xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” กลัวแพ้! เชียร์รีบโหวตชำเรา รธน.วาระ 3 “รด.โอ๊ค” ห้าวถาม “พิชัย” ท่าที ปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก “Oak Panthongtae Shinawatra”
“จาตุรนต์” หยิบข้ออ้างรัฐประหารเหมือนเดิม โจมตี ปชป.ค้านแตะ ม.309 ปล่อยผี “ทักษิณ” ผวา ม.165 กำหนดเสียงเกินครึ่ง กลัวแพ้อ้างถึงทางตัน เชียร์ให้โหวตวาระ 3 ไปเลย หรือเอากติกาประชามติปี 50 มาใช้ ด้านเฟซบุ๊ก “พานทองแท้” เหน็บ ปชป.เหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ทำห้าวถาม “พิชัย” คิดยังไงที่ ปชป.ปกป้อง ม.309 อ้างเป็นประตูเผด็จการ พร้อมโพสต์ภาพบิดาสาวกฉลองคริสต์มาส

วันนี้ (23 ธ.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ถึงกรณีการทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เห็นพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องคัดค้านการแก้มาตรา 309 เข้าใจว่าจะแกล้งทำเป็นไขสือไม่รู้ว่ารัฐสภากำลังแก้เฉพาะมาตรา 291 รัฐสภาหรือนายกรัฐมนตรี จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมารับรองว่าจะไม่แก้มาตรา 309 เพราะต้องให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของ ส.ส.ร. ซึ่งสุดท้ายจะตัดสินโดยประชาชน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะยอมรับกระบวนการที่ยกอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินกันหรือไม่ ส่วนเรื่องว่าควรยกเลิกหรือรักษามาตรา 309 ไว้หรือไม่นั้น มีการถกเถียงกันมามากแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่จะรับรองการรัฐประหารว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไรจึงจะสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ไม่ควรเอาเรื่องตัวบุคคลมาเป็นเกณฑ์อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเสนออยู่ ซึ่งกลายเป็นไม่มีหลักการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรจึงจะดี ต้องดูผลที่จะเกิดกับประเทศชาติเป็นส่วนรวม ไม่ใช่ดูที่ว่าจะเป็นผลอย่างไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นายจาตุรนต์ยังโพสต์ข้อความต่อว่า ส่วนประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจและสำคัญมากก็คือเรื่องการจะทำประชามติก่อนการลงมติวาระ 3 หรือไม่ เรื่องนี้จะมีผลอย่างมากต่อวิกฤตประเทศ รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องมีการลงประชามติก่อนที่จะมีการลงมติในวาระที่ 3 ฉะนั้นจะลงมติเสียเลยก็ย่อมทำได้ แต่เข้าใจว่ามีความเป็นห่วงว่าถ้าลงมติไปแล้วก็อาจไปสะดุดข้างหน้าอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้ว่าถ้าจะแก้ทั้งฉบับควรลงประชามติเสียก่อน แต่พอจะให้มีการลงประชามติก็มีปัญหาต้องตีความกันมากพอสมควรว่าจะทำอย่างไร และจะมีผลอย่างไรกันแน่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ต้องมีประชามติ ข้อดีอีกอย่างของการลงประชามติคือการแก้ปัญหาการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการลงประชามติมาก่อนจะนำมาใช้ ถ้าจะแก้กันใหม่มากๆ การมีประชามติก็ดี ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างสภาอยู่ก็กำหนดให้ต้องมีการทำประชามติอยู่แล้ว เพียงแต่ให้ทำในขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าทำก่อนยกร่าง แต่ถ้าจะลงประชามติกันถึง 2 รอบ คือ ทั้งก่อนและหลังการยกร่างโดยสสร.แล้วสังคมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองก็สามารถทำได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ แต่ปัญหาสำหรับการลงประชามติเวลานี้คือ จะลงประชามติกันด้วยกติกาอย่างไร ถ้าลงประชามติอย่างที่พูดกันอยู่คือ การทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 จะมีปัญหาอย่างมาก เพราะมีการกำหนดให้ใช้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์กติกาตามมาตรา 165 นี้มีไว้สำหรับขอคำปรึกษาหรือหาข้อยุติในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องมีการลงประชามติ การลงประชามติตามมาตรา 165 เป็นการกำหนดเงื่อนไขให้สูงกว่า ยากกว่าการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มีขึ้นในปี 2550 อย่างมากการกำหนดให้ต้องมีเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เท่ากับบอกว่าผู้ไม่ออกเสียงก็ถือเป็นเสียงค้านด้วย ผู้ที่ค้านก็ไม่ต้องทำอะไร นอกจากอยู่กับบ้านหรือรณรงค์ให้คนอยู่กับบ้าน ภาระก็ตกอยู่กับฝ่ายสนับสนุนที่ต้องหาคนมาให้ได้เกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ ปกติการจะให้ประชาชนตัดสินเรื่องอะไรควรจะวัดกันที่เสียงข้างมาก ผู้ที่ไม่มาออกเสียงย่อมต้องถือว่ายอมรับผลของการออกเสียง

“การลงประชามติตามมาตรา 165 จึงเป็นการเดินไปสู่ทางตัน คือ ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพราะปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับกติกาว่าด้วยการลงประชามติ แล้วฝ่ายคัดค้านก็จะไปทึกทักเอาว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อไปไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราก็จะเป็นเรื่องยากมาก ผมจึงเห็นว่าไม่ควรจัดให้มีการลงประชามติตามมาตรา 165 เพราะจะเป็นการเดินตามเกมที่ฝ่ายปกป้องรัฐธรรมนูญได้วางหมากไว้ให้เดิน สำเร็จยากมาก หากจะมีการลงประชามติควรต้องใช้กติกาเดียวกันกับการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อปี 50 คือกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเท่านั้นพอจึงจะถูก สำหรับปัญหาที่ต้องตัดสินใจกันในขณะนี้ ผมจึงขอเสนอทางออกเป็น 2 ทางคือ 1. ลงมติวาระ 3 ไปเลยหรือ 2. ลงประชามติตามกติกาเดียวกันกับการลงประชามติในปี 2550” นายจาตุรนต์ระบุ

ด้านเฟซบุ๊กของนายพายทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ประชาธิปัตย์ แปลว่า บำเพ็ญประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ แปลว่า กลุ่มการเมืองที่บำเพ็ญประชาธิปไตย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แปลว่า หัวหน้าของกลุ่มการเมืองที่บำเพ็ญประชาธิปไตยชื่อนี้ฟังแล้วเหมือนนักพรต ที่บำเพ็ญตบะแก่กล้า ทางด้านประชาธิปไตย แถมยังเป็นกลุ่มที่อยู่มานานถึงกว่า 60 ปี เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศ แล้วทำไมการกระทำกลับตรงกันข้ามกับชื่อ ไม่สนับสนุนให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ร่างและบังคับใช้ในยุคที่ประเทศไทย มีอำนาจอย่างน้อย 2 ใน 3 ส่วน ที่ตั้งมาจากเผด็จการ ได้แก่ 1. ฝ่ายบริหาร คือรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยคณะปฏิวัติ 2. ฝ่ายนิติบัญญัติ คือสมาชิกทั้งรัฐสภาที่ตั้งโดยคณะปฎิวัติ 3. ฝ่ายตุลาการ ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวบุคคลที่มีอยู่ก่อนปฏิวัติ แต่คณะปฏิวัติก็ได้จัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่มีทัศนคติที่เป็นลบกับรัฐบาลทักษิณฯ ทั้งสิ้น คอยสอบสวนสรุปเรื่องจากต้นทาง แล้วจึงส่งให้ศาลได้พิจารณา

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า การยืนยันไม่แก้รัฐธรรมนูญปี 50 ที่ร่างในยุคเผด็จการ ถือว่าเป็นสิ่งที่แปลก สำหรับพรรคเก่าแก่ที่เหลืออยู่พรรคเดียวในเมืองไทยที่ชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ การเน้นไปที่มาตรา309 เพียงมาตราเดียวของหัวหน้าพรรค ยิ่งแปลกประหลาดสุดๆ หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีชื่อมาจากรากศัพท์ที่แสดงความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย กลับมีพฤติกรรมปกป้อง มาตรา 309 ที่เป็นประตูเชื่อมไปสู่กฎหมายเผด็จการ รัฐธรรมนูญปี 49 ของคณะปฏิวัติ เหตุการณ์แปลกสุดแบบนี้ เป็นเหตุการณ์แบบที่เขาเปรียบเทียบกันว่า กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ก็ลองคิดดูว่าเคยมี พรรคการเมืองที่ไหนได้รับการยกย่องว่าดี ทำให้ประเทศไทยโชคดีที่ได้คนดีมาปกครองประเทศ กลับมีจุดยืนปกป้องกฎหมายเผด็จการ ส่วนพรรคที่หัวแข็งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเลว คนโกง ใครที่เข้าร่วมถูกตราหน้าว่าไม่จงรักภักดี ใครที่สนับสนุนถูกตราหน้าว่าเป็นควายแดง กลับมีจุดยืนที่มั่นคงในการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย

“ผมทราบดีว่าจะพูดด้วยเหตุผลและสุภาพอย่างไรก็ไม่มีวันได้รับคำตอบจากหัวหน้าพรรคเก่าแก่คนปัจจุบัน มองไปทั้งพรรคแล้ว ผมมองแทบไม่เห็นใครที่จะยืนหยัดในอุดมการณ์ดั้งเดิมของการตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญประชาธิปไตย ให้กับประเทศชาติบ้านเมือง จะมีไหมสักคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะกล้าออกมาอธิบายกับประชาชนว่า มาตรา 309 มันไม่ได้ดีเลิศ ถึงขนาดที่หัวหน้าพรรคจะต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อปกป้อง ทั้งที่จริงน่าจะเป็นมาตราที่แย่ที่สุดในรัฐธรรมนูญปี 50 เลยด้วยซ้ำ ถ้าจะมีก็น่าจะเป็นนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยุคที่ยังเฟื่องฟูไม่ตกต่ำครับ หลายครั้งที่นายพิชัยออกมาพูดถึงความห่วงใยบ้านเมือง และเป็นห่วงพรรคประชาธิปัตย์มักจะเข้าตากรรมการที่เป็นคนกลางตลอด ทุกครั้งที่ออกมาตำหนินายอภิสิทธิ์ด้วยความเป็นห่วงอย่างจริงใจ ในลักษณะรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ผมรู้สึกว่าความคิดยังไม่แก่เลย ผมยอมรับตามตรงเลยครับว่าถึงกับเก็บไปฝันแบบ ส.ส.รังสิมา-จ่าประสิทธิ์ ว่าปู่พิชัยจะได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่งซึ่งถ้าฝันเป็นจริงผมคิดว่า มันจะใกล้เคียงกับคำว่า ทางออกประเทศไทย ที่มีพื้นฐานจากความปรองดองของทุกคนในชาติมากที่สุด โพสต์นี้ถือว่าเป็นจดหมายเปิดผนึกฉบับที่4 ถึงท่านพิชัย ในอุดมคติ สรุปเป็นคำถามโดยย่อความว่า พรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีปกป้อง ม.309 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเป็นเสมือนประตูสู่เผด็จการ คุณพิชัยฯ มีความเห็นเป็นอย่างไรครับ” เฟซบุ๊กนายพานทองแท้ระบุ

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กนายพานทองแท้ยังได้โพสต์รูป พ.ต.ท.ทักษิณยืนยิ้ม โดยสวมเสื้อคอปกสีขาว พร้อมกับปักตราสัญลักษณ์ขอสำนักนายกรัฐมนตรี และมีข้อความด้านล่างว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” ลงในเฟซบุ๊กพร้อมกับข้อความว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ เป็นเแคมเปญของพรรคเพื่อไทยในช่วงหาเสียง จนทำให้ได้รับชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในวันสบายๆของคุณพ่อ (พ.ต.ท.ทักษิณ) ช่วงก่อนวันคริสต์มาสกับเสื้อตัวนี้ ผมขอเรียกว่ายิ่งลักษณ์ทำ ทักษิณใส่ เป็นรูปที่ยืนยันถึงความรัก และความสามัคคี ของ 2 พี่น้องที่มุ่งมั่นจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และพี่น้องประชาชน เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า จากคนแดนไกล คุณพ่อฝาก Merry X'mas ทุกท่าน ขอให้มีความสุขมากๆ ครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น