“ปานเทพ” เผยบทสนทนาถกร่วม “ก่อแก้ว-วรชัย” เห็นชัดจับมวลชนเป็นตัวประกัน เพื่อเหมารวมนิรโทษฯ “แม้ว-แกนนำ” ไปด้วย ย้ำ พธม.หนุนเว้นโทษเฉพาะคนผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่รวมคดีอาญา ระบุพร้อมเจรจาเพื่อยับยั้งกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมโดยไม่ต้องชุมนุม แม้มีบางกลุ่มไม่พอใจก็ตาม แต่หากไม่สำเร็จ พธม.ก็พร้อมเคลื่อนไหว ด้าน “คมสัน” ยกนิรโทษฯ ฉบับ “นิชา” ถูกต้องตามหลักนิติธรรมที่สุดแล้ว
วันที่ 11 ก.พ. 56 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วย อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงประเด็นการนิรโทษกรรม
โดยนายปานเทพกล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมกำลังทำให้รัฐบาลกับเสื้อแดงแตกกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่แปลกใจเลยที่รัฐบาลพยายามทำให้เห็นว่าเขากำลังจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว แต่พันธมิตรฯ เป็นตัวปัญหา เป็นคนคัดค้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วตัวเองไม่อยากรับเผือกร้อนนี้ไว้ เลยเอาพันธมิตรฯ มาเป็นเหยื่อ ฉะนั้นสถานการณ์นี้แหลมคม ถ้าตัดสินใจพลาดพันธมิตรฯ จะกลายเป็นคู่กรณีกับมวลชนเสื้อแดงแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ตนเห็นว่าถ้ามีวิธียุติกฎหมายนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องชุมนุม ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสีย เราควรเลือก จึงเป็นเหตุผลที่ตนไปร่วมพูดคุยกับนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ เพื่อแสดงจุดยืนสำหรับตนถ้า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ถูกเอาเข้าสภา ถือว่าการหารือครั้งนี้ประสบความสำเร็จแล้ว
นายปานเทพกล่าวต่อว่า การไปครั้งนี้ตนพูดชัดเจนในวงเสวนาเลยว่า ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ คอ.นธ. เพราะมีช่องโหว่และเกิดความระแวงได้ว่าอาจคลุมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณและแกนนำ นอกจากนี้ ตนก็ได้แสดงจุดยืนเหมือนเดิม คือ ไม่ควรล้างผิดให้ใครเลย ต้องพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม คนผิดต้องรับโทษ แต่อาจมีบางประเด็นที่สังคมเห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะละเว้นได้ และคนในสังคมไม่มีใครคัดค้าน ควรทำเลย เช่น การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่รวมความผิดทางอาญาเข้าไปด้วย
ข้อเสนอนี้ เท่าที่เห็นก็มีของนายอภิสิทธิ์ ที่ต้องการล้างความผิดเฉพาะการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่รวมอาญาและทุจริต ฉะนั้น คนที่จะต่อว่าตนไปแอบคุยกัน นี่คือข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์เอง มากไปกว่านั้นก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ ยอมแม้กระทั่งนิรโทษฯ ให้มวลชนทุกฝ่ายเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากได้ข้อมูลบางอย่างจากภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า จึงเปลี่ยนความคิด
นอกจากนี้ก็มีข้อเสนอของนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เขาเสนอว่าต้องมีเงื่อนไขหลายอย่าง แม้คนละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ตาม อย่างน้อยก็ต้องยอมรับผิด สำนึกผิด แล้วให้ข้อเท็จจริงด้วย แล้วถึงมีโอกาสนิรโทษกรรม ไม่เช่นนั้นอาจทำความผิดหนักขึ้นในอนาคต
ดังนั้นมีจุดร่วมหนึ่งข้อ คือ เว้นโทษให้คนละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนายอภิสิทธิ์ และนางนิชา แม้พันธมิตรฯต้องสู้ไม่ขอนิรโทษกรรม เพราะการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลสมัยนั้นไม่ชอบ แต่เมื่อตระหนักว่าคนในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าคนเหล่านี้ควรได้รับการยกเว้นความผิด ก็ทำเรื่องนี้ก่อน แต่ตนคิดว่าสุดท้ายคงไม่ได้ทำ เพราะมีคนต้องการมัดมวลชนที่ผิดลหุโทษรวมไว้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วตนก็คิดไม่ผิด
“พอผมเสนอนี้อย่างนี้ไปก็เกิดอาการขึ้นมา นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายวรชัย เหมะ ดูลังเลและกังวล เพราะไม่ตรงกับธงที่เขาตั้งไว้ นายวรชัยก็ถามว่ามาตรา 112 ถือเป็นโทษทางการเมืองมั๊ย ตนบอกไม่ใช่เลยมันคือประมวลกฎหมายอาญา แล้วผมก็บอกว่าสามารถต่อสู้ในคดีความได้ถ้าไม่ผิด แต่เขาอึดอัดจนกระทั่งนายวรชัย ยอมรับว่าถ้าออกไปอย่างนี้เขาจะโดนด่า ผมเลยจับได้เลยว่ามีการจับมวลชนเป็นตัวประกัน เพื่อให้แกนนำพ้นผิดไปด้วย” นายปานเทพกล่าว
แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า จากนั้น ดร.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าใครเหมาะสมโดนลงโทษหรือพ้นผิด นายก่อแก้วก็ดูไม่ค่อยจะเห็นด้วย ส่วนตนได้บอกว่าเสนอแบบนี้คนที่จะได้ปล่อยก็จะไม่ได้ปล่อยเพราะถูกจับไปมัดกับเรื่องที่ยาก ดร.วีรพัฒน์ จึงเสนอใหม่เป็นให้แยกออกเป็น 2 ฉบับ คือ 1. ให้นิรโทษฯคนละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2. ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา ซึ่งวิธีหลังนี้จะเป็นการถ่วงเลาออกไป อาจจะปีสองปี แต่นายก่อแก้ว กับ นายวรชัย บอกเลยว่า 2 ฉบับนี้ต้องยื่นพร้อมกัน ตนก็จับผิดได้อีกว่าเขาไม่ยอมปล่อยคนผิดลหุโทษ
นายปานเทพยังกล่าวด้วยว่า อะไรที่เราหยุดยั้งได้โดยไม่ใช้การชุมนุมเราจะใช้ ถ้าการเจรจาเพื่อยับยั้งนิรโทษฯให้ฆาตกร และคนผิดมาตรา 112 ไม่สำเร็จ เราก็ต้องใช้วิธีชุมนุม แต่ก็มีบางฝ่ายไม่พอใจที่พันธมิตรฯไม่ชุมนุม เพราะมีบางคนได้ประโยชน์จากสถานการณ์ความขัดแย้ง
ด้านนายคมสันกล่าวว่า คนที่ถูกจำคุกอยู่ตอนนี้เหลือ 30 กว่าคน แล้วพวกนี้ก็เป็นพวกทำความผิดร้ายแรง เพราะคนที่โทษไม่หนักได้รับการประกันตัวไปแล้ว ที่สำคัญ 30 กว่าคนนี้ หากสู่กระบวนการศาลพวกนี้จะสารภาพ ซึ่งโยงถึงผู้สั่งการได้แน่ ฉะนั้นเลยต้องการนิรโทษกรรมพวกนี้ไปด้วยเพื่อตัดตอน ไม่ให้ซัดทอด เพราะคดีอย่างนี้สุดท้ายแล้วคนสั่งการอาจโดนประหารชีวิตได้
ส่วนการที่บอกว่าตั้งคณะกรรมขึ้นพิจารณา มันเป็นการใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งทำไม่ได้ ถ้าเอาเข้าสู่ศาลก็ขัดรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นไม่ได้เลย และข้อเสนอของนายอุกฤษ ที่ให้แกนนำทำปฎิญญาว่าจะไม่รับการนิรโทษกรรม กฎหมายไม่ใช่ข้อสัญญา ออกกฎหมายไปก็เป็นการนิรโทษฯ ไปแล้ว ถ้าไม่ต้องการรวมแกนนำจริงๆ สามารถเขียนในกฎหมายได้เลยว่าไม่รวม ข้อเสนอของ คอ.นธ.ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมเลย ข้อเสนอนางนิชานั้นเป็นไปตามหลักนิติธรรมที่สุดแล้ว