“ส.ว.คำนูณ” แนะผู้แทนไทยแถลงต่อศาลโลกสู้คดีเขาพระวิหาร 4 ข้อ ซัดเขมรใช้สิทธิ์ไม่สุจริต ยันปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วน พร้อมสงวนสิทธิ์ไม่ทำตามคำสั่งที่กระทบต่ออธิปไตย แนะรัฐทำประชามติหากผลการตัดสินมีผลต่อชาติจะให้ปฏิบัติตามหรือไม่ ด้าน “ส.ว.สมชาย” ไม่สบายใจทหารบุก “ผู้จัดการ” ชี้คุกคามสื่อชัด ขอ ผบ.ทบ.อย่าส่งสัญญาณว่าทำได้
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ก่อนเข้าสู่วาระ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา หารือถึงกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ว่าประเทศไทยไม่ได้ประกาศรับรองเขตรับอำนาจศาลระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มาตั้งแต่ 9 พฤษภาคม 2503 เป็นเวลา 50 ปี 11 เดือน ก่อนที่กัมพูชาจะฟ้องไทยอีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน 2554 กรณีนี้แตกต่างจากกรณีปราสาทเขาพระวิหารรอบแรกที่กัมพูชาฟ้องไทย เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนที่จะประกาศปฏิญญาฝ่ายเดียวหมดอายุลง 8 เดือน สองภาคนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้กัมพูชาจะอ้างว่ายื่นฟ้องครั้งนี้เป็นคดีเก่า ตามธรรมนูญศาลมาตรา 60 ในกรณีที่มีข้อพิพาทต่อขอบเขตหรือความหมายของคำพิพากษา ให้ตีความได้ตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดอายุ หรือระยะเวลาไว้
นายคำนูณกล่าวอีกว่า จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา (กมธ.) ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอเสนอให้คณะผู้แทนไทย แถลงในวันที่ 17 และ 19 เมษายนนี้ ใน 4 ประเด็น คือ 1. กัมพูชาใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กรณีนี้ไม่ใช่การตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 แต่เป็นการอุทธรณ์คดีเก่า หรือขอแก้คำพิพากษาคดีเก่า 2. อาศัยหลักกฎหมายปิดปากมาต่อสู้กับกัมพูชา ไทยปฏิบัติครบถ้วนตามคำพิพากษาเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 โดยมติคณะรัฐมนตรียุคจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัตน์ เมื่อ 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ได้คัดค้าน 3. ศาลจะพิพากษาใหม่ได้ ต่อให้เป็นมาตรา 60 ก็เฉพาะในประเด็นแห่งคดี ไม่ใช่เรื่องเขตแดน หรือแผนที่ 4. ผู้แทนไทยจะต้องสงวนสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาในกรณีที่กระทบต่ออธิปไตยของชาติ ในระยะเฉพาะหน้าต่อจากนี้ไปจนมีคำพิพากษาจนและหลังมีคำพิพากษา ขอเสนอแนะให้รัฐบาลอาศัยความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลักพิงต้องไม่จำกัดหรือตำหนิ ความคิดเห็นของประชาชน ที่สุดถ้ามีคำพิพากษามีผลต่ออำนาจอธิปไตย ให้รัฐบาลทำประชามติขอเสียงประชาชนว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้หารือกรณีที่กำลังทหารบุกไปยังสำนักงาน นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ ว่าตนไม่กล้าตำหนิหรือเตือนทั้ง ผบ.ทบ.และนสพ.ผู้จัดการ แต่การที่ทหารบุกไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ดังกล่าวถึง 2 วัน ตนไม่สบายใจ อยากให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น วันนี้บ้านเมืองเรามีวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบแปลกๆ ไม่พอใจก็บุก เช่น ตำรวจบุกไปพรรคประชาธิปัตย์ บุกศาล บุก กกต. และ ป.ป.ช. และวันข้างหน้าก็คงจะบุกสภาทำเนียบกันอีก การที่ทหารใส่เครื่องแบบบุกไปถือเป็นการละเมิด คุกคามสิทธิในการทำหน้าสื่อสารตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ไม่อยากให้ ผบ.ทบ.และหัวหน้าหน่วยทั้งหลายส่งสัญญาณที่ผิดว่าสิ่งเหล่านี้สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ถ้าเกิดไม่พอใจการเขียนข่าวขอให้ดำเนินการดังนี้ 1. ให้โฆษกกองทัพบกแถลงชี้แจงตอบโต้ 2. ส่งผู้ช่วยเสธ.ฝ่ายกิจการพลเรือนซึ่งมีหน้าที่ไปทำความเข้าใจกับบรรณาธิการข่าว 3. ถ้าดำเนินการแล้วยังไม่ยุติก็ให้ฟ้องร้องดำเนินคดี และ 4. ถ้าจะแสดงความไม่พอใจหรือจะชุมนุมก็ให้ทำภายในหน่วยอย่างพองาม เรื่องแบบนี้แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ตนเห็นว่ากองทัพยังเป็นเสาหลักที่จำเป็นในการรักษาราชบัลลังก์ และการรักษาความมั่นคงของประเทศ จึงอยากให้กองทัพรักษาคำว่าเกียรติ วินัย กล้าหาญ อดทน ไม่ควรดำเนินการเหมือนม็อบอื่นๆ ซึ่งในวันข้างหน้าท่านจะยังมีศรัทธาต่อประชาชนอยู่ จึงอยากให้เรื่องนี้จบลงและให้อภัยซึ่งกันและกัน