xs
xsm
sm
md
lg

สุกำพลหนุนสทป.วิจัย ศูนย์กลางอาวุธอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (23ม.ค.) ที่สโมสรทหารบก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนา 4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือสทป. พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อีกก้าว...ในการสร้างแสนยานุภาพให้กองทัพไทยด้วยการพึ่งพาตนเอง” โดยพล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า กระทรวงกลาโหม มีความชื่นชมและขอสนับสนุนสทป. ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้าร่วมกับกระทรวงกลาโหม ที่สามารถพึงพาตนเองได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ รวมถึงสร้างแสนยานุภาพให้กองทัพของไทย พร้อมทั้งเสริมสร้างกำลังรบของชาติ
แนวทางการวิจัยที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในลำดับที่รั้งท้าย หากเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ทั้งที่พื้นฐานอยู่ในทำเลที่ดี และมีทรัพยากรมากมายจนไม่จำเป็นต้องกักตุน เราจะต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ เช่นการวิจัยไบโอเทคโนโลยี ถือว่ามีความเข้มแข็ง และเหมาะสมกับประเทศไทย เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ไทยเป็นครัวโลก
สำหรับผลงานการวิจัยที่ผ่านมาของแต่ละเหล่าทัพ มีจุดอ่อนที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการเองหรือบางอย่างของบประมาณไปแล้ว เมื่อผลิตยุทโธปกรณ์ออกมาก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ตามต้องการ ทำให้เปลืองงบประมาณ ต่อจากนี้ไปจะให้ทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้บูรณการการวิจัยร่วมกัน เพื่อได้ทราบความต้องการของแต่ละเหล่าทัพและมองว่าเหล่าทัพไหนจะสนับสนุนเหล่าทัพอื่นได้บ้าง
ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการวิจัย และการส่งเสริม เพราะเคยแถลงต่อรัฐสภาว่า จะทำงานวิจัยได้ให้ร้อยละ 2 ต่อค่าจีดีพี ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ได้ และต้องมีผลงานออกมา หากทำไม่ได้ ต้องชี้แจงเหตุผลให้ได้ว่าเพราะอะไร ถ้าเรามองในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ที่มีความก้าวหน้าเรื่องการวิจัยยุทโธปกรณ์ทั้งที่ประเทศของเขามีพื้นที่เล็ก แต่เขาอาศัยความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ ผลิตยุทโธปกรณ์จนสามารถส่งออกได้ จากการที่ตนเคยลงไปตรวจเยี่ยมหน่วยทหารในภาคอีสาน ก็เจอว่าหน่วยทหารของเราใช้ปืนที่ผลิตจากสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย ที่เป็นพื้นที่เหมาะแก่การตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ และรูปแบบการผลิตการเลียนแบบมาจากสิงคโปร์
"ในฐานะที่สทป.จะย่างก้าวสู่ปีที่ 5 ผมต้องการเห็นสทป. เป็นศูนย์กลางชั้นนำในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในประเทศ และในอาเซียน โดยจะให้อยู่ในรูปแบบครบวงจร ทั้งการวิจัย ศูนย์ซ่อม การผลิตและการส่งออก เพราะหากไทยเข้าสู้ประชาคมอาเซียน ก็เปรียบเสมือนเป็นไข่แดง นอกจากนี้ยังต้องการให้สทป. เป็นพ่องานหลัก เพราะต่อไปงบประมาณการวิจัยของแต่ละเหล่าทัพ จะต้องมีการปรับลดให้น้อยลง โดยให้ดัดแปลงต่อเติมได้เล็กน้อย ส่วนเรื่องใหญ่จะให้สทป. เป็นผู้รับผิดชอบ และส่งต่อให้บริษัทเอกชนหรือโรงงานของกระทรวงกลาโหม ที่มีอยู่ดำเนินการต่อ ทั้งนี้กองทัพถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ อยากให้สทป.ผลิตยุทโธปกรณ์ตามความต้องการของกองทัพ เพราะกองทัพมีงบประมาณที่ชัดเจน เช่น รถหุ้มเกราะเฟิร์สบริด ซึ่งเป็นรถที่เราผลิตเองและกำลังใช้งานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีเป้าหมายส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ทางภาคเอกชนมีความสนใจมาก เราต้องทำให้ได้ อย่างไรก็ตามวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นอยากให้ภาคเอกชนเดินหน้าไปยังเป้าหมาย ซึ่งอาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเรื่องความต่อเนื่อง เพราะต่อไปคนที่มาดูแลอาจจะเป็นรมว.กลาโหมคนอื่น ทั้งนี้อยากให้สปท. เป็นองค์กรที่พัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง" รมว.กลาโหม กล่าว
จากนั้นพล.อ.อ.สุกำพล ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา เราได้ทำจรวดระยะไกลที่สามารถยิงได้ประมาณ 200 กม. โดยได้พัฒนาเรื่องความแม่นย้ำ จากจรวดธรรมดาเป็นจรวดนำวิถี ส่วนที่จะพัฒนาต่อไปคือ รถเกราะ สาเหตุเพราะกองทัพบกยังมีความต้องการอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 200 คัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการจัดซื้อรถเกราะจากประเทศยูเครนมาแล้ว แต่ยังขาดอยู่อีก 2 กรม ที่มีความต้องการใช้งาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากมาย เพราะบ้านเรามีจุดแข็งเรื่องยานยนต์ โดยมีหลายอย่างด้านอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งมากมายมาช่วยกัน ทั้งนี้ปัจจุบันได้ตั้งชมรมขึ้นมาชื่อว่า ชมรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่มี 40 บริษัทเข้ามาร่วม ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่กองทัพจะทำและใช้อุปกรณ์เอง ซึ่งเริ่มจากรถยานเกราะ รวมทั้งยานไร้คนขับ (ยูเอวี) ที่จะดำเนินการต่อยอดจากที่มีใช้อยู่ โดยไม่ได้ดำเนินการเริ่มต้นจากศูนย์ เป็นความตั้งใจของเราและมีเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อความก้าวหน้าต่อไป
"จริงอยู่ว่ารถเกราะมีขายข้างนอกมากมาย เราทำเองไม่ได้แพงกว่าแน่นอน เพราะเรามีความต้องการใช้จำนวนมากพอสมควร กองทัพบกต้องการใช้จำนวนกว่า200 คัน รวมทั้งยังมีกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อีก หากมีเหลือก็ยังนำไปขายให้กับต่างประเทศได้อีก อีกทั้งรถเกราะไม่ได้มีเทคโนโลยีมาก และไม่ได้ทำยาก ทำไมจะทำรถเกราะเองไม่ได้ ส่วนยูเอวีเราก็จะต้องตาม เพราะที่ซื้อมาใช้ก็ทันสมัยแต่เราต้องต่อยอดจากที่มีอยู่ให้ดีขึ้นอาจจะมีการดัดแปลงในสิ่งที่เราขาดอยู่ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ " พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น