xs
xsm
sm
md
lg

กกต.กทม.เผยมีเบาะแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ 100 เรื่อง วอนสื่อระวังเสนอข่าวกระทบผู้สมัคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฟซบุ๊ก “ศูนย์ติดตามการเลือกตั้ง - ผู้ว่าฯ กทม.”
กกต.กทม.เผยประสาน บช.น.จัดชุดปราบทุจริตเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมตั้งผู้ประสานงาน-แหล่งข่าว และเปิดช่องทางร้องเรียน พบแจ้งเบาะแสแล้ว 100 เรื่อง แต่ยังไร้คนร้องเรียน ผอ.กกต.กทม. ชี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติจากการไม่มีใช้สิทธิการเลือกตั้ง เตือนผู้สมัครหาเสียงผ่านทีวี-วิทยุต้องคิดเป็นค่าใช้จ่าย วอนสื่อตรวจสอข้อมูลก่อนเสนอข่าวที่กระทบผู้สมัคร

วันนี้ (30 ม.ค.) พ.ต.อ.พันธ์ระวี วีระพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 1 แถลงว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทาง กกต.กลางได้ให้การสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนของ กกต.กทม. โดยได้อนุมัติให้สำนักงาน กกต.กทม.ประสานผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจัดชุดปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการหาข่าว จำนวน 88 ชุด ชุดละ 2 คน รวม 176 คน ปฏิบัติงานครอบคลุมทุกพื้นที่ใน กทม. โดยจะมีการอบรมในวันที่ 18 ก.พ.นี้ เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง นอกจากนี้ กกต.กทม.ยังได้จัดตั้งผู้ประสานงานข่าว 50 คน และแหล่งข่าวจำนวน 50 ชุด ชุดละ 2 คน รวม 100 คน เพื่อดำเนินงานด้านการหาข่าวไว้สนับสนุน ระหว่างงานสืบสวนสอบสวนโดยจะมีการอบรมในด้านการเขียนข่าวและแจ้งข่าวในวันที่ 14 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นหรือทราบเบาะแสว่ามีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์รับแจ้งเหตุและเบาะแสการทุจริตการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ชั้น 3 สำนักงาน กกต. อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หรือ โทร. 0-2-143-8941, 0-2143-8952, 0-2143-8953 http://www.ect.go.th และ http://www.facebook.com/ElectionMonitoringCenter

ส่วนการเตรียมการรับเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งนั้น กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน ได้มอบหมายให้พนักงานสืบสวนสอบสวนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการสืบสวน จำนวน 10 คน และจัดชุดตรวจติดตามแนะนำการปฏิบัติด้านสืบสวนสอบสวน โดยแต่งตั้งจากผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย จำนวน 3 คน ร่วมทำงานสืบสวนสอบสวนหรือกำกับดูแลการสืบสวนสวบสวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนที่ สำนักงาน กกต.กทม.แต่งตั้งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีมีเรื่องร้องคันค้าน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบขณะนี้ยังไม่มีเรื่องร้องคัดค้าน เพียงแต่มีการแจ้งเบาะแสมาทางโทรศัพท์จำนวน 100 ราย แยกได้เป็น 4 เรื่อง คือ กรณีติดตั้งป้ายหาเสียงที่กีดขว้างการจราจร 2 เรื่อง กรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนหีบลงคะแนนในย่านเยาวราช 1 เรื่อง และมีการปราศรัยหาเสียงที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 1 เรื่อง ซึ่งในเรื่องกระแสข่าวเปลี่ยนหีบลงคะแนนไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันเปลี่ยนมานับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งไม่ใช่ไปนับรวมที่เขตเหมือนในอดีต แต่ทั้งหมดนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดอีกครั้ง

“ทาง กกต.มีความพร้อม เพราะดูจากผู้สมัครแต่ละรายก็น่าจะมีความเข้าใจในเรื่องกฎหมายการเลือกตั้งเป็นอย่างดี ซึ่งคงไม่มีผู้สมัครทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง จะมีผิดบ้างก็เล็กน้อยซึ่งน่าจะเกิดจากความพลั้งเผลอเท่านั้น ดังนั้นเรื่องร้องเรียนที่เข้ามา กกต.น่าจะเอาอยู่” พ.ต.อ.พันธ์ระวีกล่าว

ด้านนายวีระ ยี่แพร ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) กล่าวถึงกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. พรรคเพื่อไทย ไม่ไปใช้สิทธิเรื่องตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา จึงอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการลงสมัครว่า การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นหน้าที่ของปลัด กทม. ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่นประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กต.ทถ.กทม.) ซึ่งต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่วันรับสมัคร โดยวันสุดท้ายคือวันที่ 1 ก.พ.ที่จะต้องมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนในเรื่องของการไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น จากการตรวจสอบจะยึดการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งใน กทม.มีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุดคือวันที่ 3 ก.ค. 54 และมีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตคันนายาวเมื่อวันที่ 7 ส.ค 54 และเลือกตั้งซ่อม ส.ก.เขตดอนเมืองในวันที่ 2 ก.ย. 55 ดังนั้นต้องดูว่าผู้สมัครมีชื่ออยู่ในเขตใด และไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติจากการไม่มีใช้สิทธิการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“อยากเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพราะหากเสนอข่าวโดยไม่ยึดหลักข้อเท็จจริงก็อาจส่งผลต่อคะแนนความนิยมของผู้สมัคร ที่อาจรู้สึกว่าเสียหายและอาจนำมาสู่การฟ้องร้อง โดยผู้ที่เสนอข่าวก็จะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การเสนอข่าวหรือการให้ข่าวจะต้องตรวจสอบในข้อเท็จจริงเสียก่อน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้สมัครทุกรายจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติและรู้ตัวเองอยู่ก่อนแล้วว่าขาดคุณสมบัติในการจะลงสมัครหรือไม่” นายวีระกล่าว

ทั้งนี้ นายวีระยังกล่าวถึงกรณีผู้สมัครโฆษณาหาเสียงผ่านรายการโทรทัศน์หรือวิทยุว่า จะต้องนำค่าใช้จ่ายในการออกทีวีแต่ละครั้งมาร่วมอยู่ในบัญชีค่าใช้จ่ายที่ต้องแจ้งต่อ กกต.ใน 90 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง หากไม่แจ้งและมีผู้ร้องเรียนก็จะเข้าข่ายแจ้งค่าใช้จ่ายอันเป็นเท็จ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ กกต.ได้ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครรายละไม่เกิน 49 ล้านบาท หากผู้สมัครมีบุคคลอื่นช่วยออกค่าใช้จ่ายหรือได้รับทรัพย์สินที่บุคคลอื่นนำมาให้เพื่อประโยชน์ในการหาเสียง ก็จะต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงด้วย หากผู้สมัครไม่นำมาคิดก็จะมีความผิดตามมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นปี 2545 ทั้งนี้ ในส่วนของ กกต.ก็จะมีการตรวจสอบติดตามเรื่องดังกล่าวเพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้สมัครแต่ละรายในการออกรายการโทรทัศน์หรือวิทยุในการโฆษณา

สำหรับในกรณีวันเลือกตั้งตรงกับวันสอบความถนัดทั่วไป และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือแกต-แพท (GAT-PAT) นั้น กกต.ได้รับการยืนยันจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่าจะไม่เลื่อนวันสอบแกต-แพท แต่จะเลื่อนเวลาพักออกไปเป็น 2 ชั่งโมง 30 นาที ซึ่งจะเริ่มสอบตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น. เพื่อขยับเวลาให้นักเรียนมีเวลาไปลงคะแนนเลือกตั้ง โดย กกต.ได้ประสานไปยังกรรมการประจำหน่วย (กปน.) ทุกหน่วยให้จัดช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนในการลงคะแนนเลือกตั้งด้วยความรวดเร็ว เพื่อจะได้กลับไปสอบได้ทันเวลา

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกรณีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.พงศ์พัศไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3 ก.ค. 54 นั้น ทางสำนักงาน กกต.กทม.ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่าในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 พล.ต.อ.พงศ์พัศได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่น่าจะทำให้มีปัญหาขาดคุณสมบัติในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.


กำลังโหลดความคิดเห็น