“ส.ว.ประสาร” ซัดก๊วนทักษิณไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี จวกกรมกร๊วกสุดสอพลอ จ่อชงอนุ กมธ.สอบเสรีภาพ เรียก “ศันสนีย์” แจง ด้าน “ส.ว.ไพบูลย์” ชี้แก้ รธน.สังคมต้องเห็นพ้องกัน แนะดูตั้ง ส.ส.ร.1 ตัวอย่าง เตือนดึงดันลงมติวาระ 3 ยิ่งขัดแย้ง หนุนใช้ข้อบังคับที่ 29 ถอนร่าง
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิและเสรีภาพในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแข่งขันชกมวยไทยวอร์ริเออร์ส ปีที่ 2 ที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ซึ่งออกอากาศสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมาไปทั่วประเทศว่า เป็นยุทธการชิงพื้นที่ข่าวของระบอบทักษิณ ที่ไร้จิตสำนึกแห่งความผิดชอบชั่วดี ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ก็สอพลอ คนอยู่หน้าจอก็ไร้ยางอาย กลไกราชการก็ยอมตกเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของคนที่ต้องการแก้ต่างให้กับความผิดและข้อกล่าวหาเรื่องการสถาบันของตนเอง
นายประสารกล่าวอีกว่า ตนจะเสนอให้อนุกรรมาธิการฯ เชิญ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้อำนายการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที มาตรวจสอบซักถามในประเด็นต่างๆ เช่น การออกอากาศนั้นเป็นสัญญากับเอกชน ก็จะขอดูสัญญา ดูเงื่อนไขการถ่ายทอด จริงหรือไม่ที่ว่าเอ็นบีทีไปเชื่อมสัญญานสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท และจริงหรือไม่ว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนขอให้พรรคร่วมรัฐบาลและสังคมส่วนรวมศึกษาประวัติศาสตร์ของการพิจารณารัฐธรรมนูญวาระ 3 ในการจัดตั้ง ส.ส.ร.1 ในวันนั้น 14 ก.ย. 39 รัฐสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีเสียงที่เห็นชอบในรัฐสภา 604 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นชอบเลย สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะยกเลิกฉบับเดิมเพื่อยกร่างฉบับใหม่ สังคมจำเป็นเห็นพ้องต้องกัน ทั้งในสมาชิกรัฐสภา และสังคม เห็นเป็นเอกฉันท์ถึงดำเนินการได้ ถ้าเปรียบเทียบกับ ส.ส.ร.3 ที่จัดตั้งจะเห็นความแตกต่าง ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ และศึกษาผลการลงวาระ 3 เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 27 ก.ย. 40 รัฐสภามีมติเห็นชอบ 578 เสียง มีไม่เห็นชอบ 16 เสียง จะเห็นว่าการเริ่มต้นและที่มาของการตั้ง ส.ส.ร.1 นั้นมีการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังนั้นอยากจะเตือนไว้ หากดึงดันจะลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยใช้เสียงข้างมากปกติ เฉพาะแค่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ส่วนตัวเชื่อว่าแม้ลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้ ก็ประกาศใช้ไม่ได้
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตนเสนอแนะให้พรรคร่วมรัฐบาลลองศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกวิธี คือ เสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 29 เพื่อให้มีญัตติขอให้ที่ประชุมรัฐสภา ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเสมือนไม่เคยมีการพิจารณามาก่อน เชื่อว่าจะทำได้ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าที่ประชุมมีมติจะเป็นทางออกของการยุติการลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้ จะไม่ทำให้ประเทศชาติเสี่ยงกับความเสียหาย เป็นการตัดไฟแต่ต้นล้ม รักษาน้ำใจของทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายผู้ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการถอนออก ไม่ใช่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ