รองโฆษก พท. ระบุต้องโหวตแก้ รธน.วาระ 3 เพื่อให้กระบวนการเสนอ กม.เสร็จสิ้น ปัดแก้เพื่อคนๆ เดียว อ้างยังไม่เกี่ยวเนื้อหา แค่ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่าง รธน.ใหม่ และไม่เกี่ยวกับการต่อรองคดี “มาร์ค-เทือก” พร้อมอัด 40 ส.ว. ดันแก้รายมาตราเพื่อตัวเอง ยันรัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงชี้นำในการจัดสานเสวนาที่ใช้งบฯ 168 ล้าน
ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ออกมาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การลงมติวาระ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อให้กระบวนการเสนอกฎหมายเสร็จสิ้นครบถ้วน ตามข้อบังคับการเสนอกฎหมายของรัฐสภา ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหลังจากมีการลงมติ วาระ 1-2 ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาล รอการเสนอรายงานของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อที่แต่ละพรรคจะลงมติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คาดว่าจะได้เห็นรายงานดังกล่าวอย่างเร็ววันที่ 10 ธ.ค. อย่างช้าวันที่ 17 ธ.ค. ซึ่งผลอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละพรรค
ส่วนที่ระบุว่า การเดินหน้าโหวตวาระ 3 เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของคนๆ เดียวหรือเพื่อล้างผิด คืนทรัพย์สิน ตลอดจนเปิดทางให้อดีตนายกฯกลับคืนสู่อำนาจนั้น ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม เพราะการโหวตวาระ 3 เป็นเพียงการลงมติเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การแก้ไขเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ และคนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ส.ส.ร.ซึ่งมีที่มาหลากหลายจะถูกบงการด้วยคนๆ เดียวหรือทำเพื่อประโยชน์ของคนคนเดียว
รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ขอให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกโยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพ.ร.บ.ปรองดอง เพราะเป็นคนละเรื่องกัน และขอให้เลิกอ้างว่ารัฐบาลแอบไปต่อรองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บ 2,000 กว่าราย เพราะการดำเนินคดีดังกล่าวของดีเอสไอเป็นไปตามคำตัดสินของศาล รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้อยู่แล้ว และยังแต่งเรื่องว่ารัฐบาลใช้คดีความเหล่านี้เป็นเครื่องต่อรองเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ สงสัยว่าพรรคประชาธิปัตย์มีกี่มาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพราะเวลามีผู้ร้องทุกข์ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของไทย นายอภิสิทธิ์และลูกพรรคประชาธิปัตย์ก็จะออกมายืนยันทันทีว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอิสระ ไม่มีใครแทรกแซงได้ แต่พอตัวเองถูกดำเนินคดีบ้าง กลับตั้งโต๊ะแถลงข่าว ราวกับว่าถูกการเมืองกลั่นแกล้ง ทั้งๆที่เป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากคำตัดสินของศาล
ร.ท.หญิง สุณิสา ยังตั้งคำถามถึงข้อเสนอของกลุ่ม 40 ส.ว.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก คมช. คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้ง ส.ส.ร. เป็นเพราะต้องการผูกขาดอำนาจไว้ในมือพวกท่านอย่างเดียวใช่หรือไม่ เหตุใดจึงไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่กลับเสนอให้มีการแก้รายมาตราโดยเฉพาะมาตรา 117 เพื่อปลดล็อควาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ให้อยู่ในอำนาจให้นานขึ้น รวมทั้งแก้ไขเรื่องการยุบพรรคทั้งๆที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นเพียงพรรคเดียวที่สุ่มเสี่ยงอาจถูกยุบพรรค กรณีบริษัท อีสวอเตอร์ เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวก ซึ่งต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารใช่หรือไม่
ร.ท.หญิง สุณิสายังกล่าวถึงกรณีการจัดเวทีประชาเสวนาที่พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโจมตีว่าผลาญงบและเป็นการตั้งเวทีเพื่อล้างสมองให้ประชาชนสนับสนุนการแก้กฎหมายว่า เป็นจินตนาการไปเองของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ ปคอป.ได้ชี้แจงไปแล้ว ว่ารูปแบบการทำงานของทุกเวทีที่จะมีขึ้น 108 จุดทั่วประเทศนั้น กรมพัฒนาชุมชน จะทำหน้าที่เป็นเพียงฝ่ายธุรการของเวทีเสวนาเท่านั้น ส่วนเนื้อหาสาระ ตลอดจนการพิจารณาเชิญผู้เข้าร่วม จะเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปชี้นำหรือแทรกแซงการเสวนาได้อย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและดำเนินการกันเอง ส่วนเงินงบประมาณ 168 ล้านบาท ที่จะใช้ในการจัดเวทีเสวนานั้น หากสามารถทำให้ประเทศชาติเกิดความสามัคคีปรองดอง และยุติความขัดแย้งได้ ก็ถือเป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า