xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” ซัดรายงาน คอป.ไม่ยุติธรรม จี้เร่งแก้ รธน.- อุบเรื่องเก้าอี้ รมต.-หน.เพื่อแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
อดีต หน.ไทยรักไทย ชำแหละรายงาน คอป.ไม่ตอบโจทย์แก้วิกฤตความขัดแย้ง ซัดสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐใช้ความรุนแรงกับ ปชช.จี้ เร่งแก้ รธน.ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม-องค์กรอิสระ อีกด้านหนึ่งปิดปากเงียบ หลังเป็นแคนดิเดตนั่ง รมต.ศธ.-หน.เพื่อไทย

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่โรงแรมอมารี เอเทรียม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้จัดแถลงข่าวในหัวข้อ “จาก 6 ตุลา 19 ถึงรายงาน คอป.” ว่า ตนมีความเป็นห่วงว่ารายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ฉบับนี้ จะไม่สามารถนำไปสู่ความปรองดองที่แท้จริงได้ แม้จะมีข้อเสนอหลายข้อที่มีประโยชน์และควรนำมาใช้ แต่ยังต้องมีการพูดกันอีกมาก เพราะหากดูจากบทเรียน 6 ตุลาฯ คนชนชั้นนำใช้กำลังจัดการกับประชาชนที่มีความเห็นแตกต่าง ซึ่งยังคงเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ ในสังคมปัจจุบัน และยังไม่มีการป้องกันการใช้ความรุนแรงกับประชาชน มีการวางแผนอย่างเป็นระบบในการฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ขณะที่คนทำรัฐประหารได้รับการนิรโทษไปหมดแล้ว ไม่มีการตรวจว่ารับผิดอย่างไร ใครควรขอโทษประชาชน จึงถือว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งรายงานของ คอป.เป็นการทำรายงานตรงจุดประสงค์นี้หรือไม่ เท่าที่ดูยังมีข้อจำกัดและผิดพลาดหลายประการ ไม่ค้นหาความจริงจากบทเรียนในสังคม หรือสาเหตุรากเหง้าของวิกฤตปัญหาที่แท้จริง ในความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น รายงาน คอป.จึงไม่ใช่ชิ้นสุดท้ายที่ประชาชนจะฝากความหวังทำให้เกิดความปรองดองได้

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดจุดที่เป็นปัญหาของรายงาน คอป.คือ มีการตรวจสอบข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมในหลายส่วนจากผู้ที่ได้รับความเสียหายในเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงบางส่วนไม่ได้นำมาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ แต่ คอป.เลือกบางส่วนมาเท่านั้น กระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริงที่เกี่ยวกับความรุนแรงไม่ได้ทำให้เกิดความยุติธรรม หรือไม่ได้เป็นการป้องกันให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน ไม่ได้ค้นหาว่าความรุนแรงนี้เกิดขึ้นจากใคร รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียถึงแก่ชีวิตประชาชน ซึ่งรายงานไม่ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่อยู่ในคำสั่งในการแต่งตั้ง คอป.ที่ให้ไปค้นหาประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ แต่ก็ไม่มีคำตอบจาก คอป.โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ต้องการหาว่าใครผิด แต่รายงานของ คอป.กลับเน้นไปที่ชายชุดดำที่ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ฝ่ายใด ถือเป็นการลดความชอบธรรมการชุมนุมของประชาชน แต่ยิ่งเพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐในการใช้ความรุนแรงจัดการประชาชน

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ชุดค้นหาความจริง รากเหง้าความขัดแย้ง เน้นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก ไม่ลงลึก แต่พูดถึงระยะความขัดแย้งที่ปรากฏในการช่วงชิงอำนาจในการนำประเด็นมาเรียงต่อกัน ว่า เป็นปัจจัยกระตุ้น แต่ไม่ระบุว่าเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ลดน้ำหนักที่สำคัญ แล้วไปเพิ่มน้ำหนักในเรื่องที่ไม่สำคัญ เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร และพูดเพียงแต่ว่าการรัฐประหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง มีการพูดถึงกระบวนการยุติธรรม ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ที่ระบุว่า เน้นการถ่วงดุลอำนาจ แต่ที่ผ่านมา มีการพูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีสองมาตรฐาน แต่ คอป.กลับไม่มีการพูดถึง ทำให้องค์กรอิสระไม่มีความเป็นอิสระ หลังจากการรัฐประหาร และที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ รายงานของ คอป.ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการ ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีปัญหา การรัฐประหารที่นำสังคมไปสู่เผด็จการและความต่อเนื่องของการรัฐประหารที่นำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้อีกด้วย

“ดังนั้น รายงานของ คอป.ไม่อาจนำไปสู่ข้อสรุป หรือข้อเสนอที่สามารถนำสังคมไทยให้พ้นจากวิกฤตการเมืองได้ รายงานของ คอป.ระบุว่า ไม่ควรทำรัฐประหารอีก แต่ไม่เน้นปัญหาจากการรัฐประหาร และบอกว่า ไม่ต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นหลักใหญ่ที่ทำให้เกิดวิกฤต การคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมก็ไม่ปรากฏว่า จะคืนความยุติธรรมให้กับเขาอย่างไร แต่กลับเรียกร้องให้เขาเสียสละ ดังนั้นรายงาน คอป.จึงเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่จำเป็นต้องนำไปปฏิบัติทุกข้อ เพราะยังมีความผิดพลาด ดังนั้นการค้นหาความจริงต้องดำเนินการต่อไป” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า หากจะทำให้สังคมพ้นจากวิกฤตและก้าวสู่การปรองดองนั้น ต้องให้มีการค้นหาความจริงต่อไป ต้องเปิดเผยให้สังคม ประชาชนได้รับรู้ และนำไปสู่การตัดสินใจ นอกจากนี้ ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมตัวการคนสำคัญทั้งหลาย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ แต่ควรที่จะนิรโทษให้กับประชาชนก่อน ส่วนจะนิรโทษแกนนำนั้นคงต้องใช้เวลา การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นวิกฤตควรจะต้องเร่งดำเนินการ รวมถึงปรับปรุงทางด้านกระบวนการและองค์กรอิสระโดยการอาศัยประชามติ และควรเร่งดำเนินการหาข้อยุติโดยเร็ว ไม่ใช่บอกว่าอีกกี่ปีจะทำ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความขัดแย้งขึ้นมาอีก

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รมว.ศึกษาธิการ ว่า ช่วงนี้ยังมีเวลาอีกนานที่จะพิจารณา ขออนุญาตไม่แสดงความคิดในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเรื่องการแต่งตั้งหัวหน้าพรรค ยังมีเวลาให้ความคิดเห็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น