ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนต่อมติคณะรัฐมนตรี เมือวันจันทร์ที่ 30 ก.ค.55 ที่“นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สุรินทร์
เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ จำนวน 9 คนแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษชุดปัจจุบันที่จะพ้นวาระ ในวันที่ 7 ก.ย. นี้
โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้
1. นายไกรสร บารมีอวยชัย ด้านกฎหมายและการบริหารงานยุติธรรม
2. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ชัยเกษม นิติสิริ ด้านกฎหมายและกระบวนการดำเนินคดีอาญา
3. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ด้านกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
4. นายประดิษฐ์ เอกมณี ด้านกฎหมายและการพิจารณาพิพากษาคดี
5. รองศาสตราจารย์ มนตรี โสคติยานุรักษ์ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินการธนาคาร
6. นายมหิดล จันทรางกูร ด้านการเงินการธนาคารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
7. นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
8. พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ด้านกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา
9. นายอนุพร อรุณรัตน์ ด้านกฎหมายและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2555 เป็นต้นไป
โดยทั้ง 9 คน จะเข้ามาแทนผู้ทรงคุณวุฒิเดิม ที่จะหมดวาระ เช่น นายสวัสดิ์ โชติพานิช นายสมพล เกียรติไพบูลย์ พล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ นายธวัชชัย ยงกิตติคุณ พล.ต.อ.วศิษฐ เดชกุญชร นายรอม หิรัญพฤกษ์ พล.ต..หญิงดวงกมล สุคนธทรัพย์ ศ.พิเศษเรวัติ ฉ่ำเฉลิม หรือแม้แต่นายเดชอุดม ไกรฤกษ์ ที่ลาออกไปก่อนหน้า
เรื่องนี้ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายเดือนที่ผ่านมา มีการขยับใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น จึงมองได้ว่ารัฐบาลเดินหน้ามุ่งมั่นว่าจะเอาดีเอสไอมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะฉะนั้นคนที่เข้าไปก็คงจะมีบางคนที่ถูกมอบหมายให้เข้าไปเพื่อไปผลักดันประเด็นทางการเมืองของรัฐบาล
“ที่ตนพูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะตรวจสอบฝ่ายค้านไม่ได้ แต่การที่จะไปเอากลไกอะไรต่างๆ พิเศษเพิ่มเติมเข้ามาเฉพาะเจาะจงแล้วมีวาระทางการเมือง มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงอยากให้ติดตามกันต่อไป เพราะมีการพยายามผลักดันให้มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายค้าน แล้วดีเอสไอเป็นคนเดินเรื่อง”
ย้อนหลับไปดูคดีที่ “ดีเอสไอ” ยุคนี้กำลังจัดการกับรัฐบาลเก่าเช่น คดีรถไฟฟ้าบีทีเอสของกทม. คดีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ 1 ล้านบาทจากอีสต์ วอเตอร์ คดีระบายสต็อกข้าวรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ การสรุปผลการสอบสวนการจัดซื้อ เครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยจีที 200 (GT200) และอัลฟ่า 6 (ALFA 6) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เพื่อยื่นต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) รวมไปถึงการออหมายเรียกคดีเขาแพงของลูกชายนายสุเทพ เทือสุบรรณ ไม่นับการไม่ฟ้องคดีล้มเจ้า และไม่ฟ้องแกนนำเสื้อแดงอีกหลายคดี
กลับมาที่การแต่งตั้งกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีดีเอสไอ ออกมาปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นนี้
“พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้เสนอรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยขั้นตอนดำเนินการทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับดีเอสไอ”
แม้จะมีข้อครหาว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นบอร์ดกคพ.ชุดใหม่ล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น หากนย้อนไปดู “พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 5W กำหนดให้มีคณะกรรมการคดีพิเศษ เรียกโดยย่อว่า “กคพ.” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ และให้มี ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 9 คน และในจำนวนนี้ต้องมีบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศหรือกฎหมาย อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการ
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า บอร์ดกคพ.ผู้ทรงคุณวุฒิ ชุดใหม่ แทบจะเป็นการจัดทัพเพื่อล้างกระดานบอร์ดชุดเก่าที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในการประชุมบอร์ดกคพ.ประจำเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“ค่อนข้างมีความเห็นแย้งในการประชุมรับคดีขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นคดีพิเศษ”
มีข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงบอร์ดกคพ. จะมีผลต่อการลงมติรับหรือไม่รับคดีอาญาทั่วไปเป็นคดีพิเศษ ซึ่งต้องได้รับมติ 2 ใน 3 ของบอร์ด 21 คน กล่าวคือจะต้องได้คะแนน 16 เสียงขึ้นไป เจตนารมณ์ของกฎหมายจึงต้องการให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาถ่วงดุลการทำงานของกรรมการในส่วนที่เป็นตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการประจำ หลังจากนี้จึงต้องจับตาการพิจารณารับคดีพิเศษ
โดยเฉพาะคดีนโยบายของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง
เบื้องต้นของดีเอสไอ อาทิ คดีขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส คดีเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมเข้าบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ คดีทุจริตงบประมาณในโครงการก่อสร้างในจังหวัดต่างๆที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาล รวมถึงคดีบุกรุกออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในที่ดินสาธารณะสมบัติของชาติ ซึ่งการสอบสวนดำเนินคดีจะส่งผลกระทบอย่างหนึ่งอย่างใดต่อความนิยมทางการเมืองได้
มีการออกมาเผยแพร่ “ประวัติบอร์ดกคพ.” ที่ถูกอ้างว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับรัฐบาล ได้แก่
“นายไกรสร” เป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายไกรสรเคยถูกวางตัวให้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่ภายหลังการปฏิวัติในปี 2549 นายไกรสรตัดสินใจลาออกจากราชการไปทำงานกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
เรียน วปรอ.4414 เป็นรุ่นที่ถือได้ว่าร้อนแรงที่สุดใน “ยุคทักษิณ” เนื่องจากนักศึกษาของ วปรอ.รุ่นนี้ นั้นมีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง บุญคลี ปลั่งศิริ พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ อดีตผบ.ทร. พล.ร.อ.วิชัย ยุวนางกูร อดีตรอง ผบ.ทร.พล.อ.พรชัย กรานเลิศ อดีตผช.ผบ.ทบ.เตรียมทหารรุ่น 10
“นายชัยเกษม” เป็นอดีตอัยการสูงสุด ซึ่งเคยถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ แต่ก่อนหน้านี้นายชัยเกษมได้รับการแต่งเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
สมัยเป็นรองอัยการสูงสุดเป็นคณะอนุญาโตตุลาการฯ ที่ตัดสินให้มีการลดค่าสัปทานไอทีวี
เป็นอดีตอัยการสูงสุด ได้ถูกชี้มูลความผิดจากคตส.ในกรณีทุจริตการจัดซื้อเครื่องCTX เเละ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 55 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มีมติเเต่งตั้งให้เป็นประธานก.ล.ต.
“นายนรินท์พงศ์” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ภายใต้สำนักทนายความของ “นายคำนวณ ชโลปถัมภ์” ทนาย พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ในคดีที่ดินรัชดา ซึ่งในระยะหลังมีบทบาทต่อสู้เรียกร้องให้กับผู้ต้องขังเสื้อแดง โดยมีส่วนผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติวงเงินกว่า 100 ล้านบาท ให้กองทุนยุติธรรม สำหรับนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวจำเลยเสื้อแดงที่ก่อคดีวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดต่างๆ และจำเลยในคดีอาญา มาตรา 112
“นายประดิษฐ์” เป็นอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่มีความสนิทสนมกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เช่นกัน สมัยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญานั้น เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้มีการลดค่าสัปทานไอทีวี สมัยชินคอร์ปถือหุ้นใหญ่
“รศ.มนตรี” เป็นอาจาร์ยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยที่ผ่านมามีบทบาทแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ
“นายมหิดล” อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกระบุว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย และมีบทบาทสำคัญในการจัดวางตำแหน่งต่างๆในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นอดีตผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ ในรัฐบาลทักษิณ 2
”นายแพทย์เรวัต” อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ “คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” และในสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ได้เเต่งตั้งโยกย้ายจาก ผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์
“พล.ต.ท.สุชาติ” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเดือน ต.ค.52 สตช.มีมติออกมาจากราชการ จากการชี้มูลของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูลความผิดและให้ออกจากราชการ คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากกรณี 7 ตุลา 51 ที่มีการนำแก๊สน้ำตาจากประเทศจีนออกมาใช้ในการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
จากประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่าใกล้ชิดเป็นทนายความของคนเสื้อแดง “นายนรินทร์พงศ์ ” 1ในบอร์ดชุดใหม่ออกมาตอบโต้ว่า ที่ผ่านมาตนไม่เคยเป็นทนายนปช.และไม่เคยรับคดีทำคดีของคนเสื้อแดง ยกเว้นการช่วยเหลือในเรื่องการประกันตัวเท่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ยืนยันว่าตนไม่ใช่ตัวแทนจากฝ่ายใด แต่ที่รัฐบาลเลือกเข้ามาทำหน้าที่อาจเพราะตนมีความรู้ความสามารถและในฐานะที่เป็นนายกสมาคมทนายความฯมาตลอด 7 ปี ทำงานส่วนใหญ่จะช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
เชื่อว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 คน ทุกคนมีความเป็นกลางและเชื่อว่าฝ่ายการเมืองจะไม่สามารถเข้ามาชี้นำการทำงานได้ เพราะทุกคน มีความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญทุกคนก็ล้วนมีต้นทุนทางสังคมสูง ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมจบอนาคตตัวเองทั้งที่ทำความดีมาตลอดชีวิตเพื่อแลกกับการทำหน้าที่ด้วยความไม่ถูกต้อง
“ผมขอยืนยันว่าจะไม่มีใครมาชี้นำได้เพราะผมไม่เกี่ยวข้องกับนปช.และพรรคเพื่อไทย ซึ่งการที่ได้มาทำงานนี้จะมาทำงานให้ประเทศชาติมากกว่าที่จะไปทำอันตรายกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องทำหน้าที่ตัดสินว่าคดีใดสมควรบรรจุเป็นคดีพิเศษหรือไม่ต้องพิจารณาตามหลักการ โดยไม่มองข้ามหลักความเป็นมนุษย์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เราต้องทำคดีและดูแลทุกคนให้เท่าเทียมกัน”นายนรินพงศ์กล่าวอ้าง
หลังจาก 7 กันยายน จับตาดูว่าบอร์ดดีเอสไอใหม่ จะ“ราวี”ฝ่ายตรงข้ามท่าไหน