ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา แนะโมเดลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้จังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อจัดการการลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากของเสียอันตรายในพื้นที่สาธารณะ
จากกรณีที่บริษัทเคเอสดี รีไซเคิล จำกัด ลักลอบนำน้ำเสียและกากของเสียอันตรายมาทิ้งในบ่อลูกรังในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่มากกว่า 3,000 คน จึงได้มีการร้องเรียนผ่านหน่วยราชการในพื้นที่และส่วนกลาง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น จนนำไปสู่การตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากสารเคมีในพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทราพบว่า มีการลักลอบนำมาทิ้งมากกว่า 11 จุด ในพื้นที่ อ.พนมสารคาม 6 จุด อ.แปลงยาว 5 จุด โดยมีพื้นที่ขนาดตั้งแต่ 1-200 ไร่ ทำให้จังหวัดฉะเชิงเทรากลายเป็นจังหวัดที่ถูกแอบนำของเสียต่างๆ ทั้งน้ำเสีย ขยะชุมชน และขยะอันตรายมาทิ้งในพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นจังหวัดทางผ่าน ที่ดินมีราคาไม่แพงมาก และใกล้กับพื้นที่เขตอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภาเปิดเผยว่า จากความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา มาประชุมหารือเพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันรวม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบในการบูรณาการทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาต่อไป เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยทาง วุฒิสภาซึ่งได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปฏิบัติ และเป็นโมเดลในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา คือ
1.การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด
1.1. ดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดิน ผู้ดูแล เจ้าของรถบรรทุกในพื้นที่ที่พบว่ามีการลักลอบนำน้ำทิ้งจากโรงงานมาทิ้งในอำภอพนมสารคาม ได้แก่พื้นที่หมู่ 7 ตำบลหนองแหน พื้นที่หมู่ 9 ต.เกาะขนุน พื้นที่หมู่ 12 ต.เกาะขนุน พื้นที่หมู่ 1 ต.เขาหินซ้อน พื้นที่หมู่ 7 บ้านปากห้วย ต.หนองแหนพื้นที่หมู่ที่ 11 บ้านหนองสทิต ต.หัวสำโรง พื้นที่หมู่ 9 ต.หัวสำโรง ในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
1.2.ดำเนินคดีกับบริษัท ที.อา.โซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นตัวกลางให้บริษัท เค.เอส.ดี.รีไซเคิลจำกัด ขนน้ำเสียจากบริษัทอาเจไทยจำกัดในนิคมอมตะ จ.ชลบุรี มาทิ้งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
1.3.ดำเนินคดีกับบริษัท เค.เอส.ดี.รีไซเคิล จำกัด โดยสั่งให้หยุดประกอบกิจการ (โรงงานลำดับที่ 106) และปรับข้อหาละไม่เกิน 200,000 บาท จำนวน 5 ข้อหา
1.4.ดำเนินคดีกับโรงงานบริษัทกิตตติกรเบสท์ เซอร์ราวดิ้ง จำกัด ข้อหาตั้ง และประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และดำเนินคดีในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโ ทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาทเช่นกัน
2.เนื่องจากหน่วยราชการไม่มีงบประมาณเพียงพอในการที่จะบำบัดน้ำเสีย และสารอันตรายถูกนำมาลักลอบทิ้งได้ทันท่วงที จึงให้โรงงานที่ถูกพบได้ว่ามีส่วนร่วมทำความผิดดำเนินการบำบัดน้ำเสียจากบ่อลูกรังเองโดยอยู่ในการควบคุมของหน่วยงานราชการ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว การบำบัดดังกล่าวเป็นไปอย่างล่าช้า และอาจไม่ถูกต้องตามหลักการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเอาดินลูกรังถมลงไปเพื่อแบ่งพื้นที่ของบ่อให้เล็กลงแล้วเติมอากาศ ใส่สารเคมีให้ตกตะกอน เป็นต้น ปัญหาการบำบัดที่มีงบประมาณจำกัดอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อดิน และน้ำใต้ดินมากยิ่งขึ้น
โดยหลักการแล้ว ควรนำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้ดำเนินการบำบัดอย่างทันท่วงที (ทุกวันนี้นำเงินมาใช้ไม่ได้เนื่องจากไปออกระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวย) แล้วไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดให้ชดใช้คืนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ดังนั้น แนวทางที่ต้องดำเนินการคือ การปรับปรุงระเบียบการใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2552 ให้สามารถนำเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้บำบัดกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และการลักลอบทิ้งของเสียในที่สาธารณะได้อย่างทันท่วงที
3.เนื่องจากโรงงานลำดับที่ 106 ซึ่งเป็นโรงงานที่นำกากของเสียมารีไซเคิลแต่โรงงาน เค.เอส.ดีรีไซเคิล จำกัด ได้แจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมขออนุญาตนำกากตะกอนจากบริษัทอาเจไทย จำกัด ในนิคมอมตะ จ.ชลบุรี ไปจัดการ แต่โดยแท้จริงแล้วได้ดูดน้ำเสียออกไปจำนวนมาก และนำไปทิ้งในบ่อลูกรังดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่าระบบการแจ้งเอกสารใบกำกับการขนส่งกำหนดให้แจ้งไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งตั้งอยู่ใน กทม.เท่านั้น จึงทำให้ขาดประสิทธิภาพในการติดตามตรวจสอบ หรือกำกับดูแลกันอย่างทั่วถึงจึงเห็นควรให้กระจายอำนาจในการแจ้งเอกสารกำกับการขนส่งไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้งที่ตั้งอยู่ต้นทาง และปลายทางแทน โดยรถบรรทุกขนส่งต้องติดตั้งจีพีเอส โรงงานที่รับบำบัดต้องติดตั้งกล้องตรวจสอบส่งสัญญาณไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้โดยตรง
4.ควรกำหนดให้การขออนุญาตตั้งโรงงานลำดับที่ 106 ซึ่งเป็นโรงงานที่นำกากของเสียมารีไซเคิลต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการขออนุญาตเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นตั้งแต่เบื้องต้น หากได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการได้แล้วให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเข้าไปตรวจสอบ และติดตามการทำงานของโรงงานต่อไปด้วย
5.ควรปรับปรุงกฎระบียบการจัดการกากของเสียอันตรายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยเน้นการควบคุมที่เคร่งครัด การกระจายอำนาจให้จังหวัดมีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งในพื้นที่สำหรับโรงงานลำดับที่ 101 (โรงงานกำจัดกากของเสียอันตราย) โรงงานลำดับที่ 106 (โรงงานรับรีไซเคิล) กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจตรวจสอบการดำเนินของโรงงานลำดับที่ 101 และ 106 ในพื้นที่ตนเอง และส่วนร่วมรับผิดชอบกรณีมีการลักลอบนำของเสียอันตรายมาทิ้งในพื้นที่ตนเอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องให้ความรู้ และทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า หากมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องล้อมรั้ว หรือมีคนเฝ้า เพราะหากมีการลักลอบเอาของเสียอันตรายมาทิ้งอาจถูกข้อหาการครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มีความผิดตามมาตรา 73 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6.จังหวัดฉะเชิงเทราต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัด ประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคประชาน และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือโครงการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุกภาคส่วนพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบก่อนที่หน่วยงานอนุญาตจะสั่งอนุญาตการกำกับติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการที่ประชาชนร้องเรียน