xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” ฉะ กทค.ออกใบอนุญาตดาวเทียมให้ไทยคมโดยไม่ประมูล ยื่น กมธ.วุฒิสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (แฟ้มภาพ)
“สุริยะใส” เตรียมยื่น กมธ.วุฒิฯ สอบ กทค.ออกใบนุญาตดาวเทียม ให้ บ.ไทยคม โดยไม่เปิดประมูล ระบุมีข้อเคลือบแคลงหลายประการ ชี้หนักกว่ากรณีประมูล 3G ห่วงกิจการดาวเทียมตกอยู่ในมือต่างชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคงในระยะยาว

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการกระสายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) โดยบอร์ดฝ่าย กทค. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ออกใบอนุญาตประกิจการดาวเทียมให้กับบริษัท ไทยคม (จำกัด) มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ เช่น ไม่มีการประมูล โดย กทค.อ้างว่าดาวเทียมเป็นวัตถุที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเกินกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าโคจรอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของไทย และถือเป็นหน้าที่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ในการกำกับดูแลกฎระเบียบเกี่ยวกับดาวเทียม ด้วยเหตุนี้จึงไม่เข้าลักษณะตามความมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

ประเด็นปัญหาคือ ถ้า กทค ตีความว่าดาวเทียมโคจรอยู่นอกเหนืออธิปไตยของชาติใดชาติหนึ่งและทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ ได้ ก็เท่ากับว่าจะไม่มีชาติใดมีสิทธิมีอำนาจในการกำกับดูแลการให้บริการดาวเทียมของตนได้เลย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงยืนยันว่าสหรัฐฯ และบราซิลก็เคยมีการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียม ฉะนั้น ถือว่าตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นวงโคจร 120 หรือ 50.5 องศาตะวันออก ถือเป็นสิทธิของประเทศไทยที่ได้รับการจัดสรรจาก ITU จึงถือเป็นอำนาจอธิปไตยของไทยที่จะจัดการกับวงโคจรดังกล่าวภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ

นายสุริยะใสกล่าวว่า การตีความของ กทค.แบบนี้เปิดช่องให้กิจการดาวเทียมของชาติตกไปอยู่ในมือเอกชนหรือกลุ่มทุน จนล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาวด้วย เพราะกิจการดาวเทียมสำคัญต่อปัญหาความมั่นคงและปัญหาทรัพยากรของโลกด้วย

นอกจากนี้ การบอกใบอนูญาตครั้งนี้ทำแบบรวบรัดตัดตอน ลุกลี้ลุกลนผิดปกติ ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นกับองค์กรอย่าง กสทช. เพราะที่ประชุมบอร์ดฝ่าย กทค.ออกใบอนุญาตให้กับบริษัทไทยคม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 255 ได้อนุมัติออกใบอณุญาติให้กับบริษัทไทยคม ทั้งที่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมยังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างเท่านั้น ทำให้กิจการดาวเทียมของชาติเกิดการผูกขาดไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ต่างจากกรณีการเปิดประมูล 3G ที่ยังคาราคาซังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ หรืออาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำเพราะไม่มีการประมูลเป็นการประเคนใบอนุญาติให้บริษัท ไทยคม (จำกัด) ไปแบบง่ายๆ

นายสุริยะใสกล่าวว่า กรณีนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสและเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งมติของ กทค.ครั้งนี้ส่อเจตนาละเมิดทั้ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ทั้งนี้ ทางกลุ่มกรีนกำลังรวบรวมเอกสารและปรึกษาฝ่ายกฎหมาย เพื่อยื่นร้องให้คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ของวฺฒิสภา เรียก กสทช.มาชี้แจง หากไม่มีความชัดเจนจะร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากิจการดาวเทียมเป็นกิจการที่ใช้คลื่นความถี่หรือไม่ เพราะถ้าเป็นคลื่นความถี่ต้องจัดให้มีการประมูลใบอนุญาต นอกจากนี้หากพบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น

ทางกลุ่มกรีนจะยื่นร้องให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบว่าการตัดสินใจครั้งนี้เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น