ผช.ผู้ประสานกลุ่มกรีน เข้ายื่น ปธ.กมธ.สอบทุจริตฯ ปม กทค.ออกใบอนุญาตกิจการดาวเทียมไทยคม ไร้การประมูล อ้างโคจรห่างไทยเกิน 100 กม. ไม่เข้า ม.45 โบ้ยหน้าที่ ITU ชี้มะกัน-บราซิล ยังประมูลได้ ยันไทยได้สิทธิจาก ITU ติงตีความเอื้อเอกชน ผลเสียประเทศ ซัดเร่งประเคนใบอนุญาติง่ายๆ ทำผูกขาดไป 20 ปี ทั้งที่ยังมีคดี 3G อยู่ ลั่น กสทช.ต้องเคลียร์ นิ่งยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.ต่อ “สุมล” งง กทค.บอกนอกเขตไทย กลับออกใบอนุญาต เล็งเรียกแจง “รสนา” ลั่นตามไม่ปล่อย
วันนี้ (21 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายจาตุรันต์ บุญเบญจรัตน์ ผู้ช่วยประสานงานกลุ่มกรีน เดินทางมายื่นหนังสือกับ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้กรรมาธิการตรวจสอบกรณีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมให้กับ บริษัท ไทยคม (จำกัด) ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จากกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการกระสายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) โดยบอร์ดฝ่าย กทค. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ออกใบอนุญาตประกิจการดาวเทียมให้กับบริษัท ไทยคม (จำกัด) มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ เช่น ไม่มีการประมูล โดย กทค.อ้างว่าดาวเทียมเป็นวัตถุที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเกินกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าโคจรอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของไทย และถือเป็นหน้าที่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ในการกำกับดูแลกฎระเบียบเกี่ยวกับดาวเทียม ด้วยเหตุนี้จึงไม่เข้าลักษณะตามความมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
นายจาตุรันต์กล่าวต่อว่า ประเด็นปัญหาคือ ถ้า กทค.ตีความว่าดาวเทียมโคจรอยู่นอกเหนืออธิปไตยของชาติใดชาติหนึ่งและทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ ได้ ก็เท่ากับว่าจะไม่มีชาติใดมีสิทธิมีอำนาจในการกำกับดูแลการให้บริการดาวเทียมของตนได้เลย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงยืนยันว่าสหรัฐฯ และบราซิลก็เคยมีการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียม ฉะนั้น ถือว่าตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นวงโคจร 120 หรือ 50.5องศาตะวันออก ถือเป็นสิทธิของประเทศไทยที่ได้รับการจัดสรรจาก ITU จึงถือเป็นอำนาจอธิปไตยของไทยที่จะจัดการกับวงโคจรดังกล่าวภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ การตีความของ กทค.แบบนี้เปิดช่องให้กิจการดาวเทียมของชาติตกไปอยู่ในมือเอกชนหรือกลุ่มทุน จนล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาวด้วย เพราะกิจการดาวเทียมสำคัญต่อปัญหาความมั่นคงและปัญหาทรัพยากรของโลกด้วย
นอกจากนี้ การออกใบอนุญาตครั้งนี้ทำแบบรวบรัดตัดตอน ลุกลี้ลุกลนผิดปกติ ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นกับองค์กรอย่าง กสทช. เพราะที่ประชุมบอร์ดฝ่าย กทค.ออกใบอนุญาตให้กับบริษัทไทยคม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ได้อนุมัติออกใบอนุญาติให้กับบริษัทไทยคม ทั้งที่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมยังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างเท่านั้น ทำให้กิจการดาวเทียมของชาติเกิดการผูกขาดไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ต่างจากกรณีการเปิดประมูล 3G ที่ยังคาราคาซังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ หรืออาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำเพราะไม่มีการประมูลเป็นการประเคนใบอนุญาติให้บริษัท ไทยคม (จำกัด) ไปแบบง่ายๆ
ทั้งนี้ ทางกลุ่มกรีนกำลังรวบรวมเอกสารและปรึกษาฝ่ายกฎหมาย เพื่อยื่นร้องให้คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ของวฺฒิสภา เรียก กสทช.มาชี้แจง หากไม่มีความชัดเจนจะร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากิจการดาวเทียมเป็นกิจการที่ใช้คลื่นความถี่หรือไม่ เพราะถ้าเป็นคลื่นความถี่ต้องจัดให้มีการประมูลใบอนุญาต นอกจากนี้หากพบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น
ด้าน น.ส.สุมล กล่าวว่า กทค.ยังมีกรณีการเปิดประมูล 3G ที่ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ และยังมีกรณีนี้เกิดขึ้นอีก หากดูจากข้อมูลที่ทางกลุ่มกรีนได้ยื่นมาแต่ยังไม่ได้ตรวจสอบก็จะพบว่า เหตุใดทาง กทค.จึงไม่มีเปิดประมูล เพราะดาวเทียมเป็นวัตถุที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเกินกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าโคจรอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของไทย แต่ทำไมถึงสามารถออกใบอนุญาตประกิจการดาวเทียมให้กับบริษัท ไทยคม (จำกัด)ได้ จึงจะต้องมีการเชิญ กทค.เข้ามาชี้แจงเรื่องนี้อย่างแน่นอน
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะมีการตรวจสอบต่อไป เพราะมีประเด็นคือ 1. ไม่มีการเปิดประมูลอย่างเท่าเทียม และ อายุสัญญา 20 ปี ที่ให้แก่ บริษัท ไทยคม (จำกัด) นั้นเป็นอายุเวลาที่อาจจะก่อให้เกิดการผู้ขาดได้ เพราะอายุสัญญาของดาวเทียมปกติจะอยู่ที่ 15 ปีเท่านั้น