xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ลั่น กก.กลั่นกรองฟันแน่ “โรงงานก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิฑูรย์ สิมะโชคดี
วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตเป็นไปด้วยความรอบคอบ
ข้อสำคัญทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น โดยการอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตนั้นเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายได้ และมีการพิจารณาถึงประเด็นการก่อสร้าง/ขยายกิจการก่อนได้รับอนุญาต ซึ่งทำให้สามารถจัดการดำเนินการตามกฎหมายได้ทันทีก่อนจะเกิดปัญหากระทบต่อชุมชน
ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานที่ยื่นคำขออนุญาตทั้งหมด (ทั้งเล็กใหญ่) รวมทั้งสิ้น 2,827 ราย แต่มีเพียง 212 รายเท่านั้น (คิดเป็นร้อยละ 7.5) ที่เข้าข่ายประเภทโรงงานที่ต้องส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา ส่วนที่เหลืออีก 2,615 รายนั้น เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตตามปกติ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ส่วนกรอบระยะเวลาของการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยังคงอยู่ภายในกรอบเวลาเดิม คือภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วนจากผู้ขอ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีการประชุมทุกสัปดาห์ ขณะนี้ได้มีการประชุมพิจารณาจนไม่มีเรื่องค้างที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่อย่างใด จึงขอยืนยันว่าขณะนี้ได้ปรับระบบและมีการปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ล่าช้าและไม่มีเรื่องค้างที่คณะกรรมการฯ แล้ว
จากการตรวจสอบพบว่า กว่าร้อยละ 90 ของผู้ขออนุญาต มีการก่อสร้างโรงงานไปก่อนที่จะขออนุญาต ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ทบทวนโทษเปรียบเทียบปรับโรงงานทุกฐานความผิด โดยจะปรับผู้ทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับเจตนาการกระทำผิดและขนาดกิจการ เช่น กรณีที่ก่อสร้างโรงงานก่อนอนุญาต เพิ่มโทษปรับจาก 4,500-40,000 บาท เพี่มเป็น 10,000-100,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การที่กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มความเข้มงวด ทำให้ได้ยอดค่าธรรมเนียมในการเปรียบเทียบปรับสถานประกอบการที่กระทำความผิดเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า เฉพาะเดือนตุลาคม 2555 มียอดปรับ 12 ล้านบาท และหากส่งปรับครั้งแรกแล้ว โรงงานยังไม่แก้ไขปรับปรุง หากตรวจพบความผิดอีก ก็จะส่งปรับใหม่ทุกครั้งที่เจอความผิด รวมทั้งจะแจ้งความดำเนินคดีโรงงานดังกล่าว เพื่อเป็นการปรามไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายซ้ำซาก
“กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาเห็นว่า หากยังปล่อยให้เกิดการชุมนุมประท้วงและมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของชุมชนที่ได้รับจากโรงงานเกิดขึ้นอยู่ต่อไป ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนก็จะขยายวงกว้างมากขึ้น จนอาจทำให้ไม่สามารถตั้งโรงงานในที่ใดๆ ได้เลย ยิ่งจะทำให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมเสียหายทั้งๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่สร้างรายได้หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติมากถึงร้อยละ ๔๐ ของ GDP ของประเทศไทย การดำเนินการตามขั้นตอนในรูปแบบขององค์คณะกรรมการรวมเช่นนี้จะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น