xs
xsm
sm
md
lg

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชามติคนกรุงไม่เอาทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนที่จะมีข้อสรุปชัดเจนว่า การทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ จะมีขึ้นหรือไม่ คนกรุงเทพฯ มีโอกาสก่อนคนทั่วประเทศในการลงประชามติว่า ยินยอมจะให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ส่งตัวแทนมายึดอำนาจการบริหารกรุงเทพมหานครหรือไม่ โดยการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 มกราคมนี้

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัยหนึ่ง

ส่วนพรรคเพื่อไทยจะเปิดตัวผู้สมัครอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มกราคมนี้ แต่เป็นที่คาดหมายว่า จะเป็นพลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) นายตำรวจอีกคนหนึ่งที่ได้ดี เพราะยอมเป็นขี้ข้าทักษิณ

ความไม่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทยว่าจะส่งใครลงชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม.ต้องรอจนกระทั่งนาทีสุดท้ายจึงจะประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ลึกล้ำอะไรหรอก แต่เป็นเพราะ พรรคเพื่อไทยไม่มีตัว ส่งใครลงก็แพ้ จะแพ้มากแพ้น้อยเท่านั้น หากพลตำรวจเอกพงศพัศยอมลงสมัครจริงก็แสดงว่า เขายอมสละตัวเองในวันนี้ ลงแข่งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.แพ้แน่ ก็เพื่อผลตอบแทนในวันข้างหน้า

นช.ทักษิณไม่เคยประสบชัยชนะในสนามเลือกตั้ง กทม.ทั้งสนามใหญ่คือ การเลือกตั้ง ส.ส.และสนามเล็กคือผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภา กทม. และสภาเขต ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดเก้าอี้ผู้ว่าเมืองหลวงมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้ง ได้คะแนนเก้าแสนกว่าคะแนน ชนะที่สองคือนางปวีณา หงสกุล ซึ่งลาออกจากพรรคชาติพัฒนา มาเป็นผู้สมัครอิสระ แต่เป็นที่รู้กันว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทย อย่างขาดลอย ที่สามคือนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ และที่สี่ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งลงสมัครอิสระ เช่นเดียวกัน

อีก 4 ปีต่อมา ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 นายอภิรักษ์ชนะอีกครั้งได้คะแนน 990,000 คะแนน พรรคพลังประชาชน ส่งนายประภัสร์ จงสงวน ลงชิงชัย แต่ได้รับคะแนนเพียง 540,000 คะแนน แต่หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน นายอภิรักษ์ถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชิต หรือ ป.ป.ช.ชึ้มูลความผิด กรณีจัดซื้อรถดับเพลิง จนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 จึงต้องมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง

การเลือกตั้งในวันที่ 11 มกราคม 2552 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ลงสมัคร ส่วนพรรคเพื่อไทยส่งนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผลปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนน 930,000 กว่าคะแนน เอาชนะพรรคเพื่อไทยได้อย่างขาดลอยอีกครั้งหนึ่ง โดยนายยุรนันท์ได้คะแนนประมาณ 6 แสนกว่าคะแนน

ปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น คือกระแสการเมืองในขณะนั้น ผลการเลือกตั้งใน กทม.จึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่สถานการณ์การเมืองและอารมณ์ของคนกรุงในแต่ละช่วง

แต่ดูเหมือนว่าตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่ นช.ทักษิณทรงอำนาจยิ่งใหญ่สุดขีดและเริ่มออกลายแล้ว มาจนถึงปัจจุบัน อารมณ์ของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะชนชั้นกลางเริ่มนิ่งและตกผลึกแล้ว เป็นการตกผลึกที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นพฤติกรรมของ นช.ทักษิณชัดขึ้นทุกที จนก่อตัวเป็นกระแสไม่เอาทักษิณที่เข้มแข็งในกรุงเทพฯ

ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีฐานที่มั่นในกรุงเทพฯ ที่มั่นคง และคะแนนนิยมในตัวบุคคล แต่ชัยชนะที่ทิ้งห่างพรรคพลังประชาชน ต่อมาจนถึงพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เกิดจากกระแสไม่เอาทักษิณ ของคนกรุงเทพฯ เป็นด้านหลัก

พรรคเพื่อไทยจะส่งใครลงสมัครก็ตามแต่ ทั้งในนามพรรค หรือลงสมัครอิสระ คนกรุงเทพฯ ต่างรู้กันว่าเป็นพวกทักษิณ จึงเป็นความยากลำบากของพรรคเพื่อไทยในการหาตัวผู้สมัครที่รู้ว่าถึงอย่างไรก็แพ้ จะแพ้เท่าไรเท่านั้น จึงต้องรอถึงนาทีสุดท้ายกว่าจะประกาศตัวผู้สมัครอย่างเป็นทางการได้

คู่แข่งของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หนนี้ ไม่ใช่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์แต่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่จะออกไปลงคะแนนเสียงเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ให้ชนะอีกหนอย่างถล่มทลาย ไม่ใช่เพราะชื่นชอบในตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธ์หรือนโยบาย แต่เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองให้ นช.ทักษิณเห็นชัดๆ อีกครั้งว่าคน กทม.ไม่เอาทักษิณและพรรคเพื่อไทย คนกทม.ไม่ต้องการเลือกคนที่ยุยงให้เผาบ้านเผาเมืองมานั่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร


กำลังโหลดความคิดเห็น