ศูนย์ข่าวศรีราชา - เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมเมืองแปดริ้วโต้ทำงานอืด หลังถูกหลายฝ่ายติงเป็นโอกาสให้โรงงานชุ่ยแอบขนของเสียพ่วงสารเคมีทิ้งในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เผยที่ผ่านมาได้เข้าตรวจสอบก่อนหน่วยงานอื่น พร้อมร่วมจับกุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวตามคำร้องเรียนของชาวบ้าน และทำตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งคัด แต่เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีเพียง 3 คน แต่ต้องดูแลโรงงานถึง 5,000 แห่ง ทำให้การปฏิบัติงานไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
นายภาวีร์ ม่วงน้อย หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เผยถึงกรณีที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานเป็นไปอย่างล่าช้า จนทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แห่ขนกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเข้ามาทิ้งในพื้นที่เป็นจำนวนมากว่า ที่ผ่านมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบโรงงานต่างๆ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อตรวจสอบการลักลอบนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมมาทิ้งในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลหนองแหน ตามการร้องเรียนของชาวบ้าน
การตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกากของเสียที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านจริง และยังได้ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออกจังหวัดชลบุรี เก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจวัดคุณลักษณะของน้ำทิ้ง พร้อมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด พ.ร.บ.โรงงาน โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ได้แจ้งไปยังผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานต้นเหตุ (บริษัท อาเจไทย จำกัด เลขที่700/318 ม.6 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมืองชลบุรี) ให้ทราบแล้ว
นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกันวางแผนจับกุมผู้กระทำผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลังได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบนำของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเข้ามาทิ้งในพื้นที่อีกครั้งเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยระหว่างการจับกุมเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ยังได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายคลิปวีดีโอระหว่างการจับกุมไว้ด้วย ซึ่งคลิปดังกล่าวยังไม่ถูกนำไปเผยแพร่ แต่จะมอบให้แก่ผู้สื่อข่าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่ให้สังคมทราบต่อไป
ส่วนการตรวจสอบหาส่วนประกอบของสารเคมีปนเปื้อนที่มากับน้ำทิ้งนั้นในการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 วันจึงจะทราบผล หลังจากนั้น จะแจ้งความดำเนินคดีในความผิด ไปตามพ.ร.บ.ควบคุมสารเคมีที่พบนั้นๆ
“ ที่ผ่านมาการทำงานของเราเป็นไปตามขั้นตอน จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทันใจชาวบ้าน จึงพากันไปร้องเรียนยังดีเอสไอ ทั้งที่หน่วยงานในพื้นที่ก็ทำงานอย่างเต็มขีดความสามารถแล้ว โดยขณะนี้เรื่องของคดีก็ยังอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่และคงยังดำเนินการไปตามกฎหมาย ”
ขณะที่ จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่มากกว่า 5 พันโรง แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรงงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กลับมีเพียงแค่ 3 นาย จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรม และการตรวจสอบโรงงานต่างๆ ทำได้ค่อนข้างช้ายกตัวอย่างกรณีการเข้าจับกุมการลักลอบทิ้งวัตถุอันตรายในตำบล.เกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคมที่ผ่านมา ผู้กระทำผิดที่เฝ้าสถานที่ทิ้งของเสียพกพาอาวุธปืนลูกซองยาว แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรงงาน ไม่มีอาวุธใดๆติดตัว จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีความเสี่ยง จึงวอนไปยังผู้ใหญ่ในพื้นที่และหน่วยงาน เร่งดำเนินการอนุมัติให้มีอาวุธปืนแก่เจ้าหน้าที่