xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเด้งอุตฯแปดริ้วเข้ากรุ เซ่นบ่อขยะเคมีหลังพบโผล่เต็มพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - กระทรวงอุตสาหกรรมลงดาบเชือดอุตสาหกรรมจังหวัดแปดริ้วแบบฟ้าผ่า เซ่นปัญหาบ่อขยะเคมีที่โผล่พรึบเต็มแน่นพื้นที่ หลังชาวบ้านหนองแหนแห่รุมร้องเรียนไปทั่วทุกหน่วยงานไม่หยุด ขณะเจ้ากระทรวงฯ ระบุ ใช้มาตรฐานการสั่งย้ายแบบเดียวกับตำรวจ

วันนี้( 1 ก.ย.55) ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างเดินทางเข้ามาพบปะกลุ่มชาวบ้าน ที่มาจับกลุ่มตั้งเต็นท์รวมตัวชุมนุมเพื่อเฝ้าคอยติดตามการแก้ไขปัญหา การลักลอบนำขยะเคมีอุตสาหกรรม และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาทิ้งในพื้นที่ ต.หนองแหน และเกาะขนุน บริเวณลานด้านหน้า สภ.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ขณะนี้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกคำสั่งย้าย นายสุรพล สุทธจินดาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา ให้เข้าไปช่วยราชการในกระทรวงแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงบ่ายวานนี้

การสั่งย้ายนั้นได้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับตำรวจ ซึ่งหากพบท้องที่ใดปล่อยให้มีการกระทำผิดกฎหมาย เช่น มีบ่อนตั้งอยู่ในพื้นที่ ก็จะสั่งย้ายผู้รับผิดชอบพื้นที่ออกไป ทั้ง ผกก. และสารวัตร ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อพบว่าพื้นที่ใดมีการปล่อยให้มีการกระทำผิดในพื้นที่ ก็จะสั่งย้ายอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องออกไปจากพื้นที่เช่นเดียวกัน

ส่วนการแก้ไขปัญหา หรือเยียวยาพื้นที่นั้น จะให้กรมโรงงานใช้เคมีบำบัด มาทำการบำบัด เพื่อให้เกิดการตกตะกอนก่อนที่จะนำตะกอนจากการบำบัดไปตรวจวัดค่าทางเคมี หากพบว่ามีสารปนเปื้อนก็จะนำเอาตะกอนนั้นไปทำลาย ซึ่งกระบวนการบำบัดนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน โดยในทุกสัปดาห์ผู้อำนวยการที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของกรมฯ ก็จะส่งวิศวกรเข้ามากำกับการดำเนินการอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่สารเคมีถูกปล่อยรั่วไหลไปตามลำราง หรือลำธารนั้น ก็จะเริ่มตรวจที่จุดเกิดเหตุก่อน ด้วยการไปเก็บตัวอย่างดินนำไปตรวจสอบว่ามีสารปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหน และจะไปทำการตรวจสอบตลอดสายธาร ว่ามีการกระจายไปมากน้อยแค่ไหน และไปกระทบอะไรบ้าง หากจะแก้ที่จุดใดจะได้แก้ให้ถูกจุด โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการแก้ไขปัญหาที่รับผิดชอบให้ลุล่วงไปทั้งหมด

สำหรับในภาพรวมที่จะดูแลปัญหานี้ต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ก็จะมีมาตรการที่จะต้องทำงานร่วมกันกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การกำกับดูแลไม่ให้มีของเสียออกมาจากโรงงานก่อน ด้วยการตรวจสอบดูปริมาณ และกำกับรถขนส่ง ไม่ให้เอาไปทิ้งกลางทางโดยให้ระบบ จีพีเอส (GPS) สอบทางการวิ่ง หลังจากนั้นของเสียเมื่อนำไปบำบัดก็จะต้องมีกระบวนการรับ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกำกับดูแลไม่ให้ของเสียเหล่านี้รั่วไหลออกไป หรือเกิดขึ้นแบบเดียวกันนี้อีก

“ และขอยืนยันว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยอมไม่ได้ ที่จะให้เกิดขึ้นซ้ำซากอีก หากจังหวัดใดเกิfเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาอีก อุตสาหกรรมจังหวัดนั้นๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบก่อนคนแรก โดยจะเข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น พร้อมจะปรับระบบ ปรับกลไกในการกำกับดูแล และจะมีผู้รับผิดชอบคอยติดตามเอาจริงเอาจังกับปัญหาเรื่องนี้อย่างเต็มที่” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น