“นิคม” หนุนแนวทางทำประชามติก่อนลงมติแก้ไข รธน.วาระ 3 เชื่อลดความขัดแย้ง ระบุถ้าดำเนินการตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องเสียเวลาเป็นครึ่งปีแบบนี้
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความเห็นให้ชะลอลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยให้ทำประชามติก่อนว่า เท่าที่ติดตามข่าวนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งก็ถือเป็นการปรับตามความเห็นที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธานคณะทำงานได้มีการพิจารณามาแล้ว ซึ่งถือเป็นการถอยมาเพื่อทำตามข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยให้ไว้ อีกทั้งตนเชื่อว่าเรื่องนี้จะทำให้ความขัดแย้งสงบลง ส่วนกระบวนการในการทำประชามติจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องไปดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 โดยกระบวนการน่าจะเสร็จภายใน 90-120 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติสามารถทำได้เลยตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือต้องมีการออกกฎหมายอื่นเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 วรรค 3 ที่ระบุว่า การจัดออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคล คณะบุคคลจะกระทำมิได้ นายนิคมกล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลคงต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูในเรื่องของข้อกฎหมายว่าจะขัดหรือไม่
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลจะส่งคนมาพูดคุยกับประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาในขั้นตอนการเริ่มทำประชามติหรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า ขณะนี้ตนก็รออยู่แต่รัฐบาลยังไม่มีการประสานมาแต่อย่างใด แต่หากมีการประสานมาจะให้ฝ่ายกฎหมายดูข้อกฎหมายก่อน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตนและประธานสภาฯก็คงมีความเห็นไปในทางเดียวกัน เพราะพูดในทางเดียวกันมาตลอดว่าควรทำประชามติก่อนเช่นดียวกับแนวทางศาลรัฐธรรมนูญเคยให้คำวินิจฉัยไว้
ส่วนที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมไปพิจารณาว่าจะมีการทำประชามติหรือสานเสวนานั้น จะถูกมองว่าหน่วยงานของรัฐมีส่วนได้เสียหรือไม่ แล้วเหตุใดจึงไม่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะองค์กรอิสระเป็นผู้ดำเนินการนั้น นายนิคมกล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลเห็นว่าสามารถใช้เครื่องมือในการดำเนินการ และตนก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ส่วนที่จะให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการก็ทำได้เช่นกัน แต่ กกต.ก็ต้องไปใช้บุคลากรส่วนท้องถิ่นหรือจังหวัดคอยช่วยดำเนินการอยู่ดี เพราะ กกต.เป็นเพียงผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
ส่วนที่มีการมองว่ารัฐบาลมีส่วนได้เสีย ตนก็ยังมองไม่ออกเลย เพราะเรื่องนี้ก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดีต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเช่นกัน
“ผมคิดว่ากระบวนการทำประชามติควรจะดำเนินการมาตั้งนานแล้ว ซึ่งถ้าทำตั้งแต่แรกก็คงไม่ต้องเสียเวลาครึ่งปี ดังนั้นตอนนี้ควรที่จะเร่งดำเนินการเพราะถ้ายิ่งช้าจะยิ่งเสียโอกาสการรับรู้ การทำความเข้าใจกับประชาชน และผมเห็นว่าถึงจะช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ”
นายนิคมกล่าวอีกว่า สำหรับกรอบระยะเวลาทำประชามติ 2-3 เดือน จะเพียงพอทำความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่นั้น ตนคิดว่าถ้าทำเต็มที่ก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งไม่ว่าท้ายที่สุดรัฐบาลหรือ กกต. จะเป็นผู้ดำเนินการก็ต้องชี้ให้ประชาชนเข้าใจรายละเอียดที่ถูกต้องชัดเจนด้วย ไม่เช่นนั้นจะเข้าใจไขว้เขวได้ แต่ถ้าประชาชนได้ข้อมูลเพียงพอก็จะตัดสินใจได้เองว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถือเป็นประโยชน์ที่อาจจะนำไปสู่การเดินหน้าสร้างความปรองดองสามนฉันท์ของชาติกลับคืนมาได้
นายนิคมกล่าวต่อว่า เมื่อมีการทำประชามติการโหวตวาระ 3 ก็ต้องหยุดไว้ก่อน ถ้าผลประชามติออกมาว่าให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเราก็สามารถลงมติวาระ 3 ที่ค้างในสภาฯ ได้เลย ฝ่ายที่คัดค้านจะมาค้านอีกไม่ได้ เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ยอมรับแล้ว ขณะเดียวกันการแก้รายมาตราระหว่างการทำประชามติก็สามารถทำได้เช่นกัน
ส่วนข้อเสนอที่ ส.ว.บางกลุ่มให้เสนอญัตติถอนโหวตวาระ 3 ออกไปนั้นเป็นเรื่องที่พูดได้แต่ไม่มีใครปฏิบัติ ในเมื่อขณะนี้เดินมาไกลแล้วก็ต้องหันกลับไปใช้อำนาจของประชาชนตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย