โฆษก ทบ.แจง นศ.วิชาทหาร ยันให้เกณฑ์ทหารยังไม่ดำเนินการใดๆ เพียงแต่มีแนวคิดของหน่วยเสนอผู้บังคับบัญชา ห่วงว่ายอดคนที่ตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์จะน้อยลง ด้าน ผบ.นรด.ชี้หากเปิดให้เรียน รด.มากขึ้นเกิดเหลื่อมล้ำแน่ เหตุฝึกไม่เข้มข้น ไม่ทันยิงปืนก็เรียนจบแล้ว เสนอใครเรียนจบปี 3 รับใช้ชาติ 6 เดือน ส่วนจบปี 5 ได้ยศด้วยยุติธรรมสุด ขู่ฟันพวกวิ่งเต้น-เสียเงินโกง
วันนี้ (5 ก.พ.) พล.ท.วิชิต ศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีแนวคิดที่จะให้ผู้ที่จบหลักสูตรนักศึกษาวิชาการทหารต้องเข้ามาเกณฑ์ทหารว่า เรื่องนี้ยังเป็นแนวคิด ขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ในทันที แต่ที่ผ่านมาทาง นรด.มีความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เพราะอนุสัญญาเจนีวาห้ามไม่ให้เด็กฝึกอาวุธ จึงทำให้นักศึกษาวิชาทหารไม่สามารถฝึกอาวุธได้อย่างเข้มข้นเทียบเท่าการฝึกทหารเกณฑ์ ซึ่งคนที่เรียนจบ รด.ชั้นปีที่ 3 จะได้รับการแต่งตั้งเป็นทหารยศนายสิบ หากต้องออกมาปฏิบัติงานก็มีสิทธิปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะถ้าการฝึกผู้บังคับบัญชาอ่อนกว่าจะไปออกคำสั่งได้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกเพื่อให้สมกับที่มีการประดับยศเป็นผู้นำ
ส่วนการผลักดันให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องแก้ไขในระดับกฎกระทรวงกลาโหม แต่ในส่วน พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 คงไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้กำหนดระดับชั้น เป็นเพียงการส่งเสริมด้านวิชาการเท่านั้น โดยในปีหนึ่งจะมีนักศึกษาวิชาทหารกว่าแสนคน แต่เรียนจบจริงประมาณ 8 หมื่นคน โดยการฝึกวิชาทหารอยู่ภายใต้แนวคิดลูกผู้ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหารที่มีวินัยสูงกว่าคนปกติ เพราะทหารมีอุดมการณ์สูงสุด คือ กล้าเสียสละชีวิตเลือดเนื้อ เพราะปกป้องประเทศชาติ ส่วนกรณีที่มีปัญหาว่ามีผู้ปกครองวิ่งเต้นให้บุตรหลานได้เรียน รด.เพื่อไม่ต้องการเป็นทหารเกณฑ์ นรด.เป็นหน่วยตรวจสอบ ไม่ใช่หน่วยบังคับบัญชา ซึ่งปีนี้จะมีการประชาสัมพันธ์ให้มากว่าอย่าไปเชื่อใครที่บอกว่าจะช่วยเหลือต่างๆ ได้
“กองทัพไม่ต้องการบุคคลที่ไม่แข็งแรงเข้ามาเป็นทหาร ถ้าโกงหรือวิ่งเต้นเข้ามาก็ต้องเจอกัน อย่าคิดว่าเสียเงินแล้วสามารถวิ่งเต้นได้ เพราะบางคนมีบุตรชาย แต่ไม่อยากให้เป็นทหาร ขอย้ำว่าการเป็นทหารไม่ได้โหดร้ายอย่างที่คิด และเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชายไทย ผมให้เกียรติทหารทุกคนที่ทำงานเพื่อประเทศชาติและกองทัพ ยอมรับว่าหากเปิดให้มีการเรียน รด.มากขึ้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำแน่นอน เพราะคนที่เรียน รด.ได้ คือ คนที่จบ ม.3 และต้องกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่ได้เรียนต่อจบ ม.3 แล้วเข้าสู่ตลาดแรงงานจะไม่มีโอกาสได้เรียน รด. และจำเป็นต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารแทน ผมมองว่าไม่ยุติธรรม แต่หากเปิดให้เรียน รด.100 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าแล้วจะเอาใครมาเป็นทหารเกณฑ์ เพราะกองทัพต้องมีทหาร” พล.ท.วิชิตกล่าว
ด้าน พล.ต.ทวีชัย กฤษิชีวิน ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่านักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ปัจจุบันไม่ต้องเป็นทหาร ทำให้มีการแย่งชิงกันเข้าเรียน และเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีเงินที่ไม่ต้องการให้ลูกเป็นทหารด้วยการมาเรียน รด. ทั้งนี้ ในอนาคตจะต้องพูดคุยว่านักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 แล้วอาจจะต้องเป็นทหารต่อประมาณ 6 เดือนเหมือนกับผู้ที่เรียนจบปริญญาตรี โดยใช้สิทธิสมัคร ส่วนนักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 5 นั้นไม่ต้องเป็นทหารต่อ แต่ถ้านักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 แล้วไม่ต้องการเป็นทหารจะต้องเรียนให้จบชั้นปีที่ 5 ที่สำคัญกฎหมายสากลระบุว่า เด็กไม่สามารถฝึกอาวุธได้ จึงจำเป็นต้องขยายหลักสูตร โดยปรับไปอยู่ชั้นปีที่ 4-5 เพื่อจะได้มีความเชี่ยวชาญด้านการทหารมากขึ้น ไม่เช่นนั้นนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ยังไม่ทันยิงปืนเป็นก็เรียนจบแล้ว ซึ่งแนวคิดนี้น่าจะยุติธรรมที่สุด ถ้าไม่ทำแบบนี้อาจจะเป็นการเอาเปรียบคนยากจนได้ ทางกองทัพต้องหาวิธีการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งจะต้องไปศึกษารายละเอียด
ทั้งนี้ ขณะนี้มีนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1-3 ทั่วประเทศประมาณ 3 แสนกว่าคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ส่วนชั้นปีที่ 4-5 มีอยู่ประมาณหมื่นกว่าคน จึงทำให้เกิดการแย่งกันเข้าเรียน รด.เพื่อไม่ต้องเป็นทหาร แต่คนที่เรียนชั้นปีที่ 4-5 ต้องใจรักจริง โดยจะได้ยศเทียบเท่าร้อยตรี เพื่อเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรี ส่วนนักศึกษาวิชาทหารที่เรียนชั้นปีที่ 3 จะได้ยศเทียบเท่ายศนายสิบ ในฐานะที่ตนเป็นครูฝึกและเป็นหน่วยที่รับผิดชอบต้องการให้นักศึกษาวิชาทหารเหล่านี้เรียนจบชั้นปีที่ 5 เพื่อศักดิ์ศรีตนเองและปลูกฝังเรียนรู้เรื่องวิชาทหาร โดยเฉพาะการช่วยเหลือสังคม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยใช้ทหารกำลังสำรอง และเมื่อ 10 ปีที่ผ่านก็เพิ่งฟื้นฟูระบบกำลังสำรอง เพื่อจัดให้เป็นรูปแบบระบบใหม่ โดยจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ ที่มีการพัฒนาเรื่องนี้พอสมควร โดยเฉพาะสิงคโปร์เป่านกหวีดปรี๊ดเดียวก็มีกำลังพล 2 กองพลพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทันที
“นักศึกษาวิชาทหารของไทยมีระดับการเรียนเกรด 3-4 ถือว่ามีสติปัญญาดี แต่เมื่อมาฝึกระยะสั้นจะไม่ได้ผล แม้ว่าครูฝึกจะมีการสอนภาคปฏิบัติต่างๆ ก็ยังไม่เกิดเป็นรูปร่าง แต่ถ้าเรียนต่อไปถึงปี 5 จึงจะสมบูรณ์ ต้องยอมรับว่าถ้านำคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือมาเกณฑ์ทหารนั้น ความรู้ความสามารถอาจจะน้อยกว่าผู้ที่เรียนหนังสือ กองทหารที่พัฒนาแล้วจะต้องมีทหารที่มีสติปัญญา เพราะนอกจากกำลังกายแล้วสติปัญญาก็สำคัญ กองทัพต้องมีการพัฒนา แต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้เลือก อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวจะต้องไปแก้ไขที่กฎกระทรวงกลาโหม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร กองทัพไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะทุกอย่างเป็นกฎหมายหมด และคิดว่าคงยังไม่เกิดในเร็วนี้” พล.ต.ทวีชัยกล่าว
ขณะที่ พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าจะมีการปรับหลักสูตรและอัตราของนักศึกษาวิชาทหารว่า ทางกระทรวงกลาโหมขอชี้แจงว่า ตามเจตนารมณ์ 6 ข้อของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่มอบให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บังคับหน่วยขึ้นตรง เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2555 เรื่องการพัฒนาระบบกำลังสำรองเป็นเจตนารมณ์ประการหนึ่งที่ให้มีการพิจารณาทบทวนวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชาทหารของนักศึกษาวิชาทหาร รวมทั้งพยายามสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาเป็นทหาร ตลอดจนพิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์ทหารกองประจำการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมกับคุณวุฒิทางการศึกษา ระบบการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกให้เกิดความเหมาะสม เช่น พิจารณาทบทวนวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชาทหาร โดยให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในการเข้ามารับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร
“นอกจากนี้ หากมีการรับสมัครนักศึกษาวิชาทหารเพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราส่วนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการในแต่ละผลัดลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบในการปฏิบัติงานของหน่วยที่มีการบรรจุทหารกองประจำการได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับระบบที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารจะมีการประชุมหารือ เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ความมั่นคงในปัจจุบัน โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อผู้ที่เข้ารับการศึกษาและการปฏิบัติงานในภาพรวมของกระทรวงกลาโหม” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงว่า เรื่องการจะให้นักศึกษาวิชาทหารเข้ามาเกณฑ์ทหารเป็นเพียงแนวคิดของหน่วยที่เกี่ยวข้องที่มีการนำเสนอผ่านทางผู้บังคับบัญชา ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น และยังไม่คิดว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงกลาโหมหรือไม่แต่อย่างใด เป็นเพียงข้อห่วงใยว่า แนวโน้มว่า ในอนาคตยอดคนที่เข้ามาตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะจากในอดีตที่เคยมีอัตราส่วนผู้เข้ารับการตรวจเลือก 10 คนเป็นทหารเพียง 1 คน แต่ปัจจุบันอัตราส่วนเหลือเพียงตรวจเลือก 2 คนต่อทหาร 1 คน ขณะเดียวกันความต้องการของผู้ปกครองที่จะให้บุตรเข้ามาเรียน รด.มีปริมาณมากกว่าทางราชการกำหนดไว้มาก ทางหน่วยที่เกี่ยวข้องจึงต้องหารือว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ผ่านการเรียน รด. ส่วนหนึ่งสมัครใจและมีความประสงค์ที่จะเป็นทหารกองประจำการเช่นกัน หลายคนจึงเสนอว่าน่าจะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ผ่านการเรียน รด.เข้ามาเป็นทหารกองประจำการด้วย ทั้งนี้ ในอนาคตทางกองทัพจะมีการพัฒนาระบบกำลังสำรอง โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับความเป็นสากล ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันและต้องปรับให้เหมาะกับสังคมไทย แต่ยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน ขอให้นักศึกษาวิชาทหารที่เรียนอยู่ทุกคนสบายใจว่าการดำเนินการในขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด