เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือน นายวีรพงษ์ รามางกูร ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะจะมีอายุครบ 70 ปี หมดวาระการดำรงตำแหน่ง ตามข้อกำหนดของ พระราชบัญญํติธนาคารแห่งประเทศไทย
หกเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2555 ภารกิจหลักที่นายวีรพงษ์ จะต้องทำให้ได้ ยังไม่สำเร็จสักอย่าง ภารกิจทีว่านี้ ได้แก่ การตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ SWF –Sovereign Wealth Fund โดยใช้เงินทุนสำรองที่แบงก์ชาติดูแลอยู่ การกดดันให้แบงก์ชาติเลิกการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแทน และการให้แบงก์ชาติใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ
ที่ว่า เป็นภารกิจของนายวีรพงษ์ ก็เพราะว่า ทั้งสามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายวีรพงษ์เคยวิพากษ์วิจารณ์แบงก์ชาติอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่ว่า แบงก์ชาติจะเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจของชาติฉิบหาย ดังนั้น เมื่อนายวีรพงษ์เข้ามาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จึงเป็นที่คาดหมายว่า จะต้องผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ที่เป็นความต้องการของ นช.ทักษิณ ชินวัตร
หกเดือนผ่านไป นายวีรพงษ์ไม่สามารถผลักดันภารกิจเหล่านี้ให้สำเร็จได้จะมีก็เพียงเรื่องการลดดอกเบี้ยเท่านั้น ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน มีมติด้วยเสียง 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3 ลงมาเหลือ 2.75 ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2555 หลังจากที่ยืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 มาตั้งแต่ต้นปี 2555
แต่การประชุม กนง.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคมปีนี้ กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 3 ต่อไป เพราะเป็นห่วงเรื่องการขยายตัวของสินเชื่อและหนี้ครัวเรือน
ใครตกที่นั่งเดียวกับนายวีรพงษ์คงต้องร้อนอกร้อนใจ เพราะเวลาของตัวเองใกล้จะหมดแล้ว ภารกิจที่รับอาสามายังไม่สำเร็จสักอย่าง และคงต้องหาทางทำอะไรสักอย่าง อะไรที่ว่านั้น คือการเขย่าเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ ด้วยการยกเรื่องดอกเบี้ยขึ้นมาอัดแบงก์ชาติอีกครั้ง ในจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี
เงินบาทแข็งค่าที่ไรเป็นธรรมเนียมที่ผู้ส่งออกจะต้องส่งเสียงร้องว่าไม่ไหวแล้วๆ พร้อมกับเรียกร้องให้แบงก์ชาติแทรกแซง และเป็นธรรมเนียมทุกครั้งเหมือนกันที่นายวีรพงษ์จะต้องออกมาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนผิดพลาด ทำให้ค่าเงินแข็ง การส่งออกจะพังพินาศ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า สมมติฐานและความเชื่อของนายวีรพงษ์ผิด ค่าเงินบาทที่แข็งไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยพินาศ การส่งออกยังทำได้ตามปกติ ยกเว้นการส่งออกข้าวซึ่งฉิบหายไปเพราะ นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่นายวีรพงษ์ไม่กล้าค้าน แม้จะไม่เห็นด้วย เหตุผลที่จะอ้างมาอัดแบงก์ชาติในรอบนี้ว่า เป็นตัวการทำให้ค่าบาทแข็ง จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นเรื่องดอกเบี้ย จากการที่แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยสูง มีส่วนต่างกับดอกเบี้ยต่างประเทศมาก ทำให้ “เงินร้อน”ไหลเข้ามาแสวงหากำไร ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง และทำให้แบงก์ชาติมีผลขาดทุนจากดอกเบี้ย เพราะต้องออกพันธบัตรดูดเงินบาทที่มีผู้นำเงินดอลลาร์มาแลกออกจากตลาด จึงเรียกร้องให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ในการประชุมคณะกรรมการ กนง.ครั้งต่อไปในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้
เงินบาทแข็งค่าขี้นครั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ทั้งที่เป็นนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงิน ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า เกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินดอลลาร์ เพราะการอัดฉีดเม็ดเงินตามนโยบายQE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นก็ประกาศว่า จะใช้นโยบายนี้เช่นกัน ทำให้มีเงินอยู่ในตลาดมากมายมหาศาล เงินทุนต่างชาติจำนวนมากนี้จึงไหลมาหากำไรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย
ในความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยชะลอการไหลของเงินร้อนเหล่านี้ เพราะจะลดอย่างไร ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.25 ดอกเบี้ยญี่ปุ่น 0.1% และดอกเบี้ยยุโรป 0.75%
มีแต่นายวีรพงษ์กับรัฐมนตรีคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนองเท่านั้น ที่เชื่อว่า การลดดอกเบี้ยเป็นวิธีการสะกัดกั้นเงินร้อนจากต่างชาติ แต่นายประสารกลับเห็นว่า การลดดอกเบี้ยจะทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และการจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ย ควรจะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น หรือยุโรป
พฤติกรรมของนายกิตติรัตน์ที่รับลูกต่อจากนายวีรพงษ์ด้วยการส่งจดหมายถึงนายวีรพงษ์ ในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คาดโทษกรรมการแบงก์ชาติทุกคนว่าจะต้องรับผิดชอบหากเศรษฐกิจไทยพัง เพราะแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย และหลังจากนั้นนายวีรพงษ์ก็เล่นตามบท ด้วยการอ่านจดหมายให้ที่ประชุมบอร์ดฟัง หลังจากนั้นสั่งให้เลขานุการบอร์ด ไปรวบรวมข้อมูลมาว่า ประธารบอร์ด และบอร์ดเคยแนะนำให้ผู้ว่าแบงก์ชาติทำอะไรบ้างและให้รวบรวมตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้น
การจัดฉากเล่นละครของสองผู้นำองค์กรที่กำหนดนโยบายสูงสุดด้านการเงินการคลังของชาตินั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การประชุมคณะกรรมการ กนง. ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ลดดอกเบี้ยเท่านั้น แต่เพื่อปูทางไปสู่การปลดนายประสารออกจากตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะตาม พ.ร.บ.แบงก์ชาติ มาตรา 29 รัฐมนตรีคลังสามารถเสนอให้ ครม.ปลดผู้ว่า แบงก์ชาติได้ ตามคำเสนอของคณะกรรมการ ธปท. แต่ต้องแสดงเหตุผลว่า ผู้ว่าฯ มีข้อบกพร่องร้ายแรงอย่างไร
จดหมายคาดโทษบอร์ดแบงก์ชาติของนายกิตติรัตน์ที่ส่งไปให้นายวีรพงษ์อ่านให้บอร์ดฟัง และการที่นายวีรพงษ์สั่งให้เลขานุการบอร์ดรวบรวมข้อเสนอที่บอร์ดเคยเสนอต่อนายประสารทำนั้น ก็คือลูกไม้เดียวกับที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ใช้ย้ายพลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้พี่เมียทักษิณมาเป็นแทน โดยการสร้างกระแสข่าวเรื่องเรื่องการปล่อยให้มีบ่อนการพนันและยาเสพติดนำร่องปูทางไปก่อน
ตลอดระยะเวลาที่นายวีรพงษ์และนายกิตติรัตน์เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลนี้ทั้งสองคนนี้แม้ว่าจะมีอำนาจทางการเมืองหนุนหลัง มีสื่อเป็นพวก แต่ไม่สามารถสยบนายประสารลงได้ ยามใดที่มีความเห็นต่างกันในเรื่องการดำเนินงานของแบงก์ชาติ คำอธิบายของนายประสารนั้นมีเหตุผล มีข้อเท็จจริงรองรับ และเมื่อเวลาผ่านไปพิสูจน์ได้ว่าถูกต้องในขณะที่เหตุผลของนายวีรพงษ์กับนายกิตติรัตน์นั้นกำกวม ผิดไปจากข้อเท็จจริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนอย่างนายประสารยืนอยู่ได้ท่ามกลางพายุลมแรง จากฝ่ายการเมืองที่ต้องการเขี่ยเขาให้พ้นทาง
ทั้งนายวีรพงษ์และนายกิตติรัตน์ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินการคลังนั้นต่างก็เป็นผู้เล่นที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการกำหนดนโยบายการเงินการคลัง นายวีรพง์เป็นประธานกรรมการบริษัทดับเบิลเอ ธุรกิจกระดาษในเครือสุ่นหัวเซ้ง เป็นประธานบริษัททางด่วนกรุงเทพธุรกิจในเครือ ช.การช่าง การลดดอกเบี้ยย่อมทำให้เอกชนได้ประโยชน์ ทั้งทางตรงในเรื่องของต้นทุนทางการเงินและทางอ้อมในเรื่องการกระตุ้นการบริโภค
นายกิตติรัตน์ทำมาหากินอยู่ในตลาดทุนมาโดยตลอด บริษัทยูนิเวนเจอร์ซึ่งน้องสาวนายกิตติรัตน์เป็นซีอีโอ แม้จะไม่มีชื่อนายกิตติรัตน์ถือหุ้น แต่คนในตลาดหุ้นก็รู้ว่า บริษัทนี้เป็นของนายกิตติรัตน์ นายเจริญ ศิริวัฒนาภักดี ก็รู้ จึงเข้าไปร่วมทุนเป็นผู้ถิอหุ้นใหญ่ เพราะเห็นว่ายูนิเวนเจอร์มีสินทรัพย์ที่มีค่าคือเป็นบริษัทของรัฐมนตรีคลัง มีน้องสาวรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร
ยูนิเวนเจอร์เป็นกิจการโฮลดิ้งคัมปะนี ด้านอสังหาริมทรัพย์ใช้กลยุทธ์ การซื้อกิจการ เพื่อขยายสินทรัพย์ซึ่งเป็นกลยุทธ์การเงินที่นายกิตติรัตน์มีความชำนาญตั้งแต่สมัยอยู่ในกลุ่มฟินวัน ของนายปิ่น จักกะพาก อัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการกำหนดกลยุทธ์
ในจดหมายคาดโทษโยนความผิดให้บอร์ดแบงก์ชาติที่นายกิตติรัตน์ส่งถึงนายวีรพงษ์นั้น ข้อมูลบางอย่างผิด เช่น การขาดทุนสะสมของ ธปท.จะกลายเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจหรือหนี้สาธารณะ
เรื่องนี้ นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลังเขียนในเฟซบุ๊กของเขา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า การขาดทุนของแบง์ชาติไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะ ทั่วโลกถือปฏิบัติกันเช่นนี้
นายธีรชัยยังเขียนอีกว่า การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2544 นายกิตติรัตน์ซึ่งเป็นรองนายกฯ เสนอให้โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท เป็นภาระของแบงก์ชาติ เพราะแบงก์ชาติฐานะดีขึ้นแล้ว แต่นายธีรชัยซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีคลังคัดค้าน
“ในวันนั้น สมมติหากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู ฯไปให้แบงก์ชาติตามที่นายกิตติรัตน์เสนอจริงๆ ผลขาดทุนของแบงก์ชาติในวันนี้จะไม่ใช่ 400,000 ล้านบาทนะครับ แต่จะเป็น 1.5 ล้านล้าน
“ถ้าในวันนั้น นายกิตติรัตน์ไม่ได้กังวลที่แบงก์ชาติจะขาดทุนบานเบิกออกไป ถึงระดับ 1.55 ล้านล้าน ทำไมวันนี้กลับจะมากังวลกับตัวเลขขาดทุน เพียง 400,000 ล้าน ผมไม่เข้าใจ” นายธีรชัย เขียนตบท้ายในเฟซบุ๊ก
จดหมายของนายกิตติรัตน์ยังแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยบริษัทในตลาดหุ้น ซึ่งมียูนิเวนเจอร์ของเขารวมอยู่ด้วย ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“ประเด็นสำคัญอีกประการคือ การดำเนินนโยบายแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า หรือลดกระแสการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศลง จะต้องไม่กระทบผลร้ายแรงเหมือนในอดีต หาก ธปท.ดำเนินการใดๆ โดยไม่หารือจนเกิดความเสียหายรุนแรงก็จะแก้กฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ธปท. ทันที”
ผลร้ายแรงในอดีตนั้น นายกิตติรัตน์หมายถึงมาตรการ 30% ที่แบงก์ชาติสมัยนางธาริษา วัฒนเกษ เป็นผู้ว่าฯ เคยใช้เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้น
นายกิตติรัตน์ทำให้คนเข้าใจว่า มีแต่แบงก์ชาติเท่านั้น ที่มีหน้าที่สกัดกั้นการไหลเข้ามาของเงินทุนระยะสั้นจากต่างชาติ หรือ Hot Money และต้องใช้การลดดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ความจริงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่และมีอำนาจในการสกัดกั้น Hot Money ด้วย โดยใช้นโยบายการคลัง คือ การเก็บภาษีเงินที่ไหลเข้ามากินส่วนต่างดอกเบี้ย ในตลาดตราสารหนี้และตลาดเงิน แต่ทำไมนายกิตติรัตน์ไม่ทำ เพราะมันจะกระทบกับตลาดเงินที่เป็นหม้อข้าวของเขา
ประเทศไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเช่นนายกิตติรัตน์นี่เอง สถาบันการจัดอันดับเครดิตสองในสามแห่งของโลก คือ มูดี้ส์ กับ เอสแอนด์พี จึงไม่ปรับเครดิตประเทศไทย ทั้งๆ ที่นายกิตติรัตน์ออกข่าวก่อนล่วงหน้าแสดงความเชื่อมั่นว่าไทยจะได้ปรับเครดิต อุตส่าห์ลงทุนไปหาเขาถึงบ้าน มูดี้ส์ กับเอสแอนด์พี ให้เหตุผลว่าไทยมีความเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะ และปัญหาการเมือง ส่วนฟิทช์ เครดิตเรตติ้ง ยังไม่ประกาศผลการจัดอันดับ แต่คาดว่าคงไม่ปรับให้เช่นกัน
มุมมองของมูดีส์และเอสแอนด์พี สะท้อนความไม่มั่นใจในฝีมือการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย นายกิตติรัตน์คาดโทษบอร์ดแบงก์ชาติว่าต้องรับผิดชอบถ้าเศรษฐกิจไทยพัง กรณีที่เกิดขึ้นแล้วคือสถาบันจัดอันดับเครดิตไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย นายกิตติรัตน์จะโทษใครดี
นายวีรพงษ์มีเวลาอีกหกเดือนเท่านั้น ภารกิจสำคัญหลายอย่างที่เขาอาสามาทำ ยังไม่สำเร็จสักอย่าง เพราะไม่สามารถฝืนความเป็นจริง และหลักการเหตุผลของผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบันได้ วิธีการที่นายวีรพงษ์กับนายกิตติรัตน์ทำกับแบงก์ชาติขณะนี้ คงได้แรงบันดาลใจมาจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่กดดันแบงก์ชาติญี่ปุ่นให้เปลี่ยนนโยบายการเงิน ให้มีลักษณะผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2555 นายวีรพง์ รามางกูร ให้คำมั่นต่อคณะกรรมาธิการการเงินการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา โดยมีสื่อมวลชนและคณะศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนร่วมรับฟังอยู่ด้วย หนึ่งในคำมั่นเหล่านั้นคือ “ไม่ว่าผู้ว่าแบงก์ชาติจะเห็นด้วยกับแนวความคิดของตนในที่สุดหรือไม่ จะไม่ถือว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของผู้ว่าแบงก์ชาติ จนนำไปสู่การประเมินของบอร์ดแบงก์ชาติตามมาตรา 25(1) ว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติบกพร่องอย่างร้ายแรงอันเป็นฐานนำไปสู่การปลดผู้ว่า แบงก์ชาติ ตามมาตรา 28/ 19 ( 5)”