xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สื่อสารฯ ชี้ กสทช.ทำตาม กม. เหตุให้ใบอนุญาตดาวเทียมไทยคมไม่ผ่านประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ประธานคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร(แฟ้มภาพ)
“ปรีชาพล” เผยหลังผู้เกี่ยวข้องกรณีออกใบอนุญาตดาวเทียม บ.ไทยคม เข้าแจง กมธ.สื่อสารฯ รับ กมธ.ทำตาม กม. เหตุเป็นใบอนุญาต แต่คลื่นความถี่ต้องประมูล และตำแหน่งวงโคจรเป็นทรัพยากรทุกประเทศ กสทช.ไม่มีสิทธิจัดสรร พร้อมยึดเป็นหลักการเดียวกัน

วันนี้ (12 ก.พ.) ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังจากที่ กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียม เข้ามาชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียวให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยไม่ผ่านการประมูลคลื่นความถี่ โดยมีตัวแทนจาก กสทช.ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.), นายสุทธิชัย ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.และ กทค.ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม, ตัวแทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที), นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา รองปลัดกระทรวงไอซีที, ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ประธานกรรมการสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียม, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และผู้แทนจากบริษัทไทยคมฯ เข้าชี้แจง

ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า ทั้งนี้จากการชี้แจงทำให้ทราบข้อมูลว่าการออกใบอนุญาตดาวเทียมของ กสทช.เป็นกรณีการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการ ไม่ใช่เป็นการออกใบอนุญาตเพื่อใช้คลื่นความถี่ จึงไม่จำเป็นต้องประมูลคลื่นความถี่แต่อย่างใด หากต่อไปผู้ที่ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยคม หรือบริษัทอื่นๆ จะมีการใช้คลื่นเพื่อรับส่งสัญญาณในประเทศไทยเพื่อให้บริการโทรคมนาคมก็ต้องผ่านวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ตามบทบัญญัติในมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นอกจากนี้ ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไม่ได้เป็นสิทธิหรืออธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นทรัพยากรของทุกประเทศ การใช้งานวงโคจรดาวเทียมจึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นวงโคจรจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กสทช. และไม่สามารถนำมาประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 ได้ อย่างไรก็ตาม กสทช.ไม่ได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมแก่บริษัทไทยคมฯ เป็นการเฉพาะ หากต่อไปมีผู้ประกอบการรายอื่นมาขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการดาวเทียม กสทช.ก็จะพิจารณาในเงื่อนไขและหลักการเดียวกัน

“จากการรับฟังข้อมูลการชี้แจง เป็นที่ชัดเจนว่าการที่ กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดาวเทียมให้กับบริษัทไทยคมฯ นั้นเป็นไปตามหลักการที่ควรเป็นตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” ร.ท.ปรีชาพลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น