xs
xsm
sm
md
lg

สวนดุสิตรับจ็อบยิ่งลักษณ์ เอาสถาบันบังหน้า-หากิน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 สุขุม เฉลยทรัพย์
รายงานการเมือง

กรณีที่ มานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนอาวุโส อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ประกาศลาออกจากการเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2530

โดยให้เหตุผลว่า เพราะจุดยืนการทำงานต่างกัน หลังจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตไปรับจัดเวทีสานเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 108 เวที ของรัฐบาล

“รัฐธรรมนูญปี 2550 ผมมีส่วนร่างมากับมือ และผมคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง เพราะไปอุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ให้นายทุนเข้ามากอบโกย หรือเข้ามาโกงประเทศ หรือหลายสิ่งหลายอย่างที่นักการเมืองจะเข้ามาล้วงลูก มีการห้ามเอาไว้หมด ฉะนั้น การล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมคงเห็นด้วยไม่ได้”

คำกล่าวของ มานิจ สะเทือนเลือนลั่นไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตด้วยว่า จะรักษาคุณค่าขององค์กรในฐานะสถาบันทางวิชาการไว้ได้หรือไม่ เมื่อคนที่เคยเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยฯมายาวนานถึง 26 ปี ยังอดรนทนไม่ได้ต้องสละตำแห่ง เพราะอับอายขายขี้หน้าเมื่อถูกชาวบ้านถามถึงผลโพลที่ส่อให้เห็นถึงการเชลียร์รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนออกนอกหน้า

นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่องสำหรับ มานิจ ซึ่งถือเป็นครูที่คนในแวดวงสื่อสารมวลชนรุ่นหลังสามารถยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจกับการทำหน้าที่เพื่อสังคมมากกว่าการคิดถึงประโยชน์ส่วนตัว

แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือ กลายเป็นว่าในยุคสมัยนี้ “คนดีอยู่ไม่ได้ ไอ้พวกที่อยู่ได้กลายเป็นพวกขี้ข้า...” เพราะหลังจากนี้ การลาออกของ มานิจ ก็จะเงียบหายไปกับสายลม เนื่องจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลหมดแล้วทั้งด้วยการ แทรกแซง แทรกซื้อ แทรกซึม รวมไปถึง สมยอม

สิ่งที่เป็นคุณูปการอย่างยิ่งจากการลาออกของ มานิจ คือ การสะท้อนดังๆ ไปยังสังคมไทยให้รับทราบว่า ประเทศนี้ยังไม่สิ้นคนดี และเงินตราไม่สามารถซื้อคนทุกคนได้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดความถูกต้องมองผลประโยชน์ชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

ขณะเดียวกันก็ทำให้คนไทยได้รับรู้ด้วยว่า “ผีโม่แป้ง” ที่รับใช้ระบอบทักษิณมีอยู่ในทุกวงการ รวมถึงในแวดวงวิชาการ ซึ่งหากทำตัวเป็นขี้ข้าก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่า นักวิชาการ

แต่คนเหล่านี้ก็ยังอิงแอบใช้คำว่าวิชาการมาบังหน้าเพื่อทำมาหากิน ซึ่งเป็นข้อครหาใหญ่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ควรจะต้องให้คำตอบกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนำข้อมูลเกี่ยวกับการรับจ๊อบจากหน่วยงานรัฐ 21 แห่ง 42 ครั้ง วงเงิน 141.8 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2547-2555

ที่น่าสนใจคือ เฉพาะ พ.ศ. 2555 เพียงปีเดียว มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตรับจ๊อบจากหน่วยงานรัฐภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถึง 35 ล้านบาท ทั้งนี้หากคิดเฉลี่ยจากการรับงานตลอด 8 ปีที่ผ่านมาของสวนดุสิตจะพบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 17.725 ล้านบาท

เท่ากับว่าเฉพาะแค่ปี 2555 ภายใต้การบริหารงานที่ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สวนดุสิตสามารถทำเงินได้เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัวจากค่าเฉลี่ยดังกล่าว คือ ปีเดียวมีรายได้จากหน่วยงานรัฐถึง 35 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ มานิจ ตัดสินใจไขก๊อกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยฯ คือ การไปรับจัดงานสานเสวนา 108 เวทีให้กับกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งใช้งบประมาณสูงถึง 168 ล้านบาท!

เป็นการรับงานที่คนมีสติปัญญาย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลมีธงที่จะฉีกรัฐธรรมนูญปี 50 และลากเอาเวทีสานเสวนามาบังหน้า เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับตัวเองเท่านั้น คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นนักวิชาการอย่างแท้จริงย่อมเล็งเห็นว่า เป็นเรื่องไม่สมควรที่จะตกเป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายการเมืองที่คิดไม่ซื่อต่อชาติบ้านเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย หลุดปากให้นโยบายกับนายอำเภอทั่วประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ให้เลือกคนฉลาดมา” หรือพูดง่ายๆ ว่าคนโง่ไม่ต้องเอามา แถมแสดงความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะฉีกรัฐธรรมนูญ 50 อย่างชัดแจ้งถึงขั้นเคยพูดว่า

“จะเก็บรัฐธรรมนูญ 50 ไว้ทำพ่อหรือ”

ย่อมเป็นเรื่องที่วิญญูชนพึงตัดสินใจได้ว่า เหมาะควรหรือไม่ที่จะใช้คำว่าวิชาการไปเกลือกกลั้วกับการทำลายกติกาสูงสุดของบ้านเมือง

ที่สำคัญคือ ไม่มีใครทราบเลยว่างบประมาณที่จะถูกนำมาใช้เพื่อจัดสานเสวนาที่สวนดุสิตรับงานมานั้นเป็นวงเงินเท่าไหร่จากที่กำหนดไว้ว่า 108 เวทีจะต้องแบ่งโซนตามเขตเลือกตั้ง มีการวางแผนจัดเวทีไว้ 5 ระดับ ตามปริมาณกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ 300-1,000 คน โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมการสานเสวนา 75,700 คน ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายสวนดุสิตจะต้องประมวลผลการดำเนินงานทั้งหมดส่งให้ ปคอป.เสนอต่อที่ประชุม ครม.รับทราบภายในเดือนเมษายน 2556

คำชี้แจงของ สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่เป็นโต้โผใหญ่ในการรับงานนี้ที่อ้างว่า เรื่องการจัดงานสานเสวนา 108 เวทีไม่มีอะไรเพราะยังไม่ได้เริ่มดำเนินการนั้น นับเป็นคำตอบที่สะท้อนชัดว่า สุขุม ไม่ควรเรียกตัวเองว่า นักวิชาการ อีกต่อไป เนื่องจากเป็นการพูดแบบนักการเมืองคือบิดเบือนประเด็นอย่างจงใจ

เพราะการที่บอกว่ายังไม่ดำเนินการ โดยไม่ยอมตอบคำถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่สถาบันวิชาการจะไปรับใช้การเมืองในประเด็นที่มีความขัดแย้งสูงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งชัดเจนว่ารัฐบาลมีธงของตัวเองที่วางเป็นเป้าหมายอยู่แล้ว การสานเสวนาจึงเป็นเพียงแค่พิธีกรรมอันจะนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

น่าสนใจไปกว่านั้น คือการอนุมัติงบประมาณเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 55 ผ่านมาแล้วเกือบสองเดือนเมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นเพราะต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับการทำประชามติตามที่ สุขุม ออกมาอ้าง คำถามคือมีการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ไปแล้วหรือยัง มีความไม่ชอบมาพากลในการล้างผลาญงบประมาณส่วนนี้หรือไม่ ทั้งนี้ตามแผนเดิมกำหนดไว้ว่า

ธ.ค. 55 กรมพัฒนาชุมชนร่วมกับคณาจารย์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ต้องจัดทำเอกสาร คู่มือ จัดจ้าง จัดทำคู่มือทั้งแนวทางการจัดเวที คู่มือสำหรับผู้เข้าร่วมเวที แผ่นพับประชาสัมพันธ์ และให้กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกจังหวัด

ม.ค. 56 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าสู่กระบวนการอบรมวิทยากร ม.ค.-ก.พ. 56 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต คัดเลือกประชาชนทั่วประเทศ เข้าสู่กระบวนการสานเสวนา มี.ค. 56 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดทำข้อสรุปจากทุกเวที ก่อนส่งรายงานผลการดำเนินการให้ ปคอป. ภายในเดือน เม.ย. 56 เพื่อนำเข้าสู่การรับทราบของ ครม.

สิ่งที่ต้องติดตามคือ การใช้งบประมาณ 168 ล้านบาทว่าจะมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตควรจะถอนตัวออกจากการรับใช้รัฐบาลยกเลิกการรับจัดงานสานเสวนา 108 เวทีเสีย เพื่อรักษาชื่อเสียงสถาบันและความเป็นวิชาการเอาไว้ให้เกิดความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งต่อสังคมได้ ไม่ใช่เอางานวิชาการมาบังหน้าเพื่อทำมาหากินเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น สุขุม เฉลยทรัพย์ น่าจะเป็นผู้พิจารณาตัวเองด้วยการไขก๊อกออกจากทุกตำแหน่ง ไม่ใช่ออกมาเถียงข้างๆ คูๆ ทำลายทั้งสถาบันและตัวเอง จนไม่เหลือแม้กระทั่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังที่ปรากฏเป็นที่น่าสังเวชอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น