ผอ.เลือกตั้ง กทม.แจงนโยบายหาเสียงต้องอยู่ใต้งบและอำนาจ กทม. ขายฝันเสี่ยงถูกร้องขัด พ.ร.บเลือกตั้งท้องถิ่น แย้ม “จูดี้” นโยบายโอเวอร์ร้องได้ แต่ดิสเครดิตหรือเป็นเท็จรับโทษเอง เป็น ส.ส.ถึงยุบพรรค แนะติดป้ายหาเสียงตามสถานที่กำหนดแก้ป้ายหาย พร้อมแจ้งความ คาด 7 วันสอบคุณสมบัติเสร็จ เผยสอบองค์กรเอกชนอาสาจับตาเลือกตั้ง ชี้ขออนุญาตบุคคลก่อนส่งชื่อทีมงาน เล็งเลื่อน GAT/PAT ให้เยาวชนร่วมเลือกตั้ง-กกต.เมืองลิง เผย 3 ผู้ท้าชิงเลือกตั้งซ่อม กระตุ้น ปชช.ออกมาใช้สิทธิ
วันนี้ (23 ม.ค.) นายวีระ ยี่แพร ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) กล่าวถึงกรณีการหาเสียงเลือกตั้งที่มีผู้สมัครบางรายถูกมองว่านโยบายที่ใช้หาเสียงเกินอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครว่า ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องวิธีการและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น กำหนดให้ผู้สมัครหาเสียงในลักษณะเป็นนโยบายได้ โดยต้องอยู่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครกำหนดไว้ และงบประมาณที่จะนำมาใช้ตามนโยบายที่หาเสียงจะต้องเป็นงบของกรุงเทพมหานคร นโยบายที่ใช้หาเสียงจึงเกินกว่าอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นนโยบายดังกล่าวก็จะเข้าข่ายหลอกลวง ที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งอาจนำมาสู่การร้องคัดค้านได้
เมื่อถามว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายลดค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักร ถือว่าเกินจริงหรือไม่ นายวีระกล่าวว่า เรื่องนโยบายหาเสียงต้องดูตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.ว่าทำได้แค่ไหนเพียงใด งบประมาณในการบริหารมีเท่าไหร่ หากผู้ใดสงสัยกับนโยบายหาเสียงของ พล.ต.อ.พงศพัศก็สามารถยื่นเรื่องร้องคัดค้านมายัง กกต.กทม. เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องมีการร้องเรียนซึ่งเป็นอำนาจของ กกต.กทม.จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่ทั้งนี้ผู้ที่จะร้องเรียนก็ต้องระมัดระวังเพราะตามมาตรา 114 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น บัญญัติว่าผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้นั้นว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี และถ้าผู้ร้องเป็น ส.ส. กฎหมายก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมือง ซึ่งหากพบว่าเรื่องที่ร้องนั้นเป็นเท็จ ก็จะถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐมีโทษยุบพรรคตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองได้
นายวีระยังกล่าวถึงการติดป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ที่ขณะนี้เริ่มมีปัญหาป้ายหาเสียงของผู้สมัครหายไปว่า การติดป้ายผู้สมัครควรติดในสถานที่ที่ กกต.กำหนดไว้ หากผู้สมัครพบว่าป้ายหาเสียงของตนเองหายไปควรติดต่อไปยังสำนักงานเขตว่าได้มีการเก็บไปหรือไม่ เพราะอาจติดป้ายในสถานที่ห้ามปิด เช่น เกาะกลางถนน ทำให้ป้ายหาเสียงของผู้สมัครหายไป ดังนั้นควรไปติดต่อที่สำนักงานเขต แต่หากพบว่าป้ายถูกทำลายเสียหายก็ให้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีทางอาญาต่อไป
ทั้งนี้ นายวีระยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันโดยจะครบกำหนดในวันที่ 1 ก.พ. และ กกต.กทม. อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรเอกชน 3 แห่งที่เสนอโครงการเข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง คือ องค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ เครือข่ายประชากรเพื่อการเลือกตั้ง และสมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
ส่วนเรื่องที่ พ.ร.บ.ท้องถิ่น กำหนดให้ผู้สมัครต้องเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพนครจำนวน 4 คน เลขานุการ 1 คน ผู้ช่วยเลขานุการ 4 คน และคณะที่ปรึกษาไม่เกิน 9 คน รวมทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 18 คน ผู้สมัครสามารถเสนอรายชื่อบุคคลเหล่านี้หลังได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วก็ได้ แต่หากจะนำรายชื่อบุคคลในทีมไปหาเสียงจะต้องได้รับการยินยอมจากบุคคลดังกล่าวก่อน พร้อมทั้งส่งรายชื่อบุคคลในทีมและหลักฐานต่างๆ มายัง กกต.กทม. เพื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง
สำหรับในกรณีที่วันเลือกตั้ง 3 มี.ค. กระทรวงศึกษาฯ ต้องการให้เด็กที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าได้ที่สนามสอบ GAT/PAT แทนหน่วยเลือกตั้งนั้น เด็กที่มีอายุครบ 18 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนไม่มาก และกฎหมายไม่เปิดช่องให้ดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งถ้าจะย้ายหน่วยเลือกตั้งไปตั้งที่สนามสอบ การจะดำเนินการเวลานี้ก็ไม่ทัน ซึ่งทาง กกต.กทม.ได้เตรียมที่จะเสนอเรื่องให้เลขาธิการ กกต.หารือกับกระทรวงศึกษาว่าสามารถจะเลื่อนวันสอบ GAT/PAT ได้หรือไม่
ส่วน น.ส.นาตยา ทิพวันต์ ผอ.กต.จว.ลพบุรี กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลพบุรี แทนนายเกียรติ เหลืองขจรวิทย์ อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งว่า หลังจากที่ กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 9 ก.พ. และเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22-26 ม.ค. ขณะนี้มีผู้มายื่นสมัคร 3 ราย ประกอบด้วย นายพหล วรปัญญา ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย, นายสมจิตร พุทธรักษา ผู้สมัครพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และนายเกียรติ เหลืองขจรวิทย์ โดย กกต.กำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 2 ก.พ. ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า จะต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิระหว่างวันที่ 20-24 ม.ค. ขณะนี้ยังมีผู้ลงทะเบียนไม่มาก อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สมัครได้เบอร์แล้ว แต่สถานการณ์การหาเสียงยังไม่พบว่ามีเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้ ทาง กกต.จว.ได้เร่งประชาสัมพันธ์ เพราะอยากให้ผู้มีสิทธิออกมาใช้สิทธิให้มาก ที่ตั้งเป้าไว้ออกมาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 70