คณะทำงานประชามติถกเครียด เหตุสะดุดกฎหมายอื้อ โยน กกต.หาช่อง “พงศ์เทพ” รับหน้าเสื่อประสานสถาบันศึกษาหาทางออกแก้ รธน. “วราเทพ” หวั่นเป็นหมัน หากถูกร้องศาลปกครองหลังประกาศทำประชามติ อ้อมแอ้มหาทางเขียน กม.ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงาน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ทั้งนี้ได้มีผู้แทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.และทีมคณะกฎหมาย กกต.เข้าร่วมหารือ
ภายหลังการประชุมราว 2 ชั่วโมง นายพงศ์เทพเปิดเผยว่า ในครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนจาก กกต.มาร่วมหารือถึงการเตรียมทำประชามติ ซึ่งเลขาธิการ กกต.แจ้งในที่ประชุมว่าระเบียบการทำประชามติขณะนี้อยู่ในระหว่างยกร่างระเบียบที่อย่างช้าไม่เกินเดือน ก.พ.จะแล้วเสร็จ หรืออย่างเร็วภายในปลายเดือน ม.ค. ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ถาม กกต.ว่าการทำประชามติสามารถใช้หลายหน่วยงานดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากมีมุมมองทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งทาง กกต.ได้แสดงความห่วงใยว่า มีกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการออกเสียงประชามติในเรื่องของการตีความที่ยังไม่ชัดเจน
นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า คณะทำงานฯ ได้ส่งประเด็นให้ กกต.พิจารณาว่าการออกเสียงประชามติเมื่อเทียบกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีข้อโต้แย้งหรือไม่ ซึ่งการออกเสียงประชามติมี 2 แบบคือ เพื่อหาข้อยุติหรือการขอคำปรึกษา จึงให้ กกต.กำหนดว่าแบบไหนจะมีปัญหาน้อยที่สุด โดยให้เลขาธิการ กกต.นำเรื่องไปแจ้งต่อ กกต.คณะใหญ่ ที่หากมีผลสรุปอย่างไรจะแจ้งกลับมายังคณะทำงานฯ หรือให้มีการหารือร่วมกันอีกครั้ง
นายพงศ์เทพกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาในส่วนข้อเสนอที่จะให้สถาบันการศึกษา 3 แห่งเข้ามาศึกษาเพื่อร่วมหาทางออกตามแนวทางของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเพื่อให้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยแต่ละแห่งจะจัดทำและวิเคราะห์ศึกษาอย่างอิสระ ทั้งมุมมองในแง่นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งตนจะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานที่กำหนดระยะเวลาการศึกษาประมาณ 60 วัน โดยจะมีการประสานไปภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งต้องไปดูว่าสถาบันที่มีคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ที่มีบุคลากรเพียงพอและมีประสบการณ์ที่จะทำเรื่องนี้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนข้อห่วงใยของทาง กกต.ที่ระบุว่ากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติมีรายละเอียดอย่างไร นายพงศ์เทพกล่าวว่า ทาง กกต.ชี้แจงว่าการทำประชามติตามกฎหมายระบุไว้ว่าต้องทำในวันและเวลาเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศก็ต้องทำในวันเดียวกันด้วย ซึ่ง กกต.ระบุว่าวันเวลาเดียวกันในไทยกับต่างประเทศจะไม่ตรงกัน เป็นต้น
ด้านนายวราเทพกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อกังวลว่า ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 กำหนดไว้ว่าการลงประชามติต้องทำภายใน 120 วัน หลังจากมีการออกประกาศซึ่ง 90 วันแรกเป็นการเผยแพร่ข้อมูล ทั้งนี้ หากมีการร้องศาลปกครองภายใน 30 วันหลังออกประกาศว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้วก็เป็นปัญหา หากศาลปกครองพิจารณาคดีเกิน 120 วัน ตรงนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดทางออกไว้ว่าหากการทำประชามติใช้เวลาเกิน 120 วันต้องทำอย่างไร
นายวราเทพกล่าวอีกว่า วันนี้ได้สอบถาม กกต.ถึงเรื่องการทำประชามติ โดย กกต.ในฐานะผู้ดำเนินงานจัดทำการทำประชามติตามมาตรา 11 ซึ่งจะต้องมีการขอความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่จะสนับสนุนการดำเนินการ โดยประเด็นที่ต้องการให้ชัดเจน คือ สามารถมีหน่วยงานของรัฐสนับสนุนหลายหน่วยงานได้หรือไม่ ซึ่งต้องรอคำตอบจาก กกต.ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าการรับรองผลประชามติจะผ่านเกณฑ์หรือไม่ ถ้าหากมีการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยที่เคยสนับสนุนการเลือกตั้งเพราะฉะนั้นบทบาทของกระทรวงมหาดไทยคือบทบาทตามมาตรา 10 ในฐานะผู้จัดทำประชามติ คือกระทรวงมหาดไทยต้องทำหน้าที่เผยแพร่การทำประชามติ ซึ่งคณะทำงานเป็นห่วงว่าข้อมูลที่ไปเผยแพร่จะเป็นการชี้นำหรือไม่
เมื่อถามว่าจะมีการแก้ข้อกฎหมายข้อที่ขัดแย้งหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ไม่ใช่ขัดแย้งแต่เป็นอุปสรรค ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่มีความเห็นแตกต่างซึ่งอาจนำไปสู่การร้องต่อศาลปกครองและทำให้การทำประชามติสะดุดไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ขณะที่นายจารุพงศ์กล่าวเสริมถึงการทำจัดทำประชาเสวนาว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการ ซึ่งได้ฝากให้ กกต.ลงความเห็นว่าการทำประชาเสวนาสามารถทำควบคู่กับการทำประชามติได้หรือไม่ หรือต้องทำอะไรก่อนหรือหลัง