ผ่าประเด็นร้อน
บางครั้งคำพูดที่ว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” มันใช้ได้จริงๆ อย่างล่าสุดความพยายามในการลักไก่เสนอพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ต้องคดีจากการชุมนุมทางการเมืองตั้ง 1 มกราคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2554 โดยให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกและผู้ที่ถูกกล่าวหาที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยจะไม่นิรโทษกรรมกับผู้ที่สั่งการและตัดสินใจ ความหมายก็คือต้องการ “รวบรัด” ออกมาบังคับใช้อย่างรวดเร็ว
แน่นอนว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวมีแค่ 4 มาตรา มีเป้าหมายไม่อ้อมค้อม แต่ที่น่าพิรุธก็คือ ข้อความในมาตราสาม ที่ “ไม่รวมถึงบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว” นั้นจะพิสูจน์อย่างไร และมีความหมายอย่างไร
แม้ว่าในความหมายที่พยายามจะเน้นย้ำก่อนการเสนอพระราชกำหนดดังกล่าวออกมานั้นต้องการนิรโทษกรรมให้กับระดับชาวบ้านธรรมดาที่เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ไม่ใช่ระดับแกนนำหัวโจก แต่ถามว่าถ้าพวกหัวโจกที่อยู่บนเวทีทั้งหลายไม่ว่า จะเป็น ธิดา ถาวรเศรษฐ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่กำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย รวมทั้งคดีอาญาร้ายแรงอื่นๆ อยู่นั้น ถูกเฉไฉไม่อาจพิสูจน์ตามข้อกล่าวหา หรือแม้แต่การพิสูจน์ไม่ได้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คนพวกนี้ก็จะได้รับการนิรโทษร่วมกันไปด้วยใช่หรือไม่
แม้กระทั่ง ตัวของ ทักษิณ ชินวัตร ก็เถอะ หากมีการตีความแบบ “ศรีธนญชัย” มันก็อาจเข้าข่ายด้วย เพราะจะอ้างว่าคนเสื้อแดงที่เข้ามาร่วมชุมนุมนั้นเป็นเพราะมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ไม่มีสั่งการหรือชักชวนเข้ามา ดังนั้นก็อาจเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมด้วย เนื่องจากเป็นการ “หมกเม็ด” เสนอพระราชกำหนดไปรอเอาไว้ข้างหน้าก่อน
หลายอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดี ตามแผนการล่าสุดที่เสนอเข้ามา เพราะถ้าไม่มีใครโวยวายก็ทำได้รวดเร็ว สามารถผ่านทางช่องทางรัฐบาล แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่หมู เพราะเงื่อนไขการออกพระราชกำหนดต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆเท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ว่ามองมุมไหนมันยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นถึงขั้นคอขาดบาดตาย
แม้จะพยายามอาศัยช่วงชุลมุนที่สังคมกำลังหันไปสนใจเรื่องอื่น ยัดเรื่องแบบนี้เข้ามาใต้โต๊ะ แต่รับรองว่าเมื่อมีใครจับได้แล้วร้องโวยวายซักคนมันก็ย่อมทำให้สังคมหันมามองเป็นตาเดียวอยู่ดี เพราะอย่างที่บอกว่าปัจจัยที่คอยอุ้มชูเป็นเกราะป้องกันให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีอยู่เรื่องเดียวอยู่ที่ “ผลงาน” เท่านั้น แต่เท่าที่เห็นมัน “ห่วยแตก” สิ้นดี ทุกอย่างธรรมดามาก ไม่ได้แตกต่าง มันถึงไม่คุ้มกับการต้องลงทุนปกป้องอีกต่อไป อย่าว่าแต่คนอื่นเลย แม้แต่พวกเสื้อแดงด้วยกันเองมันยังเซ็งเลย เวลานี้หากมองพิจารณากันให้ละเอียดก็จะเห็นความแตกแตกภายใน ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินกันลูกเดียว
อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวในเรื่องการเสนอพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในลักษณะ “หมกเม็ด” ดังกล่าว อาจสะดุดลงกลางคันก็เป็นได้ เมื่อล่าสุด ศาลอาญาได้ชี้ออกมาระหว่างการอ่านคำสั่งชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 กรณีการเสียชีวิตของ “นายบุญมี เริ่มสุข” ที่ถูกยิงในระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 แม้ว่าไม่อาจสรุปได้ว่าใครเป็นคนยิง แต่ก็ชี้ว่าถูกยิงจากกระสุนปืนขนาด .223 ที่สำคัญเป็นการชี้ให้เห็นว่าในการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนั้นมีการใช้อาวุธเพราะมีหลักฐานระบุว่ามีการยิงตอบโต้กับเจ้าหน้าที่
ความหมายก็คือ การชุมนุมของคนเสื้อแดงมีการใช้อาวุธ ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ อย่างที่พวกแกนนำพยายามปฏิเสธ และอ้างว่าเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ
คำสั่งของศาลดังกล่าว ยังส่งผลให้ความชอบธรรมในการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ “หมกเม็ด” ให้แกนนำได้พ้นผิด ก็จะลดลงไปอย่างฮวบฮาบทันที เพราะในคำสั่งของศาลที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่มีอาวุธปะปนอยู่ ความหมายไม่ต่างจากการก่อการร้าย เป็นการสอดรับกับข้อหาที่บรรดาแกนนำ รวมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร ได้รับอยู่ในเวลานี้ และเมื่อเป็นก่อการร้าย มีการเผาบ้านเผาเมือง เป็นการจงใจทำลายความมั่นคง ก็ย่อมมีข้อหาร้ายแรง ไม่สมควรที่ต้องลดหย่อนผ่อนโทษได้โดยง่าย
ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันอีกด้านหนึ่ง หากสังเกตให้ดีจะพบว่าในระยะหลังๆ หลายคดีที่บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงตกเป็นผู้ต้องหามักจะถูกตัดสินความผิด ถูกถอนประกัน กันระนาว ไม่ว่าจะเป็นการถอนประกันของ จตุพร พรหมพันธุ์ ก่อแก้ว พิกุลทอง มาจนถึงล่าสุด ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ก็เพิ่งถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาในคดีหมิ่นสถาบัน หรือแม้แต่ กรณีของ อุดม มั่งมีดี อดีตผู้พิพากษาเสื้อแดง ก็ถูกวุฒิสภาลงมติไม่รับรองให้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าทุกอย่างเริ่ม “ถอยร่น” มาเรื่อยๆ ทุกอย่างไม่ได้เป็นใจเหมือนแต่ก่อน และที่สำคัญหากพิจารณาโดยรวมแล้วยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเลย
ดังนั้น กรณีที่ศาลชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม 2553 เป็นการชุมนุมที่มีอาวุธ นั่นย่อมหมายความว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายเป็นการตอกย้ำอีกครั้ง และย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ขณะที่แกนนำทั้งหมดตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ลงมา ล้วนเข้าข่ายเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นการเพิ่มน้ำหนักติดคุกหัวโต และไม่สมควรได้รับการอภัยโทษ!!