xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” จองล้างศาล รธน.! หนุนทำประชามติแก้ ไม่ใช้กติกาตามรัฐธรรมนูญ 50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการณ์หัวหน้าพรรคไทยรักไทย (แฟ้มภาพ)
“จาตุรนต์” โวยศาล รธน.ทำแก้กฏหมายสูงสุดติดหล่ม เชื่อปีหน้าวิกฤตอยู่ต่อ โอ่นายกฯ ปูพื้นการเมืองระหว่างประเทศไว้ดีมาก อ้างไม่ทำไทยจะเสียโอกาสพัฒนา จี้หาข้อสรุปโดยเร็ว หนุนทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เอาแค่เสียงข้างมาก แย้มตัดอำนาจศาล รับถ้าประชามติเพื่อหาข้อยุติจะเสียหายมาก โวรัฐโอกาสสูงอยู่ครบวาระ ปีหน้ายังอันตรายถ้าไม่ชำเรารัฐธรรมนูญ จวกพวกไม่เคารพกติกาจ้องพัง

วันนี้ (30 ธ.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทิศทางการเมืองในปี 2556 ว่า ในปี 2555 แทนที่จะเป็นปีแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 กลับกลายเป็นปีที่ติดหล่ม เพราะการวินิจฉัยที่สร้างปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเดินออกทางไหนก็ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น จะต้องยืดเยื้อ หรือไม่ก็ปิดทางไปเลย ถ้าหากเลือกแนวทางที่ผิดพลาด เมื่อเป็นแบบนี้ในปี 2556 ความขัดแย้ง วิกฤตการเมือง จะดำรงอยู่ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับการแก้ไข จะออกฤทธิ์เล่นงานรัฐบาล และพรรคการเมืองเมื่อมีเงื่อนไขที่เหมาะสม ประเทศไทยจะเสียโอกาสการพัฒนา โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปูพื้นไว้ดีมากในปี 2555 จะเสียโอกาสการพัฒนา ทั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดีมาก จะเป็นศูนย์กลางภูมิภาคในช่วงที่อาเซียนมีบทบาทสำคัญในช่วง 2-3 ปีนี้

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่ควรได้ข้อสรุปโดยเร็ว จะเลือกทางใดก็ต้องคิดให้เร็วปล่อยคาราคาซังไว้ไม่เป็นผลดีแน่ แนวทางที่ถกเถียงกันอยู่นั้น ส่วนตัวคิดว่าการทำประชามติเพื่อขอคำปรึกษา ก่อนโหวตวาระ 3 จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เสียหายน้อยที่สุด และทำไม่ยาก เพราะการขอคำปรึกษาจะยึดเพียงเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์เท่านั้น แต่ก็อาจจะเจอปัญหาเรื่องการยื่นตีความ แนวทางถัดมา ก็คือ การโหวตวาระ 3 แล้วค่อยตามไปแก้ปัญหา ถ้าไม่ผ่านก็เริ่มต้นตั้งหลักกันใหม่ ชี้แจงว่า ส.ส.และ ส.ว.กลัวอะไรถึงไม่กล้าโหวต กลัวถูกถอดถอนก็ว่ากันไป แล้วยกร่างใหม่ แต่ถ้าผ่านก็ตั้ง ส.ส.ร.ไปตามขั้นตอน หากศาลรัฐธรรมนูญจะมาเบรกตอนหลัง ก็จัดการตัดอำนาจศาลเสียก่อน นอกจากนี้ ก็เขียนถึงการทำประชามติในภายหลังให้ชัดด้วยว่าจะวางเงื่อนไขไว้อย่างไร

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำประชามติเพื่อหาข้อยุตินั้น ถ้าผิดพลาดจะเกิดความเสียหายมากที่สุด การลงประชามติแบบนี้กติกาไม่ยุติธรรม โอกาสผ่านยากมาก การรณรงค์ทำได้ยาก เพราะไม่มีแรงจูงใจเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อประชามติไม่ผ่านแล้ว การแก้ต่อไปจะยากมาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย หากไม่ผ่านแล้วคิดจะไปแก้รายมาตรา ก็จะถูกกล่าวหา และถูกถ่วงเวลา กรณีที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาการทำประชามตินั้น ก็ยังมีเวลาตัดสินใจว่าจะเลือกทำประชามติเพื่ออะไร แต่ย้ำว่าถ้าทำประชามติเพื่อหาข้อยุติแล้วไม่ผ่านก็แทบจะจบเลย รัฐบาลนี้ รัฐสภานี้ คงไม่มีโอกาสแก้ไขอีกแล้ว ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ รัฐสภาใหม่

“การทำประชามติทั้งเงื่อนไขเอาเสียงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ หรือเอาผู้มาใช้สิทธิ์ครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ล้วนยากทั้งนั้น ตัวเลขของการเลือกตั้งก็เห็นๆ กันอยู่ ตอนนี้ฝ่ายที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เขาเห็นแบบนี้ก็ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ กติกาแบบนี้มันไม่ยุติธรรมกับคนที่มาลงคะแนน วิธีอื่นๆ ยังพอมีทางแก้กันใหม่ได้ แต่วิธีนี้ถ้าไม่ผ่านก็ปิดทางเลย” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเมืองในปี 2556 นั้น ยังมองว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศต่อไปได้ และมีโอกาสสูงที่จะอยู่จนครบวาระ รัฐบาลอยู่ได้เพราะปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ ความยอมรับในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ และความรู้สึกของประชาชนที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ อยากเห็นความต่อเนื่องของรัฐบาล ที่น่าติดตามหนีไม่พ้นรัฐธรรมนูญที่ยังไม่แก้ เพราะมันมีกลไกสังหารอยู่ สามารถจัดการรัฐบาล และพรรคการเมือง เมื่อมีเงื่อนไขเกื้อหนุน โดยผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เช่น องค์กรอิสระต่างๆ จากเรื่องเบาก็กลายเป็นหนัก เรื่องหนักก็กลายเป็นหนักมาก รัฐบาลหวังจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แน่ วันนี้บ้านเมืองเรายังมีกลุ่มคนที่ไม่เคารพกติกา ไม่เกรงกลัวการถูกลงโทษ และมีความพยายามให้รัฐบาลนี้พ้นไป ส่วนอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ก็คือ เรื่องคดีความค้างเก่าใน ป.ป.ช.เรื่องที่สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยืนยันว่า ปี 2556 อันตรายยังมีอยู่ แต่การปฏิวัติรัฐประหารยังมองไม่เห็นเงื่อนไข ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศยังแรงกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น