xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ชูงานมั่นคงดีขึ้น “ปู” ชี้กำลังใจครูใต้ อยู่ที่ ร.ร.ปลอดภัย ดูความเหมาะติดอาวุธกำนัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ นั่ง ปธ.ประชุมสรุปผลงาน กอ.รมน. แจงผลสอบภัยคุกคามยาเสพติดหนักสุด ปัญหาต่างด้าว ก่อการร้าย รุกป่า รองลงมา สั่งดูแลการจ้างงาน ประสานช่วยโรฮิงญา ชูไฟใต้เบาลง วางปีหน้าลุยงานมั่นคง พิทักษ์สถาบัน ปราบยาฯ แก้ไฟใต้ และป้องป่าวางระบบจัดการน้ำ “ปู” ย้ำ วางแนวทางดับไฟใต้ให้ชัด เน้น จนท.บูรณาการการทำงาน ดูความเหมาะสมส่งอาวุธหนักลงใต้ พร้อมคุยครูใต้ขอย้ายหนี ส่ง จนท.เสริมกำลังใจ ตชด.สอนแทนปลายเหตุ ต้องแก้ให้ ร.ร.สงบ









วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นประธานในการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี 2555 และแถลงแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2556 ของ กอ.รมน. รวมทั้งมอบนโยบายในการดำเนินงานด้านความมั่นคง เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับทราบผลการปฏิบัติงาน ตามแผนรักษาความมั่นคงในราชาณาจักรของ กอ.รมน. ซึ่งการจัดทำแผนรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ปี 2555-2557 ของ กอ.รมน. เป็นการรองรับการปฏิบัติงานเพื่อการบูรณาการ ประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น โดยยึดถือนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ และแผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเป็น กรอบการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2555 กอ.รมน.ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆในการติดตาม ตรวจสอบประเมินภัยคุกคามสรุปได้ว่า ภัยคุกคามด้านยาเสพติด มีระดับรุนแรงมาก จำนวน 12 จังหวัด ภัยคุกคามด้านคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มีระดับรุนแรงมาก จำนวน 7 จังหวัด ภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ มีระดับไม่รุนแรงมาก จำนวน 9 จังหวัด ภัยคุกคามด้านป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ มีระดับรุนแรงมาก จำนวน 9 จังหวัด

โดย กอ.รมน.สรุปการดำเนินการด้านยาเสพติด ปัญหาแรงงานต่างด้าวและหลบหนีเข้าเมือง ได้มอบหมายให้ราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการควบคุมเพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง สำหรับกลุ่มที่มีปัญหาต่อต้านความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีชาวโรฮิงญา ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ กำหนดมาตรการควบคุมและจัดระเบียบ สำหรับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เหตุการณ์และความสูญเสียลดลง โดยในปี 2554 มีหมู่บ้านที่ไม่เกิดเหตุรุนแรง 1,355 หมู่บ้าน และในปี 2555 มี 1,442 หมู่บ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้รับทราบกรอบการดำเนินงานตามแผนประจำปี 2556 ในการปฏิบัติงาน 4 ด้าน คือ 1. ด้านความมั่นคง โดยจะเสริมสร้างให้ประชาชน ตระหนักถึงหน้าที่ ที่ต้องพิทักษ์ ไว้ซึ่งสถาบันหลัก และส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. การป้องกันและแก้ไขยาเสพติดที่ยังเดินหน้าตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด 3. การป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ชายแพนภาคใต้ ทุกส่วนราชการต้องนำยุทธศาสตร์พระราชทานเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาไปปฏิบัติ 4. การป้องกันแก้ไขการบุกรุกป่าไม้ ทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ดำเนินการตามแนวทางของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยเฉพาะการวางระบบป้องกันภัยธรรมชาติต่างๆ

นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมการจัดงานสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี 2555 และแถลงแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2556 ของ กอ.รมน. ถึงการแก้ไขปัญหา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า วันนี้ได้หารือถึงนโยบายภาพรวมมากกว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มโจรพุ่งเป้าหมายไปที่เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองครูในพื้นที่นั้น เรื่องของเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้มีการเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานทำงานบูรณาการมากขึ้น และวางเป้าหมาย ทิศทาง และกำหนดความรับผิดชอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะการลงไปในพื้นที่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการ อีกทั้งยังได้พูดคุยถึงเรื่องหลักกติกา ว่าเราจะดูแลเรื่องความเรียบร้อย เรื่องความมั่นคง และเรื่องความสงบอย่างไร

“เพราะบางครั้งถ้าเราไม่ได้กำหนดแนวทางอย่างชัดเจน อาจจะเกิดช่องว่างได้ จึงจะต้องพยายามร่วมกันในการทำงานบูรณาการการลงพื้นที่ ในการดูแลเต็มที่ ขณะเดียวกันก็จะเร่งในการเสริมรับเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้ามาดูแลในพื้นที่ โดยเฉพาะการดูแลครูในโรงเรียนต่างๆ” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ที่ต้องการติดอาวุธให้กับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการใช้อาวุธที่ทันสมัยขึ้น คิดว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องดู เพราะขึ้นอยู่กับพื้นที่ และอยู่ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงที่จะต้องพูดคุยกัน เพราะถ้าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย การใช้ลักษณะการติดอาวุธ ก็ต้องดูว่าเจ้าหน้าที่ที่ใช้สามารถใช้วิจารณญาณในการดูแลได้หรือไม่ ดังนั้น ต้องดูระดับความรุนแรงในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ต้องเรียนว่าถ้าพื้นที่มีความรุนแรง ผู้ที่ใช้ก็จะต้องอยู่ในวิสัยที่จะต้องดูแลได้ คงไม่ติดอะไร แต่ถ้าเราให้กับเจ้าหน้าที่อื่นๆ คงจะต้องดูความเหมาะสม

เมื่อถามว่า ได้มีการหารือปัญหาครูในชายแดนใต้ขอย้ายออกจากพื้นที่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้ก็คงต้องไปพูดคุยกัน เพราะการออกจากพื้นที่จะต้องไปคุยกันว่ามีปัญหาอย่างไร และมีเจ้าหน้าที่ไปดูแล และถ้าหากครูไม่มีความมั่นใจเราคงต้องพูดคุยกันในการหาเจ้าหน้าที่เสริมอย่างไร หลักคือเราต้องคุยร่วมกันว่าวิธีไหนที่เราจะต้องตกลง การทำงานด้วยกันเพื่อให้ในพื้นที่มีความสบายใจ ตรงนี้ถือว่าเป็นประเด็นหลักมากกว่า

เมื่อถามย้ำว่าจะส่งตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้าไปเป็นหลักในการทำหน้าที่ครูแทนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้จะต้องดูก่อน เพราะ ตชด.ก็มีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมเสริม แต่เราก็อยากได้คุณครูที่มาสอนมากกว่า แต่สิ่งนี้คือปลายเหตุ เราจะต้องแก้ที่ต้นเหตุก่อน ทำอย่างไรให้โรงเรียนมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะการที่ครูขอย้ายคือในแง่ของการขาดกำลังใจ แต่ถ้ากำลังใจไม่ไหวเราก็พร้อมที่จะมีเจ้าหน้าที่เสริม อย่างไรก็ตาม เราก็มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนและครู วันนี้จึงได้มีการเน้นย้ำว่าทุกฝ่ายจะต้องลงไปทำงานในระดับพื้นที่












กำลังโหลดความคิดเห็น