หน.ประชาธิปัตย์ เผยเปิดตัวสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย 8 ก.พ.ตั้ง “สุรินทร์” ประธานคนแรก ทำพิมพ์เขียว อ้างไม่ใช่ของพรรค ใครจะเอานโยบายไปใช้ก็ได้ ชี้โพลผู้ว่าฯ กทม.เรื่องดีทำผู้สมัครขยัน แนะสื่อตั้งคำถามเรื่องนโยบายมากขึ้น
วันนี้ (4 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า มูลนิธิควง อภัยวงศ์ จะมีการตั้งสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Policy Design Lab) อย่างที่ในหลายประเทศทำเพื่อออกแบบอนาคตของสังคมของประเทศชาตินั้นๆ โดยพรรคจะทำโครงการพิมพ์เขียวประเทศไทยเป็นโครงการแรก ซึ่งสถาบันนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ก.พ.นี้ โดยมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นประธานสถาบันฯคนแรก และจะมีนักวิชาการร่วมหารือเพื่อกำหนดกรอบในการที่จะทำงานสัมมนาใหญ่ในเดือน มี.ค.นี้ เหมือนเข้าค่ายนโยบาย 3-4 วันต่อเนื่อง แต่ก่อนหน้านั้นจะมีการเชิญคนในทุกสาขาอาชีพจำนวนมากมาร่วมระดมความเห็นเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งหลายเพื่อเป็นกรอบในการจัดทำพิมพ์เขียว โดยรวบรวมข้อมูลในเชิงสถิติเกือบทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศและดูตัวเลขย้อนหลังไปเป็น 10 ปีเพื่อจะเห็นว่าอนาคตประเทศจะไปในทิศทางไหน อย่างไร สำหรับในการทำงานจะมีนักวิชาการที่มาทำงานเป็นประจำอยู่อย่างน้อย 10 คน แต่ละคนก็จะมีทีมของตัวเอง จะมีการประชุมในทุกสัปดาห์เพื่อวางรากฐานของการที่จะจัดทำพิมพ์เขียวครั้งนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า งานของสถาบันนี้ไม่ใช่ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นโครงการที่เชิญผู้รู้ ผู้ปฏิบัติเข้ามาร่วมวางแนวทางอนาคตของประเทศ ซึ่งพอสรุปออกมาเป็นนโยบาย โครงการหรือมาตรการแล้ว ใครจะหยิบไปใช้ก็ได้ เพราะตั้งใจจะทำสิ่งที่ดีสำหรับสังคมไทย ซึ่งหลังเดือน มี.ค.จะมีการเริ่มหารือกับส่วนท้องถิ่นที่สนใจว่า ที่ใดจะเอาแนวคิด นโยบายบางเรื่องไปทำนำร่องใช้ในพื้นที่ของตนเอง ทั้งนี้ตนย้ำว่าไม่ใช่งานของพรรค แต่เป็นงานที่ทุกคนที่มาร่วมได้ โดยพรรคให้การสนับสนุนงานนี้เต็มที่ ซึ่งจากการหารือในเบื้องต้นจะทำใน 3 เรื่องใหญ่ คือ การศึกษา เศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง และเรื่องการบริหารจัดการหรือธรรมาภิบาล โดยตั้งเป้าวางกระบวนการไว้ 3 ปี โดยจะมีการจัดงานสัมมนาเป็นค่ายนโยบายเป็นงานใหญ่ปีละครั้ง เมื่อได้ข้อเสนอเป็นโครงการก็นำไปนำร่องปฏิบัติ พร้อมการประเมินผลและปรับปรุง แล้วมีการขยายผล เพื่อนำประโยชน์ของส่วนรวม
ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงว่า การทำพิมพ์เขียวจากสถาบันฯ จะสู้กับกระแสประชานิยมได้หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า น่าเสียดายที่คนคิดถึงแต่เรื่องการเมือง คือทะเลาะกันและแข่งกันหาเสียงประชานิยม ซึ่งเรามองว่าถ้าเกิด 2 ปัจจัยนี้จะเป็นตัวหลักของระบบการเมือง บ้านเราก็คงจะมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็แข่งขันกับต่างประเทศก็คงยากลำบาก หากยังจมอยู่กับเรื่องของประชานิยมจึงทำเรื่องนี้เป็นทางเลือกของสังคมไทยแต่เป็นโครงการที่ทำโดยมูลนิธิควง จึงต้องมีคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นจริงของการปฏิบัติ
ส่วนกรณีที่มีผลสำรวจว่าประชาชน 36% ไม่เชื่อผลโพลเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การทำโพลสำรวจก็เป็นปกติ และคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้สมัครของพรรคจะได้ขยันมากขึ้น แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาผลโพลก็บอกพรรคประชาธิปัตย์แพ้ แต่พอผลการเลือกตั้งออกมากลับได้เสียงข้างมากใน กทม. และอยากให้ตั้งคำถามในเรื่องของนโยบายมากขึ้น หรือคำถามว่า คิดว่าใครจะมาทำงานเรื่องนี้ได้เพราะอะไร อย่างเช่น การจราจร ก็ต้องดูว่าใครมีแนวคิดอย่างไร และที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เพราะในเรื่องการขนส่งมวลชนก็มีบางเรื่องที่ กทม.ต้องผลักดันเอง อย่างกรณีรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือการสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเทา ที่รัฐบาลไม่ทำ แต่ให้ กทม.พิจารณาเองว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งตนคิดประเด็นแบบนี้ต้องมาคุยกันและอยากให้สื่อมวลชนวิเคราะห์ในเรื่องนโยบายให้มากขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อมีการลงลึกเรื่องนโยบาย และความพร้อมของผู้สมัครในการเอานโยบายไปปฏิบัตินั้น ก็มั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์นั้นจะได้รับการตอบรับมากยิ่งขึ้น