xs
xsm
sm
md
lg

กกต.กทม.จี้ “พงศพัศ” แจงให้เคลียร์ “รถ-เรือฟรี” ยุคนกรุงยื่นถอนถ้าทำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา (แฟ้มภาพ)
ประธาน กกต.กทม.เรียกร้อง “พงศพัศ” แจงวิธี รถเมล์-เรือเมล์ฟรี ลดค่าเช่าแผงจตุจักรทำอย่างไร หากไม่เคลียร์อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง พร้อมแนะคนกรุงเทพฯ หากผู้สมัครคนใดหาเสียงแล้วไม่ทำตามที่ประกาศไว้ ยื่นถอดถอนได้ทันที

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทย ประกาศหาเสียงในประเด็นเรื่อง จะให้มีรถเมล์-เรือโดยสารฟรี ออกทุก 15 นาที และลดค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักรว่า เป็นการเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เรื่องการหาเสียงเกินอำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ว่า เบื้องต้นยังไม่มีใครมายื่นเรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวกับทาง กกต.กทม.

ส่วนจะเข้าข่ายผิดกฎหมายการเลือกตั้งหรือไม่นั้น พล.ต.ท.ทวีศักดิ์กล่าวว่า เบื้องต้นในหลักการหาเสียงของผู้สมัครจะต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ประกอบด้วย 1. ผู้สมัครจะทำอะไร 2. วิธีการที่จะทำ เพื่อนำไปสู่ผลดังกล่าวเป็นอย่างไร 3. ทำแล้วจะมีผลเป็นอย่างไรกับประชาชน ในประเด็นของ พล.ต.อ.พงศพัศนั้น ตนเองกำลังรอฟังในประเด็นที่ว่าวิธีการที่จะทำในเรื่องที่หาเสียงไว้นั้น จะมีขั้นตอนเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะได้ไปดูในข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่า จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ในประเด็นการหาเสียงเกินจริง และอยู่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ ซึ่งจะต้องไปดูทั้งในวิธีการในเชิงกฎหมาย และวิธีการในเชิงประสานงานและปฏิบัติการ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขถึง พ.ศ. 2542 ในมาตรา 89 ได้มีการระบุไว้ว่า ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น ให้ กทม.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการกิจการในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 26 ข้อ ซึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่ง ที่ พล.ต.อ.พงศพัศได้หาเสียงไว้ก็ถือว่าอยู่ในขอบข่าย 26 ข้อที่ว่าเช่นกัน เพียงแต่ พล.ต.อ.พงศพัศควรจะได้มีการอธิบายให้ประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนว่าจะมีวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร

ส่วนที่ พล.ต.อ.พงศพัศได้ยกประเด็นเรื่องไร้รอยต่อมาอธิบายถึงประเด็นในการหาเสียง โดยมีการขยายความว่าหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะทำหน้าที่ประสานเพื่อให้ประเด็นในการหาเสียงสัมฤทธิผลนั้น ประธาน กกต.กล่าวว่า หากยึดตามข้อกฎหมายจริงๆ มีข้อกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากกฎหมายระบุไว้ว่าอำนาจเป็นของหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นก็ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 122 ก็ได้มีเปิดช่องเอาไว้ โดยระบุเอาไว้ว่ารัฐบาลสามารถให้งบประมาณอุดหนุนกรุงเทพมหานครได้โดยตรง

นอกจากนี้ ในหมวดที่ 8 ของกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และ กทม.ตามมตรา 121 ยังได้มีการระบุเอาไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่น นอกเหนือจาก พ.ร.บ.นี้ และกฎหมายอื่น กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. ถ้ากระทรวง ทบวง กรม ใดเห็นสมควรส่งข้าราชการมาปฏิบัติประจำ กทม. เพื่อปฏิบัติราชการ ในหน้าที่ของทบวง กระทรวง กรมนั้นๆ ก็ย่อมกระทำได้ โดยทำความตกลงกับ กทม. ขณะที่มาตรา 122 ยังได้ระบุว่า การตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้ กทม. ให้รัฐบาล ตั้งให้ กทม. โดยตรง และมาตรา 123 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการ กทม.

“ผมเองอยากจะให้ความรู้กับชาว กทม.เอาไว้ว่า หากเห็นแล้วว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.รายใดที่ชนะการเลือกตั้งแล้วไม่ได้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ก็สามารถอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 52 ในระเบียบราชการ กทม.(9) ซึ่งได้ให้อำนาจชาว กทม.ในการยื่นเรื่องถอดถอนผู้ว่าฯ กทม.ออกจากตำแหน่งได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น