากระทบกระทั่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา งบประมาณส่วนใหญ่จึงเน้นที่การจัดประชุมระดับนานาชาติ การเยือนประเทศต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งงบประมาณในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ของกระทรวงกลาโหม ได้ระบุกรอบวงเงิน 180,811,381,800 บาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2555 ที่ได้รับงบเงิน 168,667,373,500 บาท กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่าเดิมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยงบทั้งหมดแบ่งเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 6,133,011,800 บาท กรมราชองครักษ์ 580,426,700 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 14,875,509,300 บาท กองทัพบก 88,843,384,000 บาท กองทัพเรือ 35,205,864,000 บาท กองทัพอากาศ 33,977,138,800 บาท และองค์การมหาชน(สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ)1,196,047,200 บาท โดยทุกเหล่าทัพต่างได้รับงบประมาณเพิ่มจากปีที่แล้วทั้งหมด โดยสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมได้งบเพิ่มมากขึ้น 300 กว่าล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทยได้รับเพิ่มขึ้น 800 กว่าล้านบาท กองทัพบกได้งบเพิ่มขึ้น 6 พันกว่าล้านบาท กองทัพเรือได้รับงบมากขึ้น 3 พันล้านบาท กองทัพอากาศเพิ่มขึ้น 2 พันล้านบาท และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้เพิ่มขึ้น 300 กว่าล้าน โดยมีเพียงในส่วนกรมราชองครักษ์ที่ได้รับงบประมาณน้อยลงจากเดิม 30 กว่าล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกองทัพบก เป็นเหล่าทัพที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยได้แบ่งงบประมาณตามแผนงานรายจ่าย คือ แผนงานสร้างความปรองดอง สมานฉันท์และฟื้นฟูประชาธิปไตย 30 ล้านบาท แผนงานป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษายาเสพติด 208,887,000 บาท แผนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 830,719,000 บาท แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 320 ล้านบาท และแผนงานเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ 87,453,778,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น