ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องกรณีชาวบ้านหนองแซง สระบุรี ยื่นฟ้องคัดค้านโรงไฟฟ้า ชี้ร่างผังเมืองรวมสระบุรียังไม่มีผลบังคับใช้ อีกทั้งประเทศจำเป็นต้องการพลังงานไฟฟ้าสำรอง ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติมีหลายแห่ง ไม่ปรากฏก่อให้เกิดความเสียหาย สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้
วันนี้ (31 ม.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องกรณีที่นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และพวกรวม 61 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านใน อ.หนองแซง จ.สระบุรี ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน และบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาและออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก บริษัท เพาเวอร์ฯ ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 52 โดยแจ้งว่าจะก่อสร้างโรงงานในพื้นที่หมู่ 4 ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 52 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ (สรข.5) 02-314/2553 ลงวันที่ 15 มิ.ย. 53 นายตี๋ และพวกรวม 61 คนเห็นว่าพื้นที่ อ.หนองแซงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม และพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชลประทานตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง ปี 2485 รวมทั้งร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี พ.ศ. ... กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม มีข้อกำหนดห้ามใช้ดินเพื่อกิจการโรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ดังนั้น การออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อปัญหามลพิษ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการออกใบอนุญาตดังกล่าว
ส่วนเหตุที่ศาลมีคำพิพกษายกฟ้องระบุว่า แม้ศาลจะเห็นว่านายตี๋และพวกอาจจะเดือดร้อนเสียหาย จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาถึงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอว่า ที่ตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว ไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี พ.ศ. ... ยังไม่ผลใช้บังคับเนื่องจากยังไม่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา และโรงงานก็เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 1600 เมกะวัตต์ จึงไม่ใช่โครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งบริษัทเพาเวอร์ฯ ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงพลังงานให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ และได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2553-2573 เพื่อทำการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในปี 2557 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าการใช้อำนาจออกใบอนุญาตของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ปี 2550
กรณีนี้เมื่อร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับให้เป็นผลเสียหายแก่บริษัทเพาเวอร์ฯ ในฐานะที่เป็นเจ้าของทีดินที่ตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ แม้นายตี๋และพวก 61 คนซึ่งรวมกันเป็นชุมชนมีสิทธิที่จะอนุรักษ์ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ให้การคุ้มครอง แต่การออกใบอนุญาตในกรณีนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิของบริษัทเพาเวอร์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ตลอดจนต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการมีเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนที่นายตี๋และพวกอ้างผลกระทบกรณีปัญหาขาดแคลนน้ำ มลพิษด้านอากาศ การทิ้งน้ำเสีย เกษตรกรที่เพาะเห็ด เลี้ยงไก่จะได้รับผลผลิตที่ลดลงนั้น ปัญหาเหล่านี้ได้ระบุวิธีการแก้ไขไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว และในใบอนุญาตประกอบกิจการกำหนดเป็นเงื่อนไขพิเศษที่บริษัทเพาเวอร์ฯ ต้องถือปฏิบัติ โดยชุมชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งได้ทุกจุดและตลอดเวลา สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่จะหากรับผลกระทบก็จะได้รับการชดเชยความเสียหายตามความเป็นจริง และหากในภายหลังมีการประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีแล้ว ถ้าคณะกรรมการผังเมืองเห็นว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินของบริษัทเพาเวอร์ ขัดต่อนโยบายผังเมืองรวมในสาระสำคัญเกี่ยวกับสุขลักษณะ ความปลอดภัยประชาชน คณะกรรมการผังเมืองมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขให้บริษัทฯ แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินได้
“โรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในคดีนี้ไม่ใช่โรงงานแรก แต่มีอยู่หลายแห่งแล้ว เช่น โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประชาชน ที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวสามารถอยู่ร่วมชุมชนได้ จากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายดังกล่าวจึงเห็นว่าการให้ความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและคำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่บริษัทเพาเวอร์ ชอบด้วยกฎหมายพิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาระบุ