กระทรวงอุตสาหกรรมไล่บี้แผนก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวรใน 6 นิคมอุตสาหกรรมต้องเสร็จทัน 31 สิงหาคมตามแผน หลังพบก่อสร้างภาพรวมคืบเพียงกว่า 20% แถมนักลงทุน 61 รายปิดกิจการ-ย้ายหนีไปที่อื่น
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเป็นประธานคณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการป้องกันอุทกภัยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 55 ว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวรในนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการ และสวนอุตสาหกรรม 6 แห่งเพื่อให้สร้างเสร็จตามกำหนดที่วางไว้ภายใน 31 สิงหาคม 2555 เนื่องจากรายงานล่าสุดพบว่าภาพรวมมีความคืบหน้าการก่อสร้างเพียงกว่า 20% เท่านั้น
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวรเบื้องต้น พบว่าสวนอุตสาหกรรมโรจนะมีความคืบหน้าก่อสร้าง 15% นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 28% นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 27% เขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร 18% นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี 21% ส่วนนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครยังไม่คืบหน้าเนื่องจากยังติดปัญหาแผนฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปเร่งทำตัวเลขประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้นแต่ละนิคมอุตสาหกรรมเพื่อนำมาประกอบการจัดทำตัวเลขราคากลางสร้างคันกั้นน้ำ
“จะพยายามเร่งให้ราคากลางเสร็จให้เร็วเพื่อที่จะได้สรุปถึงวงเงินในการสนับสนุนทั้งจากธนาคารออมสิน และ 2 ใน 3 ที่รัฐจะจัดสรรสนับสนุนให้แก่เอกชนต่อไป แต่คงจะไม่ทันเสนอการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานที่จะประชุมวันที่ 2 พฤษภาคมนี้” นายวิฑูรย์กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการเปิดดำเนินกิจการของโรงงาน 839 แห่งใน 7 นิคมอุตสาหกรรมหยุดกิจการชั่วคราวจากน้ำท่วม ล่าสุดพบว่ากลับมาผลิตแล้วบางส่วน และเต็มกำลังผลิตประมาณ 615 แห่งหรือคิดเป็น 72% ขณะที่ 61 แห่งเป็นกิจการที่ระบุว่าย้ายไปตั้งที่อื่นหรือปิดกิจการซึ่งกิจการดังกล่าวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร 5 แห่ง โรจนะ 28 แห่ง ไฮเทค 16 แห่ง บางปะอิน 1 แห่ง นวนคร 8 แห่ง และบางกะดี 3 แห่ง ส่วนที่เหลือ 163 แห่งอยู่ระหว่างการรอเคลมเงินประกันภัย และรอนำเข้าเครื่องจักรมาติดตั้งเพื่อฟื้นฟูกิจการ
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครยังคงสอบถามมาอย่างต่อเนื่องถึงแผนการก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวร โดยล่าสุดพบว่าหากรอกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการใหม่แทนรายเดิมคือ บ. SCMB จำกัด อาจต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน ดังนั้น หากออมสินพิจารณาเงินกู้ให้ทาง SCMB ก็สามารถเซ็นสัญญาเงินกู้ได้ทันที โดยระหว่างนี้จะต้องรอราคากลางออกมาก่อน
“คงต้องเร่งทำคันกั้นดินให้เสร็จใน 4 เดือนนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะขณะนี้นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครหลายรายสอบถามเข้ามามาก โดยล่าสุด บ.เอ็คโค่(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรองเท้าก็ต้องการความชัดเจนเพื่อที่จะได้ตัดสินใจธุรกิจที่เขายืนยันว่าต้องการอยู่ที่เดิมแต่ถ้าไม่แน่นอนก็คงต้องมองหาพื้นที่อื่น” นายณัฐพลกล่าว