xs
xsm
sm
md
lg

มันเอาแน่... ชำเรารัฐธรรมนูญ ช่วย “ทักษิณ”รอดคุกได้เงินคืน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

ทักษิณ ชินวัตร
บทสรุปของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีหัวหน้าคณะทำงานคือโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แม้จะบอกว่าพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรก็เป็นสิทธิ์

แต่สุดท้ายดูแล้วหากพรรคเพื่อไทยสั่งให้เดินหน้า ก็ยากที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน-พลังชลจะไม่เอาด้วย หรือแม้แต่คนในรัฐบาลเองอย่างร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่ทำเป็นอิดออดบอกรัฐบาลไม่ควรรีบเร่งในเรื่องนี้ แต่ถึงเวลาจริงๆ คงยากจะไม่เอาด้วยหากมีมติพรรคออกมาให้ส.ส.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3

แม้บางพรรคจะทำเป็นดึงดันบอกอย่าเพิ่งรีบเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้รัฐบาลพังก่อนกำหนด แต่ถึงเวลาจริงๆ คงยากจะไม่เอาด้วยกับพรรคเพื่อไทย

เพราะขืนแตกแถว ก็มีสิทธิจะโดนเขี่ยออกจากพรรคร่วมรัฐบาล แล้วเอาพวกพรรคฝ่ายค้านเวลานี้อย่างภูมิใจไทยโดยเฉพาะกลุ่มมัชฌิมาของสมศักดิ์ เทพสุทินทอดไมตรีขอเข้าร่วมรัฐบาลมาปีกว่าแล้วมาเสียบแทนเสียเลย

สำคัญก็แต่ว่า เพื่อไทยที่มีเสียงส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรจะเอาอย่างไร จะมีมติเห็นด้วยหรือไม่กับข้อสรุปของคณะทำงานฯดังนี้

1.การลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องทำหน้าที่ลงมติในวาระ 3 ต่อไป เพราะมีญัตติค้างอยู่ในรัฐสภา ประกอบกับตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ลงมติวาระ 3 ใน 15 วันหลังจากลงมติวาระ 2 ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

2.วันที่ 10 ธ.ค.นี้จะเป็นวันครบรอบ 80 ปีของรัฐธรรมนูญไทย จึงให้วันที่ดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงการแก้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยโดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เป็นผู้รับผิดชอบ

3. แนวทางการจัดทำประชามติก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตุลาการรัฐธรรมนูญเคยให้ความเห็นนั้น ทางคณะทำงานพรรคร่วมเห็นพ้องกันว่าหลังจากลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 และเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก่อนจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญย่อมต้องจัดทำประชามติถามความเห็นของประชาชนอยู่แล้วว่าต้องการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแนวทางนี้ถือเป็นการจัดทำประชามติก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สอดคล้องกับความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

4.สำหรับแนวทางการแก้ไขรายมาตราถือเป็นอำนาจของรัฐสภาในการดำเนินการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้มีการลงมติในวาระ 3เกิดขึ้นก่อนจึงจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตราต่อไป

“ทีมข่าวการเมือง”ไม่ได้แปลกใจอะไรเลยกับแนวทางทั้ง 4 ข้อดังกล่าว

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือคณะทำงานชุดโภคิน ซึ่งมีพวกแกนนำพรรคเพื่อไทยอยู่ในคณะทำงานชุดนี้อย่างโภคิน พลกุล มือกฎหมายคนสำคัญของทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย-พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ-ภูมิธรรม เวชยชัย ผอ.พรรคเพื่อไทย -ชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายเพื่อไทย-วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ลำพังแค่ “โภคิน-พงศ์เทพ-วราเทพ-ภูมิธรรม” แก๊งออฟโฟร์สี่คนนี้ก็ถือว่าเป็นแกนนำพรรคที่ทักษิณ ชินวัตรและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไว้เนื้อเชื่อใจในการวางแผนการเดินเกมการเมืองของเพื่อไทยและยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว

ดังนั้นเมื่อกรรมการชุดนี้มีข้อสรุปออกมาว่าให้เดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไปเลย โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในคดีคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดรธน.มาตรา 68 ที่ศาลรธน.ได้วินิจฉัยไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการโหวตแก้ไขรธน.วาระ 3 คณะทำงานก็เสนอว่า แล้วทำไมจึงไม่เดินหน้าโหวตให้สิ้นเรื่องสิ้นราวเพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย-ชาติไทยพัฒนาได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมรัฐสภาและมีการโหวตไปแล้วทั้งวาระแรกและวาระสอง

แต่พอจะโหวตวาระสาม ก็ต้องหยุดชะงักหลังศาลรธน.ไปรับคำร้องที่มีคนไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่น กลุ่มของพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหาและส.ส.ประชาธิปัตย์อย่าง วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ว่าการแก้ไขมาตรา 291 ดังกล่าวเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68

เพราะเป็นการไปฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ด้วยการแก้ 291 มาตราเดียว

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด ศาลรธน.ก็มีคำวินิจฉัย ออกมาว่าให้ยกคำร้องเพราะพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องคือส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าล้มล้างการปกครอง

ข้อสรุปของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลฯเลยออกมาว่าเมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องทำหน้าที่ลงมติในวาระ 3 ต่อไป เมื่อโหวตวาระ 3 แล้ว ก็จะมีสสร.มายกร่างรธน.ฉบับใหม่จากนั้นเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ก็ถึงค่อยไปทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สสร.ยกร่างมาหรือไม่ หากเห็นชอบก็ประกาศใช้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาแทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากผลประชามติออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบก็จะทำให้ร่างรธน.ฉบับยกร่างใหม่ดังกล่าวก็ตกไป

เมื่อดูข้อสรุปที่คณะทำงานชุดโภคินแจงออกมาดังกล่าว จะพบว่าก็ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่แปลกใหม่แต่อย่างใด ทุกข้อเสนอล้วนแล้วแต่คือแนวทางที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคน เคยเสนอและอภิปรายมาแล้วทั้งในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยและในที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อนหน้านี้ ที่ให้โหวตวาระ 3 ไปเลยโดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรธน.ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อ 13 ก.ค. 2555 โดยเวลานั้นพวกส.ส.เพื่อไทยที่หนุนหลังให้โหวตวาระ 3 ไปเลยโดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างว่าเพื่อแสดงการไม่ยอมรับอำนาจของศาลรธน.ในการรับคำร้องวินิจฉัยคดีดังกล่าวที่ร้องว่าขัดรธน.มาตรา 68 โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด

แต่ตอนนั้นการโหวตวาระ 3 ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแกนนำพรรคหลายคนโดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยและพยายามขวางไม่ให้มีการโหวตวาระ 3 ก่อนที่ศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยออกมาให้ยกคำร้องเรื่องล้มล้างการปกครอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ปรากฏอยู่ในคลิปเสียงสมศักดิ์ที่พูดถึงเรื่องเบื้องหลังการที่ไม่มีการโหวตแก้ไขรธน.วาระ 3 ในคลิปเสียงที่จังหวัดเพชรบูรณ์

เมื่อคณะทำงานชุดโภคินเสนอหนทางการแก้ไขรธน.ออกมาดังกล่าว ซึ่งตรงกับความต้องการส่วนใหญ่ของส.ส.เพื่อไทยอยู่แล้ว จึงทำให้คาดได้ว่าส.ส.ของพรรคส่วนใหญ่จะเอาด้วยแน่นอนหากมีมติพรรคออกมารวมถึงการสั่งจากนายใหญ่ทักษิณ ชินวัตร

แม้ดูแล้วหากลุยโหวตแก้รธน.วาระ 3 อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างหากจะมีบางฝ่ายจ้องหาช่องทางกฎหมายบางอย่างคิดเล่นงานส.ส.รัฐบาลรวมถึงสว.ที่จะไปร่วมโหวตแก้รธน.วาระ 3 ด้วยกับพรรคร่วมรัฐบาล เช่นการไปยื่นศาลรธน.ให้ตีความอีกครั้งหนึ่งว่าการโหวตวาระ 3 ดังกล่าวทำได้หรือขัดรธน.หรือไม่หรือว่าต้องทำประชามติก่อน ที่สำคัญ อาจกลายเป็นเชื้อไฟอันใหม่ในการเรียกแขกฝ่ายตรงข้ามให้ออกมาระดมพลต่อต้านรัฐบาลในช่วงการลุยแก้ไขรธน.

แม้รัฐบาลจะพยายามสร้างความชอบธรรมในการแก้ไขรธน. ด้วยการเตรียมรณรงค์กับประชาชนทั่วประเทศในเรื่องการแก้ไขรธน. โดยใช้วันที่ 10 ธ.ค.ที่เป็นวันครบรอบ 80 ปีของรัฐธรรมนูญไทยเป็นวันดีเดย์การรณรงค์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม”ทีมข่าวการเมือง”เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมนักการเมืองพวกนี้อยู่แล้วว่า การรณรงค์เรื่องการแก้ไขรธน.ที่รัฐบาลจะทำขึ้น เป็นการสร้างภาพว่าประชาชนเอาด้วยกับการแก้ไขรธน.แล้วเอาสิ่งนี้มาสร้างความชอบธรรมในการแก้ไขชำเรารัฐธรรมนูญเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่รู้ทันเรื่องนี้ จึงไม่สนใจเรื่องดังกล่าวแน่นอน และหากจะมีก็เป็นพวกจัดตั้งเสียมากกว่า

แต่สังคมจะมุ่งติดตามและพร้อมเคลื่อนไหวทันทีหากเริ่มเห็นเค้าลางชัดว่าเป้าหมายของการกระเหี้ยนกระหือรือแก้ไขรธน.ครั้งนี้ สุดท้ายจับได้ไล่ทันว่าทำเพื่อหวังฟอกผิด ช่วยทักษิณ ชินวัตรไม่ให้ติดคุก ได้ทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านคืน

มันเริ่มต้นเมื่อไหร่ ประชาชนไม่ยอมแน่นอน
โภคิน พลกุล
พงศ์เทพ เทพกาญจนา
วราเทพ รัตนากร
ภูมิธรรม  เวชยชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น