การประชุมแสดงวิสัยทัศน์เป็นกรรมการติดตามและประเมินผลงาน กสทช. รอบแรกมีเพียง 8 คนใน 4 ด้าน ย้ำชัดจะทำหน้าที่เสมือนตัวแทน ส.ว.ตรวจสอบ ส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคถูกงด หลังศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวตามที่ผู้สมัครรายหนึ่งฟ้องร้อง กมธ.ตรวจสอบเผยมีปัญหาลงมติคัดเลือกรอบสุดท้าย หวั่นถูกฟ้องร้อง-เกิดปัญหา ส่วนวิปวุฒิสภาชี้รอให้ครบก่อน เตือนให้รอบคอบ
วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่ห้องรับรอง 1-2 อาคารวุฒิสภา คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ได้จัดให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินงาน กสทช.ในรอบแรก จำนวน 8 คน ใน 4 ด้าน ได้แก่ กิจการกระจายเสียง ประกอบด้วย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และ น.ส.ลักษมี ศรีสมเพ็ชร, ด้านกิจการโทรทัศน์ ประกอบด้วย พล.อ.จิรเดช คชรัตน์ และนายพิชัย อุตมาภินันท์, ด้านกิจการโทรคมนาคม ประกอบด้วย นายอนันต์ วรธิติพงศ์ และนายอมรเทพ จิรัฐิติเจริญ และ ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประกอบด้วย นายจเด็จ อินสว่าง และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ และสื่อมวลชนที่มาสังเกตการณ์
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้งดการแสดงวิสัยทัศน์ของนายประเสริฐ อภิปุญญา และนายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินงาน กสทช. ในรอบแรก ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาและคุ้มครอง ตามที่นายวุฒิพร เดี่ยวพาณิช ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลงาน กสทช.ฟ้องร้อง โดยการแสดงวิสัยทัศน์ดังกล่าว ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ได้ยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทน ส.ว.ในการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงาน กสทช. ตามความรู้และความสามารถที่มี และกฎหมายที่มีบังคับใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด
ภายหลังการประชุมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบฯ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ จะจัดทำรายงานการประชุม เพื่อเสนอให้กับนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาบรรจุวาระในการลงคะแนนเลือกกรรมการติดตามประเมินผลงานของ กสทช.ในรอบสุดท้าย ที่จะต้องคัดเลือกให้เหลือ 5 คนจากจำนวนทั้งหมด 10 คน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการบรรจุระเบียบวาระเพื่อลงมติเลือกรอบสุดท้ายนั้น พบว่ามีปัญหาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ หลังจากที่มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ด้านคุ้มครองผู้บริโภคต้องถูกชะลอไว้ เนื่องจากคำสั่งของศาลปกครองกลาง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553 มาตรา 70 วรรคสอง ว่าด้วยการคัดเลือกกรรมการติดตามและประเมินงาน กสทช. ที่ระบุให้มีการคัดเลือกผู้สมควรเป็นกรรมการติดตามประเมินผลงาน กสทช.ที่ได้รับคัดเลือกเป็นจำนวน 2 เท่าของกรรมการทั้ง 5 ด้าน หมายความว่าการคัดเลือกในรอบสุดท้ายนั้นจะต้องรอให้ผู้สมัครครบทั้ง 5 ด้านก่อนหรือไม่ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากประธานวุฒิสภา เดินหน้าเลือกโดยไม่รอผู้สมัครฯ จากด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะถูกนำไปฟ้องร้อง และอนาคตจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะอายุการดำรงตำแหน่งของกรรมการติดตามและประเมินงาน กสทช.ที่ตามกฎหมายระบุให้ดำรงตำแหน่ง วาระละ 3 ปี
“ผมมองว่าประเด็นนี้ ประธานวุฒิสภาต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่จะให้มีการลงคะแนนเลือกในรอบสุดท้าย โดยเฉพาะหากให้มีการลงคะแนนตัดสินใน 4 ด้าน โดยไม่รอด้านคุ้มครองผู้บริโภคที่มีปัญหาฟ้องร้อง ตามกฎหมายระบุชัดเจนว่า กรรมการที่ผ่านการคัดเลือกจะไม่สามารถนับเป็นองค์ประชุมและจัดประชุมได้ นอกจากนั้นหากการเลือกกรรมการเข้าดำรงตำแหน่งมีความเหลื่อมล้ำอาจทำให้เป็นปัญหาเรื่องการดำรงวาระอีก” นายอนุรักษ์กล่าว
ขณะที่นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิปวุฒิสภาไม่ได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าว แต่ได้คุยกันนอกรอบถึงประเด็นปัญหาเรื่องการคัดเลือก เบื้องต้นในเรื่องขององค์ประชุมที่ตามกฎหมายระบุว่าต้องมีสมาชิกให้ครบทุกด้านก่อน โดยคำวินิจฉัยนั้นระบุว่าต้องให้ครบก่อน และหากไม่ครบก็จะไม่นับเป็นองค์ประชุม ดังนั้นประเด็นนี้น่าสนใจและควรพิจารณาให้รอบคอบ