xs
xsm
sm
md
lg

“สุกำพล” เล็ง สทป.ศูนย์ผลิตยุทโธปกรณ์ในอาเซียน ดึง 3 เหล่าทัพบูรณาการงานวิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.กลาโหมเปิดงานวันสถาปนา 4 ปี สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เล็งเป็นศูนย์กลางผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศและอาเซียน เปรียบไทยเป็นไข่แดง สั่ง 3 เหล่าทัพบูรณการการวิจัย ชี้จุดอ่อนแต่ละเหล่าทัพต่างคนต่างทำ เปลืองงบประมาณ โปรยยาหอมพร้อมส่งเสริม

วันนี้ (23 ม.ค.) ที่สโมสรทหารบก เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนา 4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อีกก้าว...ในการสร้างแสนยานุภาพให้กองทัพไทยด้วยการพึ่งพาตนเอง” โดย พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมมีความชื่นชมและขอสนับสนุน สทป. ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้าร่วมกับกระทรวงกลาโหม ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ รวมถึงสร้างแสนยานุภาพให้กองทัพของไทย พร้อมทั้งเสริมสร้างกำลังรบของชาติ ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการวิจัยที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในลำดับที่รั้งท้ายหากเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ทั้งที่พื้นฐานอยู่ในทำเลที่ดี และมีทรัพยากรมากมายจนไม่จำเป็นต้องกักตุน เราจะต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ เช่น การวิจัยไบโอเทคโนโลยี ถือว่ามีความเข็มแข็งและเหมาะสมกับประเทศไทย เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ไทยเป็นครัวโลก

พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า สำหรับผลงานการวิจัยที่ผ่านมาของแต่ละเหล่าทัพมีจุดอ่อนที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการเอง หรือบางอย่างของบประมาณไปแล้ว เมื่อผลิตยุทโธปกรณ์ออกก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ตามต้องการ ทำให้เปลืองงบประมาณ ต่อจากนี้ไปจะให้ทั้ง 3 เหล่าทัพได้บูรณการการวิจัยร่วมกัน เพื่อได้ทราบความต้องการของแต่ละเหล่าทัพและมองว่าเหล่าทัพไหนจะสนับสนุนเหล่าทัพอื่นได้บ้าง ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการวิจัยและการส่งเสริม เพราะเคยแถลงต่อรัฐสภาว่าจะทำงานวิจัยได้ให้ร้อยละ 2 ต่อค่าจีดีพี ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ได้ และต้องมีผลงานออกมา หากทำไม่ได้ต้องชี้แจงเหตุผลให้ได้ว่าเพราะอะไร ถ้าเรามองในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้าเรื่องการวิจัยยุทโธปกรณ์ ทั้งที่ประเทศของเขามีพื้นที่เล็ก แต่เขาอาศัยความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติผลิตยุทโธปกรณ์จนสามารถส่งออกได้ จากการที่ตนเคยลงไปตรวจเยี่ยมหน่วยทหารในภาคอีสาน ก็เจอว่าหน่วยทหารของเราใช้ปืนที่ผลิตจากสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซียที่เป็นพื้นที่เหมาะแก่การตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ และรูปแบบการผลิตการเลียนแบบมาจากสิงคโปร์

“ในฐานะที่ สทป.จะย่างก้าวสู่ปีที่ 5 ผมต้องการเห็น สทป.เป็นศูนย์กลางชั้นนำในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในประเทศและในอาเซียน โดยจะให้อยู่ในรูปแบบครบวงจร ทั้งการวิจัย ศูนย์ซ่อม การผลิตและการส่งออก เพราะหากไทยเข้าสู้ประชาคมอาเซียนก็เปรียบเสมือนเป็นไข่แดง นอกจากนี้ยังต้องการให้ สทป.เป็นพ่องานหลัก เพราะต่อไปงบประมาณการวิจัยของแต่ละเหล่าทัพจะต้องมีการปรับลดให้น้อยลง โดยให้ดัดแปลงต่อเติมได้เล็กน้อย ส่วนเรื่องใหญ่จะให้ สทป.เป็นผู้รับผิดชอบ และส่งต่อให้บริษัทเอกชนหรือโรงงานของกระทรวงกลาโหมที่มีอยู่ดำเนินการต่อ ทั้งนี้กองทัพถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ อยากให้ สทป.ผลิตยุทโธปกรณ์ตามความต้องการของกองทัพ เพราะกองทัพมีงบประมาณที่ชัดเจน เช่นรถหุ้มเกราะเฟิร์สบริด ซึ่งเป็นรถที่เราผลิตเองและกำลังใช้งานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีเป้าหมายส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ทางภาคเอกชนมีความสนใจมาก เราต้องทำให้ได้ อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นอยากให้ภาคเอกชนเดินหน้าไปยังเหป้าหมาย ซึ่งอาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเรื่องความต่อเนื่อง เพราะต่อไปคนที่มาดูแลอาจจะเป็น รมว.กลาโหมคนอื่น ทั้งนี้ อยากให้ สปท.เป็นองค์กรที่พัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง” รมว.กลาโหมกล่าว

จากนั้น พล.อ.อ.สุกำพลให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาเราได้ทำจรวดระยะไกลที่สามารถยิงได้ประมาณ 200 กม. โดยได้พัฒนาเรื่องความแม่นยำจากจรวดธรรมดาเป็นจรวดนำวิถี ส่วนที่จะพัฒนาต่อไปคือรถเกราะ สาเหตุเพราะกองทัพบกยังมีความต้องการอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 200 คัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการจัดซื้อรถเกราะจากประเทศยูเครนมาแล้ว แต่ยังขาดอยู่อีก 2 กรม ที่มีความต้องการใช้งาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากมาย เพราะบ้านเรามีจุดแข่งเรื่องยานยนต์ โดยหลายมีหมายอย่างด้านอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งมากมายมาช่วยกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ตั้งชมรมขึ้นมาชื่อว่า ชมรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่มี 40 บริษัทเข้ามาร่วม ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่กองทัพจะทำและใช้อุปกรณ์เอง ซึ่งเริ่มจากรถยานเกราะ รวมทั้งยานไร้คนขับ (ยูเอวี) ที่จะดำเนินการต่อยอดจากที่มีใช้อยู่ โดยไม่ได้ดำเนินการเริ่มต้นจากศูนย์ เป็นความตั้งใจของเราและมีเอกชนเข้ามาร่วมด้วยเพื่อความก้าวหน้าต่อไป

พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาการวิจัยที่แต่ละเหล่าทัพต่างคนต่างทำนั้นสามารถแก้ไขได้ โดยงบประมาณด้านการพัฒนาที่จะให้แต่ละเหล่าทัพนั้นก็จะน้อยลงและมารวมอยู่ สทป. ส่วนที่มีการมองว่าใช้งบประมาณวิจัยและพัฒนาสูงมากกว่าการซื้อจากประเทศนั้น ตนมองว่าไม่ เพราะยุทโธปกรณ์บางชิ้นต้องมี เช่น กระสุน ไปซื้อเขา หากรบกันแล้วเขาไม่ขายให้จะทำอย่างไร ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องมี บางอย่างถึงแม้ว่าจะแพงกว่าข้างนอกแต่จำเป็นต้องมี

“จริงอยู่ว่ารถเกราะมีขายข้างนอกมากมาย เราทำเองไม่ได้ แพงกว่าแน่นอน เพราะเรามีความต้องการใช้จำนวนมากพอสมควร กองทัพบกต้องการใช้จำนวนกว่า 200 คัน รวมทั้งยังมีกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อีก หากมีเหลือก็ยังนำไปขายให้กับต่างประเทศได้อีก อีกทั้งรถเกราะไม่ได้มีเทคโนโลยีมาก และไม่ได้ทำยาก ทำไมจะทำรถเกราะเองไม่ได้ ส่วนยูเอวีเราก็จะต้องตาม เพราะที่ซื้อมาใช้ก็ทันสมัย แต่เราต้องต่อยอดจากที่มีอยู่ให้ดีขึ้น อาจจะมีการดัดแปลงในสิ่งที่เราขาดอยู่ เช่น ระบบเซ็นเซอร์” พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว

เมื่อถามว่า แต่กองทัพบกมีรถเกราะยูเครนอยู่ในใจแล้ว พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า สามารถทำได้ เพราะยังไม่ครบ ไม่มีปัญหา ซึ่งเขาต้องการ 1 กองพลทหารราบ แต่เขามีแต่ 1 กรม ขาดอีก 2 กรมประมาณ 200 กว่าคัน ทำไมจะต้องซื้ออีกก็อยากให้ทำเองบ้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี จะเริ่มการผลิตได้ อย่างไรก็ตาม กองทัพบกถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาร่วมกับ สทป. ที่เป็นผู้กำหนดความต้องการ หากสามารถทำได้ตามความต้องการ ก็ไมน่าจะมีปัญหา ซึ่งสเปกต่างๆ ต้องเหมือนต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น