xs
xsm
sm
md
lg

“บอร์ด กสทช.” สะดุด! กมธ.สอบประวัตินัดถกด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - วุฒิฯ หารือ เลือก “บอร์ด กสทช.” สะดุด! ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองผู้สมัครที่ไม่ผ่านคัดเลือก ด้าน กมธ.สอบประวัตินัดถกด่วน ด้านนักวิชาการ จวกยับผลการทำงาน 1 ปี กสทช.ไร้ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์จับต้องได้ จี้เรียกคืนคลื่นเพื่อจัดสรร

วานนี้ (24 ธ.ค. 55) ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม หลังจากที่ประชุมรับทราบพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ นิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 แล้ว ได้มีการพิจารณาเรื่องรับทราบขอขยายเวลาพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ตามที่ ม.ร.ว.วุฒิเลศ เทวกุล ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ เสนอขอขยายเวลาการพิจารณาเพื่อให้เกิดความรอบคอบออกไปอีก 15 วัน หลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญฯ ได้ครบกำหนดเวลาดำเนินการ 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.แล้ว

โดยก่อนที่ที่ประชุมจะมีมติรับทราบหรืออนุมัติการขอขยายเวลาดังกล่าว นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หารือต่อที่ประชุมถึงประเด็นคำสั่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาคดี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ตามที่นายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลงาน กสทช. ยื่นขอความเป็นธรรมกับศาล หลังจากที่ถูกตัดชื่อออกจากการเข้ารับการสรรหา ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของวุฒิสภา ในเรื่องของการคัดเลือกกรรมการติดตามและประเมินผลงาน กสทช. อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวทางคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ ได้นัดหารือร่วมกัน ในเวลา 11.00 น.ของวันนี้ (24 ธ.ค.) เบื้องต้นจะพิจารณาในประเด็นว่าจะเดินหน้าต่อ หรือยุติไว้ทั้งหมด หรือยุติไว้เฉพาะในส่วนกรรมการติดตามและประเมินผลงาน กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น

ด้านนายสุรชัยแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ทางวุฒิสภาได้รับคำสั่งของศาลปกครองกลาง อย่างเป็นทางการแล้ว เบื้องต้นนอกจากที่กรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ จะพิจารณาแล้ว จะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) หารือเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติด้วย เบื้องต้นจะได้แนวทางมาแจ้งต่อที่ประชุม อย่างเร็วที่สุด ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้

ขณะที่นายเลียด ประถม ส.ว.ตราด หารือขอให้วุฒิสภาดำเนินการลงคะแนนเลือกกรรมการติดตามและประเมินงาน กสทช.ภายใน 30 วัน หลังจากที่ประธานวุฒิสภาได้รับรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลงาน กสทช.ในรอบแรกแล้วตามที่ระเบียบกำหนด

ด้านนายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า พรุ่งนี้เวลา 13.00 น. คณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ ได้เชิญผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกมาแสดงวิสัยทัศน์ โดยจะเชิญผู้ที่ได้รับคัดเลือก 4 กลุ่มได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง, ด้านกิจการโทรทัศน์, ด้านกิจการโทรคมนาคม และด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่วนด้านความคุ้มครองผู้บริโภค ที่ขณะนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาจะงดให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมาแสดงวิสัยทัศน์ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีผู้มาแสดงวิสัยทัศน์แล้วทางกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ จะนำเสนอต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาบรรจุระเบียบวาระในการลงคะแนนเลือกรอบสุดท้าย ทั้งนี้คาดว่าที่ประชุมจะมีการหารือว่าจะมีการลงคะแนนใน 4 กลุ่มเลย หรือต้องรอกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคก่อน

อีกด้าน นายสมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวในงานเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 11 หัวข้อ 1 ปี กสทช. กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทยว่า สิ่งที่ไม่เกิดขึ้นตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ และผลประโยชน์ที่จับต้องได้ ซึ่งเสียหายนับหมื่นล้านบาท ขณะที่ภาพรวมในการออกใบอนุญาต 3จี ต้องประมูลให้ได้ราคามาก แต่พอออกมาได้น้อยก็ถูกตำหนิ และ กสทช.ไม่ได้เขียนในเงื่อนไขการประมูลว่าจะให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำอะไรให้เกิดประโยชน์สาธารณะบ้าง

สิ่งที่ กสทช.ควรทำ คือ เร่งกระบวนการคืนคลื่นให้เร็วขึ้นแล้วจัดสรรใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเรื่องบรอดแบนด์ ทุกประเทศที่เข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทุกโรงเรียนต้องเข้าถึงในปี 2558 ขณะที่อินโดนีเซียมีใช้ฟรีเกือบ 2 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังผิดหวังการกำกับดูแลวิทยุรายใหม่ (วิทยุชุมชน) ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ยังไม่มีประสิทธิภาพ-ประชาชนได้รับผลกระทบคลื่นรบกวน รวมทั้งคุณภาพเนื้อหา

ขณะที่เรื่องการประมูลทีวีดิจิตอล กสทช.ต้องเข้าใจว่าทีวีผ่านดาวเทียมใช้เงินในการผลิตงานเท่ากัน ถ้าจะผลิตงานให้มีคุณภาพ จะมาบอกว่าทีวีช่องไหนเป็นช่องใหญ่ช่องเล็กไม่ได้ ทำอย่างไรใบอนุญาตทีวีช่องต่างๆ จะมีสัดส่วนผกผัน ถ้าใบอนุญาตสูง ช่องรายการควรจะต่ำ ควรขึ้นอยู่กับคุณภาพ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือว่า กสทช.รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และมีธงที่จะทำ แต่ไม่ทำตามที่รับฟัง ซึ่งเป็นข่าวลือที่จริง

น.ส.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะอนุกรรมการหลายชุด จากเห็นการทำงาน ภาพรวมสิ่งที่เห็น คือ การผลักกรอบกำกับดูแล ส่วนตัวมองเห็นว่า ในแง่การสร้างกรอบต้องประเมินปัญหา เพราะเป็นสูญญากาศมาก่อน ไม่มีหน่วยงานกำกับ โดยเฉพาะด้านบอร์ดคลาส ต่อมาระบุปัญหา จากนั้นดูเป้าหมายว่าจะจัดการอย่างไร แล้วจึงดูระบอบที่กำกับ ตามด้วยเครื่องมือในการกำกับดูแล และสุดท้าย กสทช.ทุกคนต้องคุยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น