xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.วุฒิฯ แนะมาตรการป้องกันลักลอบทิ้งน้ำเสียที่ฉะเชิงเทรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - อนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภา เสนอแนะมาตรการป้องกันและแก้ไขการลักลอบทิ้งน้ำเสีย จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากเกิดกรณีโรงงานผลิตน้ำอัดลมบิ๊กโคลา นำน้ำเสียจากโรงงานปล่อยทิ้งลงบ่อน้ำร้าง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เผยว่า เร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ซึ่งมีนางภารดี จงสุขธนามณี สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย เป็นประธานได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมห่งประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ที่อาคารวุฒิสภา กรณีที่โรงงานผลิตน้ำอัดลมบิ๊กโคลา หรือบริษัท อาเจ กรุ๊ป ที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี นำน้ำเสียจากโรงงานปล่อยทิ้งลงบ่อน้ำร้างขนาด 15 ไร่ บริเวณหมู่ 7 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นานกว่า 6 เดือน จนน้ำในบ่อเน่า และส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ใช้น้ำจากบ่อ

จากการหารือร่วมกับหน่วยราชการพบว่า บริษัทอาเจไทย จำกัด ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำดื่ม และน้ำอัดลมเนื่องมาจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมเมื่อปี 2554 จึงมีน้ำเสียเกิดขึ้นปริมาณมากจนระบบบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นของบริษัทเองไม่สามารถบำบัดได้จึงได้จ้างบริษัท เคเอสดี จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานประเภท 105 (คัดแยกของเสียที่ไม่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม) และใบอนุญาตโรงงานประเภท 106 (การนำของเสียจากโรงงานมาผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่) ขนไปบำบัดภายนอกซึ่งบริษัทดังกล่าวได้แอบนำไปทิ้งที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

จากการตรวจพบว่าน้ำเสียที่ขนออกมาเป็นน้ำเสียที่เกิดจากสารอินทรีย์ ไม่ใช่น้ำเสียที่เป็นของเสียอันตรายจึงไม่ต้องออกใบกำกับการขนส่งประเภทกากของเสียอันตรายจากกรมโรงงานทำให้ไม่สามารถทราบปลายทางที่จะนำน้ำเสียดังกล่าวไปบำบัด ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาควบคุมไม่ให้มีการลักลอบขนน้ำเสียจากโรงงานไปแอบปล่อยทิ้งยังที่สาธารณะ ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีข้อเสนอแนะเบื้องต้นดังนี้

1.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ควรสั่งการระงับการประกอบกิจการของบริษัทอาเจไทย จำกัด ทั้งจากกรณีที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นที่เพียงพอในการบำบัดน้ำเสียให้ได้เกณฑ์ก่อนปล่อยลงไปบำบัดยังระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของนิคมฯ และกรณีที่จ้างให้บริษัทเคเอสดี จำกัด (บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำรีไซเคิลได้เฉพาะตะกอนน้ำเสียที่เป็นกากของเสียอันตรายเท่านั้น) ขนน้ำเสียซึ่งเป็นน้ำเสียประเภทสารอินทรีย์ซึ่งไม่ใช่ของเสียอันตรายไปบำบัด ขณะเดียวกัน จะต้องดำเนินคดีกับบริษัทเคเอสดีดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ควรออกประกาศกรมโรงงานห้ามการขนย้ายน้ำเสียที่ไม่เข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายออกนอกโรงงานโดยจะต้องทำการบำบัดทั้งหมดในโรงงาน หรือภายในเขตประกอบการ หรือภายในนิคมอุตสาหกรรม (กรณีโรงงานอยู่ในเขตประกอบการ หรือในนิคมอุตสาหกรรม) เท่านั้น เพื่อป้องการลักลอบนำไปทิ้งต่อไป

2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม ควรจัดทำสติกเกอร์ขนาดใหญ่ติดไว้บนตัวรถยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานในการขนน้ำเสีย หรือกากของเสียอันตรายไปกำจัด ทั้งนี้ ต้องมีตราประทับว่าได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงานแล้ว รวมทั้งกำหนดให้รถยนต์ประเภทังกล่าวติดตั้งระบบจีพีเอสตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมเรื่องการกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายพื่อการขนส่ง ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2555 เพื่อสะดวกในการกำกับดูแล และติดตามต่อไป

3.ควรกำหนดเป็นนโยบายให้โรงงานประเภท 101 (โรงงานกำจัดกากของสียอันตราย) โรงงานประเภท106 (การนำของเสียจากโรงงานมาผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่) ต้องตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น เพื่อสะดวกในการควบคุมดูแล เนื่องจากรถยนต์ที่ขนกากของเสียอุตสาหกรรมต้องวิ่งเข้า-ออกประตูของนิคมอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบทะเบียนรถยนต์ ใบกำกับการขนส่ง และจำนวนรถขนกากของเสียอันตรายได้ง่าย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปที่ต้นทางได้ นอกจากนี้ ยังสามารถกำกับ ดูแล และควบคุมการทำงานของโรงงานประเภท 101 และ 106 ได้สะดวกยิ่งขึ้น

4.กรมโรงงานอุตสาหกรรม ควรมอบอำนาจให้อุตสาหกรรมจังหวัด หรือผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรม (กรณีเป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม) ในการสั่งการและกำกับดูแลการปฎิบัติงานของโรงงานประเภท 101, 105 และ 106 ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อการติดตามตรวจสอบเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งมอบอำนาจในการออกใบกำกับการขนส่งกากของเสียอันตราย และตรวจสอบการขนส่งด้วย โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมควรทำหน้าที่ในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน กำหนดนโยบาย และเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการเท่านั้น

5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล เป็นต้น ต้องเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการลักลอบทิ้งของเสีย น้ำเสียในที่สาธารณะโดยใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 5 เรื่องเหตุรำคาญ มาตรา 26, 27 และ 28 และหมวด 10 มาตรา 44-47 ให้อำนาจหน้าที่ของพนักงานท้องถิ่นและพนักงานสาธารณสุขในการสั่งการระงับเหตุรำคาญทั้งในที่สาธารณะ และที่ของเอกชน ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประสานความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ในการสอดส่องดูแลการลักลอบทิ้งของเสีย น้ำเสีย และดำเนินการตามกฎหมายต่อรถยนต์บรรทุกที่ขนน้ำเสีย หรือของเสียมาทิ้งในพื้นที่โดยทันที

6.ต้องเข้มงวดในการใช้กฎกระทรวงตามบทบัญญัติในมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบการเก็บสถิติ และข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2555 โดยผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องจัดเก็บสถิติ และข้อมูลซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละวัน รวบรวมทุกวันส่งให้พนักงานท้องถิ่นทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน หากไม่ดำเนินการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น