แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุสถานการณ์ใต้ยังไม่รุนแรง แม้จะมีเหตุระเบิดทำทหารเสียชีวิต 5 นาย ชี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพราะโจรใต้แค้นทหารวิสามัญฯ และจับแกนนำ ติงรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวต้องชั่งใจ หวั่นทำสถานการณ์คุกรุ่น ด้าน เสธ.ทบ.นัด กอ.รมน.ประชุมเตรียมข้อมูลผลดี ผลเสียประกาศเคอร์ฟิวให้ ศปก.กปต.พิจารณา 15 ก.พ.
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงเหตุการณ์คาร์บอมบ์รถทหารบนถนนสายวังพญา-ท่าธง ที่ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา จนทำให้ทหารเสียชีวิต 5 นายว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ได้รุนแรงอะไร แต่เมื่อมีการใช้ระเบิดประกอบรถยนต์จึงทำให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งยุทธวิธีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบไม่ได้มากมาย เพียงแต่หาช่องว่างของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ และปฏิบัติการระเบิดโดยประกอบเข้ากับรถยนต์เพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ไปรับชาวบ้านทั้งชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิมเข้ามาทำงานในฟาร์มตัวอย่างเพื่อพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ระมัดระวังตัวมากมายจึงทำให้เกิดปัญหา
ส่วนเหตุการณ์ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้บอกกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ว่าจะไม่ขอการคุ้มกัน เนื่องจากชาวบ้านดูแลกันเองได้ ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแอบไปดำเนินการ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ได้จับกุมหัวหน้าใหญ่ และมีการวิสามัญบ้างจึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มาวางระเบิด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ถึงขั้นมายึดเมืองหรือมายึดหมู่บ้าน
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้ดูแลและระมัดระวังในสิ่งที่จะเป็นปัญหา หรือทำให้เกิดความสูญเสียที่ต้องมีความเข้มงวดกัน ทั้งนี้ตนได้ติดต่อกับ ผบ.ทบ.ขณะที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่นั้น ตนยังไม่อยากออกความเห็น เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกันในวันที่ 15 ก.พ.นี้ก่อน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่อย่างไร ซึ่งทางรัฐบาลต้องพิจารณาเรื่องนี้ แต่เมื่อสั่งมาเราต้องปฏิบัติอยู่แล้ว รวมถึงเราต้องอุดช่องว่างที่มีปัญหา ทั้งนี้รัฐบาลคงชั่งใจอยู่ ซึ่งการประกาศเคอร์ฟิวส์ต้องถามความคิดเห็นจากหลายฝ่าย
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แถลงถึงกรณีที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบวางคาร์บอมบ์รถทหารใน อ.รามัน จ.ยะลา จนทำให้มีทหารเสียชีวิต 5 นายว่า ล่าสุดสามารถจับผู้ต้องสงสัยและนำไปสอบสวน ซึ่งเขารับสารภาพว่ามีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวก และโปรยตะปูเรือใบ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะในรอบเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้น 3 เหตุการณ์ โดยอยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งมองว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบต่อขวัญกำลังใจของประชาชนในพื้นที่พอสมควร
“ต้องขอประณามการกระทำดังกล่าวว่ามีความโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ผบ.ทบ.รู้สึกเสียใจและไม่สบายใจ พร้อมทั้งจะกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มมาตรการต่างๆ ให้เข้มข้นขึ้น โดยให้ผู้บังคับบัญชาการตามลำดับชั้นกวดขันให้กำลังพลมีความตื่นตัว รวมถึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกำลังจะทิ้งเป้าหมายจากประชาชนมาเป็นเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังตัวและมีความพร้อมรับสถานการณ์อยู่เสมอ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของตนเองให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์”
ส่วนจะต้องมีการประกาศเคอร์ฟิวส์หรือไม่นั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่จะให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า มีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่บางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ การทำพิธีทางศาสนา อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพได้คำนึงถึงจุดนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้การประกาศเคอร์ฟิวถือเป็นมาตรการหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าประกาศใช้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
ขณะที่ พล.ท.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน.เตรียมเรียกประชุมหน่วยงานทีเกี่ยวข้องของ กอ.รมน.ในส่วนของกองทัพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศปก.กปต. ส่วนการเตรียมความพร้อมข้อมูล ผลดีและผลเสียของการประกาศเคอร์ฟิวในบางพื้นที่ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อยู่ระหว่างการประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง