“พงศพัศ” ลุยหาเสียงฝั่งธนฯ ทั้งวัน ไปบ้านบางแคกินข้าวเช้า ชวนร้องเพลงค่าน้ำนมแล้วคิดถึงแม่ ไปหนองแขมต่อตลิ่งชัน ยันจ้อไม่ขัดกฎหมายเลือกตั้ง
วันนี้ (24 ม.ค.) บรรยากาศการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ช่วงเช้า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ได้ลงพื้นที่หาเสียงที่บ้านพักคนชราบางแค โดย พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ร่วมรับประทานอาหารเช้า คือ ข้าวต้ม ไข่เจียว ร่วมกับผู้สูงอายุ และได้ป้อนข้าวผู้สูงอายุด้วย พร้อมสวดมนต์ ร้องเพลงค่าน้ำนมร่วมกับผู้สูงอายุ และระบุว่ามาเห็นแล้วทำให้คิดถึงแม่ และสอบถามความเป็นอยู่ จากนั้นได้เดินเท้าหาเสียงต่อไปยังตลาดบางแคซึ่งอยู่ติดกัน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนต่างให้การต้อนรับ ต่อมาได้เดินทางไปที่หมู่พงษ์ศิริชัย เขตหนองแขม ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ โดยมีประชาชนมารอให้การต้อนรับจำนวนมาก ซึ่ง พล.ต.อ.พงศพัศได้ตำส้มตำ ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว เดินทักทายประชาชน ก่อนเดินทางไปสักการะพระพุทธชินราช และศาลเสด็จปู่พิฆเนศวร ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน และได้เคาะระฆังจำนวน 9 ครั้ง พร้อมระบุว่าระฆังเสียงดี แถมมีคะแนน
จากนั้น พล.ต.อ.พงศพัศได้ขึ้นรถแห่ไปยังหมู่บ้านหรรษา และหมู่บ้านศรีเพชร ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ได้ลงพื้นที่วัดช่างเหล็ก ย่านตลิ่งชัน โดยได้สักการะพระบารมีหลวงพ่อดำ วัดช่างเหล็ก และได้เยี่ยมโรงเรียนวัดช่างเหล็ก โรงเรียนปิยะวิทยา และโรงเรียนปิยะมิตร พร้อมสอนประชาธิปไตยและเรื่องยาเสพติดให้เด็กชั้นประถมด้วย และเดินทางไปพบประชาชนที่ซอยจรัญฯ 75 ชุมชนวัดภาณุรังษี โดย พล.ต.อ.พงศพัศได้ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการหาเสียงตั้งแต่ช่วงเช้า พักกินก๋วยเตี๋ยว 20 นาที อีกทั้งยังตากแดดทั้งวัน จนสีหน้าของ พล.ต.อ.พงศพัศอิดโรย หน้าแดงก่ำ
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.พงศพัศให้สัมภาษณ์ว่าผู้สูงอายุใน กทม.มีทั้งหมด 7.6 แสนคน อายุเกิน 100 ปี 2,048 คน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพตามลำดับอายุ ตั้งแต่ 600-1,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอจึงอยากขอความร่วมมือ ประสานกับรัฐบาลเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพิ่มขึ้นเฉพาะผู้สูงอายุใน กทม.เป็น 1,000-1,200 บาท โดยไม่ต้องเฉลี่ยตามอายุ เพราะทุกคนมีค่าใช้จ่ายเท่ากัน และค่าครองชีพใน กทม.สูงกว่าที่อื่นๆ ส่วนผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราบางแคจะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพเพราะถือว่ารัฐบาลดูแลอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงทุกคนมีค่าใช้จ่าย จึงอยากให้ได้รับเบี้ยยังชีพด้วย
เมื่อถามว่าจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณหรือไม่ พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า การบริหารจัดการงบประมาณไม่มีปัญหา อยู่ที่นโยบายว่าจะดูแลส่วนไหนมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งงบที่ใช้ในโครงการใหญ่ๆ อยากให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะเรื่องโครงการขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ ส่วน กทม.เป็นเพียงผู้สนับสนุน อนุญาต ทั้งนี้ตนอยากเสนอให้มีการทำบ้านพักคนชราของ กทม. แต่ไม่อยากให้ซ้ำซ้อนกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งต้องดูรายละเอียด และจากการลงพื้นที่ชุมชนทราบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงอยากยกระดับสาธารณสุข 68 แห่งใน กทม.ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน และจัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าไปดูแลตรวจสุขภาพของผุ้สูงอายุ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าการหาเสียงไม่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ตนมีความเข้าใจในระเบียบของผู้ว่าฯ ซึ่งเกี่ยวกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และการให้บริการสาธารณะกับประชาชน ตนไม่อยากให้คนที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ทำงานเฉพาะให้กับคน กทม. แต่ต้องแสวงหางบประมาณและความร่วมมือในการดูแลชาว กทม.ด้วย