กกต.เผยประชามติแก้ รธน. เสียงต่างกัน ถ้าให้มีข้อยุติต้องเกินกึ่งหนึ่ง และต้องบังคับ ครม.ทำตาม หากขอคำปรึกษาถือเสียงข้างมากอย่างเดียว แต่ ครม.จะทำตามหรือไม่ก็ได้ ชี้ควรทำในลักษณะหาข้อยุติมากกว่า แจงอำนาจทำประชามติเป็นของรัฐบาล แต่อำนาจแก้ไข รธน.เป็นของสภา ไม่ว่าผลประชามติออกมาอย่างไรไม่ผูกพัน สามารถเดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้
วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงรัฐบาลเตรียมจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 165 ให้การทำประชามติเป็นอำนาจของ ครม.และเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ตรงตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดให้สามารถทำประชามติได้ จึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อมีข้อยุติ หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม. เพราะทั้ง 2 กรณีจะใช้จำนวนเสียงจำนวนเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงแตกต่างกัน โดยหากเป็นการทำประชามติออกเสียงเพื่อให้มีข้อยุตินั้น ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามติ และถ้าผลของประชามติในกรณีนี้ออกมาอย่างไรจะผูกพันให้ ครม.ต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นการทำประชามติเพื่อขอคำปรึกษาแก่ ครม.ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ ซึ่งในกรณีนี้ผลที่ออกมา ครม.จะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้
“กกต.คงจะไปให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงหรือเป็นที่ปรึกษาอะไรกับรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลตั้งใจจะทำแบบไหน ตามกฎหมาย กกต.เป็นเพียงผู้รับจ้าง แต่ก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน อีกทั้งเป็นกฎหมายสูงสุดเมื่อจะมีการแก้ไข การจะทำประชามติถามประชาชนก็ควรเป็นการทำในลักษณะหาข้อยุติ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการขอคำปรึกษา เพราะถ้าจะขอคำปรึกษาควรเป็นประเด็นถามประชาชนว่าควรให้มีการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 หรือไม่” นางสดศรีกล่าว
เมื่อถามว่า การทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม.เสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่ระบุว่าให้ ครม.ทำประชามติได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศ เช่น สมควรสร้างแก่งเสือเต้นหรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า ขณะนี้บ้านเมืองไม่ปกติ รัฐบาลถูกฟ้องได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ถ้าไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ระบุว่าหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมควรที่จะต้องถามประชาชนเสียก่อน ขณะเดียวกัน กฎหมายก็เขียนให้อำนาจการทำประชามติเป็นของรัฐบาล แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ดังนั้นจึงต้องแยกกัน ถ้าหากรัฐบาลทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ได้ข้อยุติว่า ไม่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้หมายความว่าสภาจะต้องหยุดโหวตวาระ 3 เพราะเป็นคนละส่วนกัน แต่หากผลการทำประชามติออกมาประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเป็นกำแพงให้รัฐบาลพิงเพื่อเดินหน้าโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไป