รายงานการเมือง
นับแต่บัดนี้ก็เดินหน้าหาเสียงกันเต็มรูปแบบ สำหรับศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้ยื่นใบสมัครและจับสลากได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครกันไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา
เบื้องต้นแค่ผ่านไปครึ่งวันของวันจันทร์ที่ 21 ม.ค. 56 ก็มีคนสมัครไปแล้วรวม 17 คน เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคสองคนคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย นอกนั้นเป็นผู้สมัครอิสระ ซึ่งมีชื่อเสียงบ้างโนเนมบ้างปะปนกันไป
ผลการจับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่สำคัญๆ เรียงตามลำดับก็เช่น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เบอร์ 9, โฆสิต สุวินิจจิต เบอร์ 10, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เบอร์ 11, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เบอร์ 16
แฮปปี้สุด คงไม่พ้น พล.ต.อ.พงศพัศ และพรรคเพื่อไทยที่ได้เบอร์สวย หมายเลข 9
ขณะที่สุขุมพันธุ์ แม้จะได้เลขสองเบอร์คือ 16 แต่ก็ยืนกรานไม่มีปัญหาในการหาเสียงเพราะคน กทม.จดจำชื่อเสียงหน้าตาสุขุมพันธุ์ได้ แถมบอกหากได้เลขสวยอาจเป็นที่ครหาว่า ข้าราชการ กทม.ไม่ให้ความเป็นธรรมได้ อีกทั้งบอกว่าเป็นเลขดีเพราะ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 16 มาก่อน
ขณะที่ผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ ที่ผู้คนอาจเคยได้ยินชื่อมาบ้าง เพราะเคยลงมาแล้วก็มี เช่น วรัญชัย โชคชนะ เบอร์ 2, ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หรือตู่ ติงลี่ เบอร์ 3, สมิตร สมิทธินันท์ เบอร์ 5, นายสุหฤท สยามวาลา ศิลปินเพลงอินดี้ เบอร์ 17 เป็นต้น
ต้องดูกันว่าในช่วงหาเสียง 6 สัปดาห์ต่อจากนี้ ผู้สมัครแต่ละคนจะงัดกลยุทธ์หาเสียงอะไรมาซื้อใจคนกรุงเทพฯเพื่อให้ตัวเองได้รับชัยชนะได้
แต่ดูแล้ว ดีกรีการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ เข้มข้นกว่า 1-2 ครั้งหลังที่ผ่านมาแน่นอน
อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศและพรรคเพื่อไทย ก็ชิงเปิดหัวเล่นเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ไปแล้วที่ลานคนเมืองเมื่อวันจันทร์ที่ 21 ม.ค.หลังการรับสมัครในช่วงเช้า ขณะที่ฝั่งประชาธิปัตย์ ออกตัวเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ช้ากว่าเพื่อไทยเล็กน้อย คือไปเปิดเวทีปราศรัยกันเอาในวันศุกร์ที่ 25 ม.ค.ที่ลานคนเมืองเช่นกัน
ในส่วนของผู้สมัครอิสระ คงเหนื่อยมากกว่าผู้สมัครสังกัดพรรคเพราะไม่มีเครือข่ายมาช่วยหาเสียง ยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ดูแล้วดวลกันเดือดระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ก็ยิ่งทำให้ผู้สมัครอิสระต้องเหนื่อยหนักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
ในการตอบโจทย์ให้ได้ว่า ผู้สมัครอิสระดีกว่าผู้สมัครสังกัดพรรคอย่างไร โดยเฉพาะหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วจะทำงานประสานกับรัฐบาลกลางพรรคเพื่อไทยได้อย่างไร
ในเมื่อพรรคเพื่อไทยชูจุดแข็ง พล.ต.อ.พงศพัศว่าจะทำให้การประสานงานต่างๆระหว่างกทม.กับรัฐบาล “ไร้รอยต่อ”
ยิ่งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความเห็นประชาชนในหัวข้อ “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในสายตาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
พบว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.47 เลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง และเลือกผู้สมัครอิสระร้อยละ 40.08
ความเห็นคน กทม.ตรงนี้แม้จะยังไม่ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากสำหรับคนกรุงเทพฯเมื่อดูจากผลสำรวจดังกล่าว แต่เมื่อเข้าถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายในการหาเสียง การตัดสินใจของคนกรุงเทพฯ คงชัดเจนมากขึ้น
หากผู้สมัครอิสระไม่สามารถทำให้คน กทม.เห็นว่าผู้สมัครอิสระดีกว่าผู้สมัครสังกัดพรรคอย่างไร ก็น่าจะเป็นอีกครั้งที่ผู้สมัครสังกัดพรรคจะชนะการเลือกตั้ง
ขณะที่การหาเสียงจะพบว่าผู้สมัครหลายคน ต่างก็ชูนโยบายแบบเดิมในการหาเสียงคือมุ่งเน้นไปที่การออกนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการสำคัญๆ ของคนกรุงเทพมหานคร เช่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องระบบขนส่งมวลชน การศึกษาและสาธารณสุข การออกแบบผังเมือง-การจัดระเบียบกรุงเทพมหานครเช่น ปัญหาหาบเร่แผงลอย-การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง
ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ มันก็อยู่ที่คน กทม.ว่าจะเชื่อผู้สมัครแต่ละคนหรือไม่ หากเชื่อโดยไม่ใช้เหตุผลในการพิจารณาประกอบไปด้วยว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ แล้วไปเลือกผู้สมัครคนนั้น จนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วทำไม่ได้จริงอย่างที่หาเสียง ก็เท่ากับโดนหลอกนั่นเอง
นอกจากนี้ ที่ต้องจับตาก็คือเรื่องการวางตัวของนักการเมืองในซีกพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะพวกรัฐมนตรีทั้งหลาย ที่คงถูกจับตากันมากทุกฝีก้าว กับการจะไปช่วย พล.ต.อ.พงศพัศหาเสียง เพราะหากวางตัวไม่ถูกต้อง ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการจะถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งได้
จะเห็นได้ว่าฝั่งเพื่อไทยมีการระวังกันมาก มีการสั่งกำชับรัฐมนตรีทุกคนว่าหากจะไปช่วยหาเสียงจะต้องไปหลังเวลาราชการ และหากไปในช่วงเวลาราชการก็ต้องยื่นใบลาทำให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ ทุกอย่างเพื่อไม่ให้ถูกร้องเรียนได้
ดูได้จากกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปช่วยพล.ต.อ.พงศพัศหาเสียงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่ให้มีการใช้รถตำรวจนำขบวนมาคอยอำนวยความสะดวกนายกรัฐมนตรีในระหว่างไปช่วยหาเสียง เพราะเกรงจะถูกร้องเรียนนั่นเอง
ขณะที่การรับสมัครผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีรัฐมนตรีบางคนของพรรคเพื่อไทยก็ไปให้กำลังใจ พล.ต.อ.พงศพัศที่ศาลาว่าการ กทม.ด้วย ทั้งที่มีการประชุมครม.สัญจรกันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ตรงนี้เชื่อว่าคงมีการยื่นใบลาแจ้งกับนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกันเรียบร้อยตามระเบียบราชการ
ก็ต้องขอเตือนพวกรัฐมนตรีทั้งหลายในพรรคเพื่อไทยไว้หน่อยว่า หากทำกันแบบนี้บ่อยๆ ก็คงไม่ดีเหมือนกันนะจะบอกให้ มันดูไม่งาม
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนกรุงเทพฯอยากเห็นในการหาเสียงครั้งนี้ก็คือการขึ้นเวทีพร้อม กันของบรรดาตัวเต็งผู้สมัครทั้งหมด ในลักษณะการ “ดีเบต” เพื่อประชันนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารกรุงเทพ มหานครให้คน กทม.ได้แลเห็นพร้อมกันทีเดียวไปเลย จะได้ง่ายในการตัดสินใจ
ก็หวังว่า ในช่วงหกสัปดาห์ต่อจากนี้ จะมีองค์กรที่เป็นกลางมารับเป็นเจ้าภาพจัดดีเบตดังกล่าว จะเอาช่วงนี้เลยหรือช่วงโค้งสุดท้ายก็ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ผู้สมัครทุกคนขึ้นเวทีโดยพร้อมเพียงกันก็เป็นพอ โดยเฉพาะสองคนนี้
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์-พล.ต.อ.พงศพัศ
ที่คน กทม.ยังนึกภาพไม่ออกว่า หากมีการดีเบตกัน ใครจะทำแต้มได้ดีกว่า