xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” เชื่อปีนี้ “แม้ว” ลุยเอง ชี้ประชามติแค่พิธีกรรมรับรอง รธน.ฉบับทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน(แฟ้มภาพ)
ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนชี้ “นช.แม้ว” วาง “ปู” สองหน้า ไม่ยุ่งการเมืองน้ำเน่าแต่เบื้องหลังไล่เอาคืน คาดปี 56 โชว์ให้รู้ใครคุม รบ.สยบไพร่ปีนเกลียว พร้อมลุยหาทางกลับบ้านเองหลังลูกน้องไม่ได้ความ บี้วางพิมพ์เขียว รธน. “นช.แม้ว” ไว้แล้ว เหลือประชามติเป็นพิธี เชื่อปชช.รู้ทัน ประเทศถูกแช่แข็งเพราะนายใหญ่ จวก รบ.ใช้เศรษฐกิจมหภาคบดบังปัญหาปากท้อง ปชช.จากประชานิยม เผย 5 สถานการณ์เสี่ยงระเบิดทางการเมือง ทั้งแก้ รธน. พ.ร.บ.ปรองดอง ปมเขาพระวิหาร ปัญหาไฟใต้ และค่าครองชีพพุ่ง ส่วนการเตรียมสู่ AEC สหรัฐฯ-จีนรุกจับมือไทย ความเสี่ยงภัยพิบัติขึ้นอยู่การบริหารของ รบ.ว่าไปทางใด

วันนี้ (3 ม.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เผยบทวิเคราะห์แนวโน้มการเมืองไทย ปี พ.ศ. 2556 ในชื่อ “วาระทักษิณ แช่แข็งประเทศไทย” ระบุถึงภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เกิดจากปัญหาทั้งปัจจัยภายในตนเอง มือไม่ถึง ขาดความรู้ความสามารถจริง และการถูกออกแบบกำกับ จัดวาง สร้างให้ โดยพี่ชาย หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาโดยตลอด กว่าปีครึ่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นได้แค่ “นายกฯ พิธีกรรม” เพราะถูกจัดวางให้เล่นบทมุมานะ มุ่งมั่นบริหารบ้านเมือง ไม่เล่นการเมือง ไม่เกลือกกลั้วกับความขัดแย้งหรือการเมืองน้ำเน่าสาดโคลน แต่อีกฉากก็จัดทัพรับมือทั้งในสภานอกสภาเพื่อแก้แค้น เล่นงาน ไล่บี้ เอาคืนฝ่ายตรงข้าม บทบาทและภาพลักษณ์นายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่อยู่ในแผนการตลาดทางการเมืองจะถูกท้าทาย เปลือยกายด้วยสถานการณ์จริงมากขึ้น

นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ปี 2556 พ.ต.ท.ทักษิณอาจต้องออกแรงจะขยับตัว แสดงบทบาทกำกับชี้นำและตัดสินใจแทนรัฐบาลมากขึ้น ชัดเจนขึ้น ทั้งเพื่อเป็นการประกาศตัวเป็นผู้นำสูงสุดตัวจริงและเพื่อจัดระเบียบกับเครือข่ายบริวาร ก๊ก มุ้งต่างๆ ทั้งในรัฐบาล พรรคเพื่อไทย กลุ่มทุน และคนเสื้อแดงที่เริ่มแตกแถวตั้งกลุ่มก๊วนต่อรองมากขึ้น ประเด็นสำคัญการบ้าน “กลับประเทศอย่างเท่ๆ” ที่ฝากคนอื่นทำล้มเหลวไม่เป็นท่า ถึงเวลาต้องลงมือเอง ถ้าอยากกลับจริงในปีนี้ “บทอัศวินม้าขาว” ที่ประเทศไทยขาดไม่ได้จะถูกปูทางออกแบบให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินและเล่นมากขึ้น กระทั่งสร้างกระแสเรียกร้องให้กลับประเทศโดยไม่ต้องรับผิด ประเทศไทยในปีนี้จะเข้าสู่ปรากฏการณ์ “1 ประเทศ 2 นายกฯ” เต็มรูป มีนายกฯ พิธีกรรม กับนายกฯ ที่ถืออำนาจจริง

ส่วนแนวโน้มสถานการณ์การเมืองไทย นายสุริยะใสระบุว่ายังคงรูปแบบและเนื้อหาของความขัดแย้งเดิมที่ต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะ “วาระทักษิณ” ฉะนั้นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปลายทางอยู่ที่การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดทักษิณและเครือข่าย และเพื่อประกันความเสี่ยงทางอำนาจของตัวเองในระยะยาว รวมทั้งการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งก็มีปลายทางเดียวกัน ยังจะเป็นประเด็นหลักทางการเมือง พิมพ์เขียวประเทศไทยภายใต้ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับทักษิณ” ถูกจัดเตรียมไว้แล้วล่วงหน้า เหลือแค่การออกแบบพิธีกรรมในนามของการออกเสียงประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) และเวทีประชาเสวนาที่กระทรวงมหาดไทยและนักวิชาการบางกลุ่มเตรียมขับเคลื่อนในเดือนนี้เพื่อสยบและเกลี้ยกล่อมแรงต้าน

อย่างไรก็ตาม การเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อล้างผิดทักษิณยังเป็นการเมืองที่เชื้อเชิญความขัดแย้งและแตกแยกในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย “จับได้ไล่ทัน” ปลายทางของวาระดังกล่าว ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อทักษิณ ประเทศไทยก็ยังจะถูก “แช่แข็งด้วยวาระทักษิณ” ต่อไป ซึ่งทักษิณและเครือข่ายอาจพึงพอใจและได้ประโยชน์จากความแตกแยก หรือแบ่งแยกและปกครองไปเรื่อยๆ เพื่อรอสถานการณ์ใหญ่

“แม้วาระทักษิณยังคงกำหนดวาระทางการเมืองไทยทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นต่อไปก็ตาม แต่วาระการเมืองของภาคประชาชน คนระดับล่าง ปัญหาปากท้อง สิทธิ โอกาส และผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ที่ถูกแช่แข็งบดบังมานานก็มีโอกาสปะทุขึ้นได้เช่นกัน เพราะระบบการเมืองล้มเหลวไม่ตอบโจทย์ประชาชนจริงๆ และการระบาดของการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรงขยายตัวมากขึ้น” นายสุริยะใสระบุ

ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนกล่าวต่อถึง “ประชานิยม” ยังคงเป็นคาถาและกุศโลบายรักษาที่มั่นความนิยมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การออกแบบเศรษฐกิจให้ดูหวือหวาในระดับมหภาคทั้งตลาดหุ้น สารพัดเมกะโปรเจกต์ แผนฟื้นฟูประเทศ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถคันแรก ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ 300 บาท ทำให้เศรษฐกิจระดับปากท้องชาวบ้านถูกกลบเกลื่อนและบดบังไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้าวยากหมากแพง ราคาพืชผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ นโยบายรถคันแรก โครงการรับจำนำข้าว ค่าแรง 300 บาท ชะตากรรม SME จะปลดเปลือยสถานะทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลมากขึ้น แม้นโยบายเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมากขึ้นแต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น เพราะรัฐบาลไร้แผนรองรับ ก็จะเกิดปัญหาสะสมและปะทุมากขึ้น เช่น ค่าครองชีพและหนี้สินภาคครัวเรือนที่ถีบตัวสูงขึ้น ปิดโรงงาน เลิกจ้าง ฯลฯ ในขณะที่รัฐบาลก็ยังไม่มีแนวคิดริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับโครงสร้าง การปรับเปลี่ยนนโยบายที่รองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นธรรม และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมแต่อย่างใด

นายสุริยะใสยังระบุให้จับตา 5 สถานการณ์ร้อนที่อาจเป็น “ระเบิดเวลาทางการเมือง” คือ 1. วิกฤติรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเดินหน้าออกเสียงประชามติ หรือพลิกกลับมาโหวตวาระ 3 ก็ยังเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งอยู่ดี เพราะคนจำนวนมากเชื่อว่าเป้าหมายปลายทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียวไม่ใช่เพื่อการปฏิรูปประเทศ 2. ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง กลายเป็นสายล่อฟ้า เป็นของต้องห้ามทางการเมืองไปแล้ว เพราะแค่จะบรรจุวาระพิจารณาในสภาก็เกิดการลุกขึ้นค้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายจนต้องพับกระดานเว้นวรรคไปก่อน 3. กลางๆ ปีนี้ศาลโลกจะตัดสินคดีเขาพระวิหาร หากศาลตัดสินแล้วเป็นประโยชน์กับทางกัมพูชามากกว่าไทยประเด็นอธิปไตยและดินแดนจะกลับมาเป็นข้อพิพาทอีกครั้ง 4. ปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้มีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น นโยบายของรัฐบาลล้มเหลวเชิงรุกทำได้เพียงตั้งรับ ขบวนการก่อความไม่สามารถปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่ใจกลางเมืองหรือจุดสำคัญได้มากขึ้น ถี่ขึ้น เหตุการณ์ตายรายวันขยายจากลอบสังหารทหาร ประชาชน มาที่ครูมากขึ้น และ 5. วิกฤตพลังงาน ค่าครองชีพ ข้าวยากหมากแพง ปิดโรงงาน เลิกจ้าง ที่เกิดจากความบกพร่องและล้มเหลวทางนโยบายของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนยังแสดงถึงปัจจัยที่เป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส โดยระบุว่าในปีนี้มีปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรเร่งสถานการณ์สังคมการเมืองไทย ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเพิ่มความเครียด ความเสี่ยงทางการเมือง และปลดปล่อยเงื่อนไขความเสี่ยง คลี่คลายความตึงเครียด สร้างจุดสนใจร่วมกันของประชาชนคนไทยได้ เช่น การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC และการรุกเข้ามาของประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ จีน ที่มองไทยเป็นไข่แดงทางเศรษฐกิจ พลังงาน และการทหารของภูมิภาค รวมไปถึงปัญหาภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น มีความถี่และความเสี่ยงสูงขึ้น อาจดึงความสนใจ ความตระหนักรู้ตระหนักเห็นของประชาชนได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น