xs
xsm
sm
md
lg

“สมจิตต์” จวก “แม้ว” คิดล้ม ป.ป.ช.-ศาล รธน. เหตุยัวะขวางกินรวบประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมจิตต์” กรีดใจดำ “แม้ว” รายวัน ชี้จ้องกำจัด ป.ป.ช.-ศาล รธน.-ศาลปกครอง เหตุเจ็บใจเป็นหอกข้างแคร่ควบคุมไม่ได้ วินิจฉัยกรณีซุกหุ้น สั่งยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน สกัดโหวตฉีก รธน.50 ขวางคอประเคนพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารให้ฮุนเซน ทำให้ฝันค้างไม่ได้เป็นเจ้าของ กฟผ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวสมจิตต์ นวเครือสุนทร หัวข้อ ทักษิณ กับแนวคิด “ยุบเพื่อยักยอก” “แยกเพื่อปกครอง” ดังนี้

“ตามที่ได้เคยอธิบายถึงวิธีคิดเกี่ยวกับการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ปี 2550 ด้วยข้ออ้างผลไม้พิษจากต้นไม้พิษที่มีชื่อว่า คมช. อันมาจากรัฐประหารของทักษิณแอนด์เดอะแก๊ง แต่ไม่เคยอธิบายถึงเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นภัยต่อนักการเมืองอย่างไร จึงจ้องที่จะล่้มรัฐธรรมนูญแต่กลับปล่อยปละละเลยปัญหาชาติทอดทิ้งประชาชน

หางที่โผล่ออกมาเกี่ยวกับประเด็นที่ต้องการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการยุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ป.ป.ช. และ กกต.ให้มาจากสภา เพื่อการเมืองจะได้แทรกแซงได้นั้น ล้วนมีที่มาที่ไปทั้งจากความแค้น และความทะเยอทะยานที่ต้องการจะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือของ ทักษิณ คนหนีคุกทั้งสิ้น

จากบทเรียนการบริหารขี้ฉ้อของทักษิณแทบจะไม่มีอะไรหยุดยั้งเขาได้ นอกจากระบบตุลาการที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และองค์กรอิสระที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลนายทาสที่ทักษิณเรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น

เริ่มตั้งแต่ ป.ป.ช.ยุคแรกที่มีโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน ป.ป.ช. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีซุกหุ้น หลังพบว่ามีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. องค์กรนี้ก็ถูกมองเป็นหอกข้างแคร่สำหรับทักษิณมาโดยตลอด กระทั่งมีความพยายามใช้ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญปี 2540 เข้าไปควบคุมบุคลากรที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระนี้ตั้งแต่ต้นมือด้วยการบล็อกโหวต ผลก็คือเกิดปัญหากับ ป.ป.ช.ชุดที่ถูกครหาว่าเป็นมือเป็นไม้ให้กับระบอบทักษิณ โดยไม่ทันที่จะได้ทำงานก็ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้มีความผิดลงโทษจำคุก 2 ปี รอลงอาญา 2 ปี

ก่อนจะหลุดจากตำแหน่งไปทั้งยวง จากการขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองและ มี ป.ป.ช.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ซึ่งเป็นชุดที่ ทักษิณ ทำลายความน่าเชื่อถือมาโดยตลอดว่ามาจากเผด็จการที่จ้องเล่นงานเขาและพรรคพวก กระทั่งนำมาสู่ความความคิดที่จะยุบ ป.ป.ช. หรือเปลี่ยนแปลงที่มาของ ป.ป.ช. ด้วยการใช้ถ้อยคำที่สวยหรูว่า ยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งความจริงก็คือ การกดหัวให้ ป.ป.ช.ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองไปสยบอยู่ใต้อุ้งตีนนักการเมืองนั่นเอง หากทักษิณทำสำเร็จ ป.ป.ช.ก็ไร้ความหมายเพราะจะกลายเป็นองค์กรอิสะระที่ไม่อิสระจริง แต่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามไม่ต่างจากดีเอสไอที่เป็นอยู่ในเวลานี้

บทเรียนจากคดีซุกหุ้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นจะมีมติให้ ทักษิณ ชนะคดี แต่ก็ทำให้ทักษิณตระหนักถึงความสำคัญของกลไกตรวจสอบนี้ว่าสามารถดับอนาคตทางการเมืองของเขาได้ง่ายเพียงแค่พลิกฝ่ามือ โดยเฉพาะคนที่มีแผลเหวอะหวะเต็มตัวจากการละเมิดกฎหมายตามแบบฉบับนักธุรกิจที่รวยแล้วไม่เคยพอ ก็ยิ่งเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นก้างขวางคอ เว้นแต่จะมีศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการเป็นคนของตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อควบคุมไม่ได้ก็โทษง่ายๆ ว่าทุกอย่างมาจากรัฐประหารแต่ตัวเองและพรรคไทยรักไทยไม่เคยทำผิด

การยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นดาบแรกสนองกรรมชั่วของพรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเป็นภัยคุกค่ามต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงกลายเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำตามใบสั่งของอำมาตย์ ทั้งที่ความจริงคือ พรรคไทยรักไทยกระทำผิดจริง โดยล่าสุด พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยก็ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญาจากการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งโยงไปถึงพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ของ กกต.อีกสามรายประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยให้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นโมฆะ เนื่องจากเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เนื่องจากเป็นสัญญาที่อาจส่งผลกระทบต่ออธิปไตยไทยจนเป็นเหตุให้ นพดล ปัทมะ คอพาดเขียงรออยู่ในหลักประหาร เพราะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญยังบังอาจวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน โดยฝ่ายทักษิณใช้ข้ออ้างเดิมๆ คือ ใบสั่งจากอำมาตย์ให้กลั่นแกล้งพรรคตนเอง แต่ไม่ยอมบอกข้อเท็จจริงว่าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำสั่งให้ใบแดงกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ฐานทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงรายไปก่อนหน้านี้แล้ว และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ระบุชัดว่า หากกรรมการบริหารพรรคเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเลือกตั้งจะส่งผลให้พรรคถูกยุบและกรรมการทั้งหมดถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังพบว่าทำผิดกฎหมายไปรับจ้างบริษัทเอกชนทำรายการชิมไปบ่นไปทำให้ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีด้วย

ล่าสุดหมูเขาจะหาม ศาลรัฐธรรมนูญก็เอาคานเข้าไปสอด จนการโหวตฉีกรัฐธรรมนูญ 50 วาระ 3 ยังค้างเติ่งอยู่ในสภา แก้ปัญหากันไม่ตก เพราะเจอทางตันแบบไปไม่ถึงกลับไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์นายใหญ่ค้ำคออยู่

ดังนั้น การดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ตนเองควบคุมไม่ได้ เป็นเรื่องที่ ทักษิณ ไม่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพราะเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบตรวจสอบอย่างชัดแจ้ง จึงคิดที่จะทำลายทั้งระบบไม้เว้นแม้กระทั่งความเป็นอิสระของศาลยุติธรรม ที่ทักษิณมีแนวคิดจะให้ประธานศาลฎีกามาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของศาลปกครองก็ต้องบอกว่าเป็นยิ่งกว่าหอกข้างแคร่ แต่เป็นหนามทิ่มแทงใจนักการเมืองทุนสามานย์อย่างทักษิณเป็นที่สุด เพราะการที่ไม่สามารถแปรรูป กฟผ.ได้สำเร็จ ก็เป็นเพราะศาลปกครองมีคำสั่งให้การแปรรูปดังกล่าวเป็นโมฆะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนทักษิณฝันค้างไม่ได้เป็นเจ้าของ กฟผ.ผ่านการถือหุ้นเหมือนที่เคยฮุบ ปตท.ได้สำเร็จมาก่อนหน้านี้

ไม่เพียงเท่านั้น ศาลปกครองยังมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับไม่ให้มีการใช้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จนสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งให้แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับทุนสามานย์ที่เอาเปรียบประชาชนรากหญ้าจากการเอาอุตสาหกรรมไปรุกวิถีชาวบ้านผ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลที่หยิบยกมาให้เห็นในข้างต้นนั้น สะท้อนภาพชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมิใช่อุปสรรคต่อการบริหารประเทศ หรือส่งผลกระทบให้ประชาชนทำมาหากินลำบากเพราะรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยกล่าวอ้าง

ตรงกันข้าม การมีอยู่ขององค์กรอิสระ และความเข้มแข็งของฝ่ายตุลาการ ทำให้นักโกงเมืองทำมาหากินบนคราบน้ำตาและความทุกข์ยากของประชาชนไม่ได้ต่างหาก จึงจำเป็นต้องกำจัดทิ้ง ด้วยการแบ่งแยกประชาชนให้เกิดความเกลียดชัง แตกแยกเพื่อปกครองง่ายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อกินรวบประเทศไทยในที่สุด

ทำไมต้องยุบ ป.ป.ช.-ศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครอง

1. ทักษิณ เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีซุกหุ้นจนเกือบเอาตัวไม่รอดทางการเมือง ก่อนจะผ่านพ้นมาได้ด้วยคะแนนเฉียดฉิวในศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 7 ทำให้เริ่มมีการแทรกแซงองค์กรอิสระนับจากนั้นเป็นต้นมา

2. ป.ป.ช.ที่ควบคุมได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 2 ปี จากการขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง ได้ ป.ป.ช.ชุดใหม่หลังรัฐประหาร ควบคุมไม่ได้จึงจ้องกำจัด

3. ป.ป.ช.ยังชี้มูลความผิดอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับทักษิณและพวก อาทิ คดีการปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย 9 พันล้าน ทุจริตรถและเรือดับเพลิง คดี 7 ตุลา 51 เป็นต้น

4. ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองเป็นศัตรูคู่อาฆาตหลังจากมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน จากการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

5. ศาลรัฐธรรมนูญเป็นก้างขวางคอทำให้ประเคนพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารผ่านแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาให้ฮุน เซนไม่สำเร็จ เพราะมีคำวินิจฉัยให้แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นโมฆะเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 190

6. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากทำผิดกฎหมายเป็นนายกฯแต่ไปรับจ้างบริษัทเอกชนจัดรายการชิมไปบ่นไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกและรัฐมนตรี

7. ศาลปกครองเป็นอุปสรรคต่อทุนสามานย์ในการรักษาสิทธิชุมชน บอนไซอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

8. ศาลปกครองมีคำสั่งให้การแปรรูป กฟผ.เป็นโมฆะ ทำทักษิณฝันค้าง ฮุบ กฟผ.ไม่สำเร็จ

ทักษิณ จ้องปล้นชาติ ทำลายสัญญาณกันขโมย อ้างเป็นกับดัก!
กำลังโหลดความคิดเห็น