xs
xsm
sm
md
lg

สำนักโพลรับจ้างสะเทือนถึงเวลาต้องถูกสำรวจบ้าง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

การลาออกจากนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตของ มานิจ สุขสมจิตร ได้ส่งผลสั่นสะเทือนต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อสำนักโพลภายใต้ชื่อของ “สวนดุสิตโพล” ที่ต้องโดนเข้าไปเต็มๆ และนับจากนี้ไปหากบุคคลที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เชื่อว่าจะไม่มีความน่าเชื่อถือในสังคมอีกต่อไป

เหตุผลในการลาออกของ มานิจ ซึ่งเป็นสื่ออาวุโส ได้รับการยอมรับนับถือในวงการคนหนึ่งระบุรับไม่ได้ที่มีการนำสถาบันการศึกษาดังกล่าวไป “รับใช้การเมือง” ขณะเดียวกันการทำโพลหรือการสำรวจความคิดเห็นก็บอกในทำนองว่า “ขาดหลักวิชาการ” สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกอับอายเมื่อถูกสังคมตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา

แม้จะไม่ได้พูดตรงๆ ว่าการทำโพลที่ผ่านมามีเรื่องของการ “รับจ้าง” เพื่อหวังผลทางการเมือง แต่เมื่อมีการพูดว่า ขาดหลักวิชาการ มันก็เข้าใจได้ไม่ยาก อีกทั้งคำยืนที่ระบุว่าผู้บริหารสถาบันการศึกษาแห่งนี้รับจ้างกระทรวงมหาดไทยตั้งวงเสวนาจำนวน 108 เวทีทั่วประเทศเพื่อทำกิจกรรมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

ซึ่งนั่นเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ทำให้ มานิจ ต้องตัดสินใจแยกทางออกมาในที่สุด เพราะรับไม่ได้ เป็นการนำเอาสถาบันเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นการเกี่ยวข้องของอาจารย์เฉพาะบุคคลเหมือนกับสถาบันการศึกษาที่อื่น

อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วหากกล่าวเฉพาะ “สวนดุสิตโพล” และ สุขุม เฉลยทรัพย์ ซึ่งถือว่ากลายเป็นสัญลักษณ์ในการริเริ่มทำโพลของสถาบันดังกล่าว จากเดิมที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต แต่มาระยะหลังที่ถูกวิจารณ์มากขึ้นในเรื่องการ “เอียงข้าง” มีการ “รับจ้าง” ทำโพล เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะการสร้างกระแสทางการเมือง อีกทั้งท่าทีของเขาในทางการเมืองก็ถูกมองว่าเอนเอียงไปในทางรับใช้ “อำนาจ” มากขึ้นทุกวัน

หากพิจารณาจากคำพูดของ มานิจ สุขสมจิตร ที่ระบุว่ามีการนำสถาบันไปรับใช้การเมือง มีการทำโพลที่ขาดหลักวิชาการ รวมทั้งการรับงานจากรัฐบาลผ่านกระทรวงมหาดไทยให้จัดตั้งเวทีสานเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ 108 เวที ก็ถือว่า “รับใช้” อย่างชัดเจน

นอกจากนี้สิ่งที่ มานิจ ไม่ได้พูดถึงแบบเฉพาะเจาะจงก็คือการทำผลสำรวจสำหรับวัดความนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเบื้องต้นเป็นการ “สร้างกระแสชี้นำ” ให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำหน้า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ แม้ว่าไม่อาจฟันธงกันแบบเต็มร้อย แต่เมื่อพิจารณาจากบทบาทและการเชื่อมโยงระหว่างกันในกรณีอื่นๆดังตัวอย่างดังกล่าวมามันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากถูกสงสัยว่าเป็น “โพลรับจ้าง” สร้างกระแสชี้นำ

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับกันแล้วว่าการทำโพลในระยะหลังจะมีเรื่องแบบนี้มาเกี่ยวข้อง และแม้ว่าตามกฎหมายจะห้ามการเปิดเผยผลสำรวจก่อนการวันเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์ แต่จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อมีการสร้างกระแสชี้นำมาตั้งแต่ต้น แล้วตอกย้ำเรื่อยมาจนถึงโค้งที่สอง โค้งที่สาม ก่อนถึงโค้งสุดท้าย

นอกเหนือจากนี้ ยังมีรายงานข้อมูลจาก “สำนักข่าวอิศรา” ที่เปิดเผยให้เห็นว่า สวนดุสิตโพลได้รับจ้างทำโพลให้กับหน่วยงานราชการมาอย่างต่อเนื่อง มีรายได้นับร้อยล้านบาท แม้ว่าหากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงการเชื่อมโยงทางการเมือง แต่อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นถึงการ “รับจ้าง” ซึ่งแล้วแต่ว่า “นายจ้าง” ต้องการให้ทำแบบไหนสามารถสนองความต้องการได้ตามเป้าหมาย และแน่นอนว่าหากพิจารณาจากแบ็กกราวด์ของผู้บริหารบางคนที่แนบแน่นกับ “ขั้วการเมือง” ก็ต้องรับใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลตอบแทนที่กลับมาย่อมคุ้มค่า

ดังนั้น ปรากฏการณ์การเปิดโปงในเรื่องการทำผลสำรวจ หรือโพล ที่ไม่ใช่เป็นไปตามหลักวิชาการ แต่รับใช้การเมือง ก็ยิ่งทำให้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเสื่อมศรัทธา ไม่มีความเชื่อถือจากสังคมอีกต่อไป แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการกระตุ้นให้สังคมได้ตื่นตัว ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโพลประเภทดังกล่าวอีกต่อไป อีกทั้งยังทำให้การทำโพลต้องมีความระมัดระวัง การตั้งคำถาม การตั้งหัวข้อต้องมีหลักการ อิงหลักวิชาการมากกว่าเดิม

ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำลังเข้มข้น แต่เมื่อมีข้อมูลว่ามีการทำโพลเพื่อชี้นำกระแส หวังผลทางการเมืองให้กับผู้สมัครบางพรรคที่มีอำนาจรัฐ ก็ยิ่งต้องเข้าไปตรวจสอบหาหลักฐานอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะพฤติกรรมดังกล่าวไม่ต่างจากการทุจริต ไร้จรรยาบรรณ และในที่สุดยังเป็นการทำลายสถาบันการศึกษาโดยผู้บริหารบางคนที่ฝักใฝ่การเมืองอย่างน่ารังเกียจที่สุดอีกด้วย!!

กำลังโหลดความคิดเห็น