ตัวแทน ส.ว.กลุ่ม 40 ไม่เห็นด้วย พ.ร.ก.นิรโทษกรรม นปช. ชี้ไม่ได้ทำเพื่อ ปชช. หวังล้างคดีนักการเมืองโกง และคดีหมิ่นสถาบัน ส่อช่วยแต่สาวกและหัวหน้า เตือน ปชช.ตามให้ทันเล่ห์เหลี่ยม - “ทนายวันชัย"” ทนไม่ไหวคดีพระนอกรีตก่อเหตุทำศาสนาเสื่อม บี้ สนง.พระพุทธฯ ประสาน สตช.สอบประวัติก่อนบวช
วันนี้ (21 ม.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีที่แกนนำ นปช.เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่รับโทษสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองนั้น โดยส่วนตัวเห็นด้วยหากที่จะให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่เป็นประชาชนจริงๆ ที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองแล้วได้รับการกล่าวโทษว่ากระทำผิดทางอาญา แต่ไม่เห็นกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่ทางแกนนำ นปช.เสนอต่อรัฐบาลใน 3 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 กรณีที่มีร่างกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมที่อ้างว่าสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นการร่างกฎหมายเพื่อช่วยเหลือนักการเมืองในคดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง เพราะคดีความขัดแย้งทางการเมืองจะมีคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีการทุจริตคอร์รัปชันสามารถนำมากล่าวอ้างว่าเป็นการขัดแย้งทางการเมืองได้ด้วย รวมไปถึงกรณีที่นักการเมืองขัดแย้งกันเองก็จะได้รับนิรโทษกรรมด้วย และในประการสำคัญผู้ที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยการหมิ่นสถาบันนั้น ก็จะนำมาอ้างว่าเป็นการขัดแย้งทางการเมืองและจะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ส่วนประการที่ 2 เรื่องที่กำหนดการยกเว้นบุคคลที่ได้รับผลการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่สั่งการ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้เป็นการหมกเม็ดเพื่อช่วยเหลือนักการเมืองที่เป็นพวกเดียวกัน จึงต้องกำหนดความหมายที่แยกนักการเมืองออกจากประชาชนให้ชัดเจน โดยต้องกำหนดว่าไม่มีผลต่อผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย และประการที่ 3 การกำหนดช่วงเวลากฎหมายให้มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2553 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการเอื้อเฉพาะกลุ่ม จึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนเป็นตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปี 2555 จึงจะเป็นการออกกฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติ
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ตนขอเรียกร้องไปยังกลุ่มมวลชนทั้งสีเหลือง และสีแดง ต้องรู้เท่าทันนักการเมืองที่จับประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อออกกฎหมายที่นิรโทษพวกตนเอง โดยไม่ได้ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง
ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับพระที่บวชก่อคดีต่างๆ อาทิ พระเมายาบ้าขโมยรถโดยสาร ซึ่งกรณีที่มีข่าวเช่นนี้ทำให้คนที่นับถือพุทธศาสนาสะเทือนใจ และคดีที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือเรื่องยาเสพติด และเป็นคนร้ายคดีอุกฉกรรจ์ แล้วหนีไปบวชโดยหวังจะใช้จีวรหนีความผิดจากคดีที่ก่อขึ้น สำหรับสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเพิกเฉยไม่ได้ โดยจะถือว่าเป็นเรื่องของคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคมไม่ได้ เพราะสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เป็นผู้สนองนโยบาย หรือรับใช้สนับสนุนในกิจการของพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบบุคคลผู้ที่จะเข้าบวชเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจยาเสพติด คดีอาชญากรรมต่างๆ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีประวัติหรือมีคดีหรือไม่ เพราะหากปล่อยให้บุคคลพวกนี้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเชื่อว่าจะเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาสนาพุทธ