xs
xsm
sm
md
lg

“พลังเงียบ”ตัวชี้ขาดเลือกผู้ว่าฯกทม. ปชป.มีเสียว “เสรีพิศุทธ์”ตัดคะแนน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
คาดหมายกันว่า สีสันบรรยากาศการรับสมัครผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ย่านเสาชิงช้า ในวันจันทร์ที่ 21มกราคม 2556 นี้ คงสนุกสนานไม่แพ้ปีไหนๆ

เนื่องจากคนที่จะลงสมัครและหวังชัยชนะจริงๆ จะต้องไปกันตั้งแต่เช้ามืดวันจันทร์ที่ 21 ม.ค.นี้เพื่อเข้าคิวรอจับเบอร์หวังลุ้นเลขสวย ประเภทเลขเบอร์เดียวกันทั้งนั้น

ถึงแม้กทม.จะเปิดรับสมัครกันตลอดทั้งสัปดาห์ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 25 ม.ค. แตเอาเข้าจริงๆแล้ว สายๆวันแรกของการรับสมัคร งานก็กร่อยแล้ว

ใช้เวลาไม่นาน ไม่เกินเที่ยววันก็รู้ผลแล้ว ว่าคนไหนได้เบอร์อะไร จากนั้นทีมงานผู้สมัครแต่ละคน ก็จะรบนำเบอร์ของตัวเองติดป้ายหาเสียงพรึ่บทั่วกทม.และผู้สมัครก็จะขึ้นรถหาเสียงตะเวนจุดสำคัญรอบกทม.เพื่อแนะนำตัวและเบอร์กับคนกรุงเทพฯกันทันที

อย่างไรก็ตาม ใครจะได้นั่งแท่นเบอร์หนึ่งเสาชิงช้า คนกรุงเทพฯยังเชื่อแม้จะมีผู้สมัครหลายคน แต่ยังไงก็เป็นสนามประลองชัยระหว่าง

“มุมแดง-พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เสื้อเพื่อไทย”กับ “มุมน้ำเงิน-ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เสื้อประชาธิปัตย์”

ส่วนที่จะมีผู้สมัครอิสระอย่างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร.หรือโฆษิต สุวินิจจิต อดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม Spring news มาร่วมแจมด้วย

แต่ชั่วโมงนี้ แม้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการเปิดหีบบัตรนับคะแนนกัน ผู้สมัครทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเลือกด้วยกันทั้งสิ้น ดูแล้วถึงชั่วโมงนี้ มองยังไง ก็ยังน่าจะเป็น

การห้ำหั่นกันของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับพล.ต.อ.พงศพัศ

จะเป็นการจำลองการเมืองระดับชาติที่เป็นการแข่งขันกันของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงความคิดและทัศนคติการเมืองเรื่อง เอา-ไม่เอาระบอบทักษิณ ชินวัตรหรือชอบ-ไม่ชอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงมาที่การเมืองท้องถิ่นในเวทีเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ดี

อย่างไรก็ตามทีมข่าวการเมืองก็ขอให้กำลังใจ ว่าที่ผู้สมัครทุกคน ไม่ว่าจะลงในนามพรรคหรือลงอิสระ ให้สู้กันให้เต็มที่ แข่งขันกันอย่างขาวสะอาด ช่วยกันรณรงค์ให้คนกรุงเทพฯออกมาใช้สิทธิ์กันมากๆ ขอให้แข่งขันประชันกันที่ผลงาน-นโยบาย-คุณสมบัติอันโดดเด่นของผู้สมัคร

ถึงเวลา คนกรุงเทพฯจะเป็นคนตัดสินเองว่าจะให้ใครเป็นผู้ว่าฯกทม.

การเมืองรอบสัปดาห์หน้าไปจนถึงวันเลือกตั้ง 3 มีนาคม การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะเป็นจุดโฟกัสสำคัญทางการเมือง ที่ต้องถูกพูดถึงในหลายแง่มุมแน่นอน

เบื้องต้นคอการเมืองประเมินกันไว้ตอนนี้ว่าคะแนนคนที่จะชนะเลือกตั้ง อาจได้น้อยกว่า 2-3 ครั้งที่ผ่านมา คืออาจแค่เฉียดๆ 9 แสนคะแนนเท่านั้น แต่ไม่น่าทะลุเกิน 9 แสนกว่าคะแนนไปจนถึง 1 ล้านคะแนนอย่างที่บางคนเช่นสมัคร สุนทรเวช เคยทำได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ที่ได้ไป1,016,096 คะแนน

หรือที่อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.สองสมัยที่เคยชนะเลือกตั้ง ในปี 2547 โดยได้ 911,411 คะแนน และอีกครั้งในปี 2551 ที่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 991,018 คะแนน

แม้แต่กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งครั้งที่แล้วได้ 934,602 คะแนน มาครั้งนี้ ก็เชื่อได้ว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สนใจไปที่ชัยชนะเป็นหลักมากกว่าแล้ว

เพราะการจะให้คะแนนสุขุมพันธุ์ไต่สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งประชาธิปัตย์และสุขุมพันธุ์ก็รู้ตัวว่า พ.ศ.นี้ ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา!

เอาแค่รักษาคะแนนเดิมตรงนี้ให้ได้หรือหายไปแต่ไม่มาก ก็พอใจแล้ว เพราะนั่นหมายถึงโอกาสชนะมีสูง แต่ที่ไม่มั่นใจก็เพราะกลัวคะแนนจะหายไปเยอะ

ที่น่าจับตาอย่างหนึ่ง ก็คือ คะแนนที่ผู้สมัครอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หลายครั้ง ผู้สมัครอิสระมักได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 แสนคะแนน-3.5 แสนคะแนน มากน้อยเฉลี่ยกันไปตามความแรงและความเด่นดังของตัวผู้สมัครอิสระแต่ละคนรวมถึงบริบทการแข่งขันในแต่ละช่วง

ยกตัวอย่างเช่นเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 47 ที่อภิรักษ์ชนะเลือกตั้งสมัยแรก ตอนนั้นชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ที่เพิ่งลงเล่นการเมืองครั้งแรก หลังโด่งดังจากคดีรื้อถอนบาร์เบียร์และการออกมาแฉเรื่องส่วยตำรวจจนโด่งดังไปทั่วประเทศ ก็ได้ไปถึง 334,168 คะแนน ทั้งที่ไม่มีฐานการเมืองอะไรเลย แต่ได้คะแนนมากขนาดนั้นเพราะคนกรุงเทพฯสะใจที่มีคนกล้าชนกับเรื่องชั่วๆของวงการตำรวจ

และปีเดียวกันนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สมัยยังไม่ได้เป็นขี้ข้าทักษิณเหมือนตอนนี้ ก็ลงสมัครอิสระเหมือนกันแต่ก็ได้แค่ 165,761 เช่นเดียวกับร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ที่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ยังไม่ได้เป็นส.ส.เพื่อไทยแบบเวลานี้ ก็ลงสมัครอิสระเหมือนกันก็ยังได้ไป135,369 คะแนน

หรืออย่างเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 51 ที่อภิรักษ์ได้เป็นผู้ว่าฯสมัยที่สอง ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ก็ลงสมัครอีกครั้ง หลังเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคชาติไทยมาแล้ว ก็ได้ 340,616 คะแนน แม้แต่กับดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ที่ก็ไม่ได้มีฐานเสียงอะไรก็ยังได้ 260,051 คะแนน

และล่าสุดกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อปี 2551 ที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะเลือกตั้ง ผู้สมัครอิสระที่ไม่ได้มีผลงานอะไรนอกจากโผล่ทางสื่อแล้วคิดอยากเล่นการเมืองอย่าง ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล ก็ได้ไป 334,846 คะแนน ขณะที่แก้วสรร อติโพธิที่เพิ่งพ้นจากการเป็นกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ก็ลงอิสระก็ได้คะแนนปลอบใจมา 144,779 คะแนน

เมื่อดูตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่า คะแนนผู้สมัครอิสระ ขอให้ชื่อพอเป็นที่รู้จักบ้าง ไม่ใช่พวกโนเนม และมีการหาเสียงจริงจังต่อเนื่อง ไม่ใช่ไปยื่นสมัครแล้วนอนอยู่กับบ้าน คะแนนเฉลี่ยก็จะอยู่ที่เกินแสนขึ้นไปทั้งสิ้น แต่ก็ต้องอยู่ที่ความโดดเด่นของตัวผู้สมัครอิสระด้วยว่าเด่นพอหรือไม่

กลุ่มคนกรุงเทพฯที่มักเลือกผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ก็จ้องจะไปเอาคะแนนมาใส่พรรคตัวเองให้ได้ เพราะเป็นกลุ่มฐานคะแนนที่สำคัญอย่างมาก

หากเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ทำให้คนกรุงเทพฯเห็นว่า เลือกผู้สมัครสังกัดพรรคดีกว่า และต้องเลือกพรรคของตัวเอง หากทำสำเร็จ คะแนนที่จะได้รับ จะเป็นตัวบวกสำคัญในการเพิ่มคะแนนเสียงให้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

อย่างพรรคเพื่อไทย ก็ตั้งเป้าวางแผนหาเสียงกันแล้วว่าจะไปโกยคะแนนในส่วนนี้มาให้ได้ ด้วยการทำให้เห็นว่า พล.ต.อ.พงศพัศเป็นของสดใหม่ทางการเมือง มีความตั้งใจจริง แม้จะสังกัดพรรคเพื่อไทยก็ตาม

ถ้าเพื่อไทยทำได้ ก็จะทำให้ฐานคะแนนของเพื่อไทยในกทม.ที่มีอยู่ประมาณ 5-6 แสนคะแนน โดยดูจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 2551 ที่เพื่อไทยซึ่งเวลานั้นคือพรรคพลังประชาชนส่ง ประภัสร์ จงสงวน ลงสมัครแข่งกับอภิรักษ์ที่ลงสมัครครั้งที่สองและกระแสอภิรักษ์ฟีเวอร์ก็แรงสุดๆ แต่ประภัสร์ก็ยังได้ 543,488 คะแนน

จนมาเมื่อเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในปี2552 ขนาดว่าช่วงนั้นเพื่อไทยตกต่ำสุดๆ แล้ว ถึงกับต้องลากยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตส.ส.กทม.มาลงสมัครเพราะหาคนที่ดีกว่าไม่ได้ แต่ปรากฏว่ายุรนันท์กลับได้ 611,669 คะแนน ที่เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่พรรคคาดไว้เสียอีก

แสดงให้เห็นว่า ฐานของเพื่อไทยในกรุงเทพมหานคร เมื่อดูจากผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.สองครั้งหลังสุดรวมถึงการทำโพลของพรรคเพื่อไทยในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะก่อนการประกาศเปิดตัวส่งพล.ต.อ.พงศพัศ

พบว่าคะแนนนิยมของเพื่อไทยในกทม.ก็อยู่ที่ฐานคะแนน 6-7 แสนคะแนน ซึ่งหากกระแสคนกรุงเทพฯตอบรับพล.ต.อ.พงศพัศ รวมถึงอัดแคมเปญหาเสียงดีๆ ให้ตรงเป้า เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ เพื่อไทย ก็ยังเชื่อว่า การที่จะทำให้พล.ต.อ.พงศพัศชนะสุขุมพันธุ์ เป็นเรื่องที่ทุกอย่างเป็นไปได้

ว่าไปแล้ว หากดูตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่ไม่สังกัดพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่าไม่หวือหวาเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา

แบบนี้ มันก็อาจมีสิทธิ์สูงที่คนกรุงเทพฯที่คิดจะเลือกผู้สมัครอิสระ อาจเปลี่ยนใจมาเลือกผู้สมัครสังกัดพรรคก็ได้

ก็อยู่ที่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์แล้วว่า ใครจะแย่งคะแนนคนกรุงเทพฯส่วนนี้ไปได้ เพราะนั่นหมายถึง “เค้กก้อนสำคัญ”ที่มีผลต่อการแพ้หรือชนะไม่ใช่น้อย

แถมผู้สมัครอิสระอย่างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อดีตวีรบุรุษนาแก หลายคนก็มองว่า คนที่จะเลือกพล.ต.อ.น่าจะเป็นพวกไม่เอาเพื่อไทย-เกลียดรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ต่อต้านเสื้อแดง ซึ่งน่าจะเป็นคนกรุงเทพฯที่เป็นฐานเสียงเดียวกันกับสุขุมพันธุ์เสรีพิศุทธ์

ทำให้ตอนนี้คนในพรรคประชาธิปัตย์ประเมินไว้เหมือนกันว่า ไปๆมาๆ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะมาตัดคะแนนสุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม พบว่าแผนงานหาเสียงหลักของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เวลานี้ นอกจากมุ่งไปที่การรักษาป้อมปราการของตัวเองคือฐานคะแนนของพรรคเดิมเอาไว้แล้ว จะมุ่งเน้นไปที่การชนะใจ คนกทม.ที่เป็นพวกตอบโพลทุกสำนักและทุกครั้งว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขุมพันธุ์-พล.ต.อ.พงศพัศ-พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่เป็นคนกทม.กลุ่มใหญ่ที่สุด

เพราะถ้าพรรคไหนทำสำเร็จ คือทำให้คนกทม.กลุ่มนี้เลือกคนของตัวเองให้ได้ นั่นหมายถึง ชัยชนะเห็นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น