xs
xsm
sm
md
lg

กล่อมส.ส.แดงถอนโหวต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เพื่อไทย”ไม่เร่งโหวตรธน.วาระ3 “เหลิม”ผวาม๊อบ กล่อมส.ส.แดงถอนโหวต “ชลน่าน”เตือนพรรคพวกอย่าตะแบง อ้างยังไม่ตกผลึก นพดล” ลั่นต้องตั้ง ส.ส.ร.ตามนโยบายหาเสียง ไม่สนคำขู่ฝ่ายค้าน-ส.ว.สรรหา 40 ส.ว.ย้ำชัด ไม่เห็นด้วยกับการแก้รธน.หวั่นนำไปสู่สงครามกลางเมือง โฆษกพธม.ติง “ถามปชช.หรือยัง?”เตือนรบ.เสี่ยงยุบพรรค

วานนี้(6 ธ.ค.55) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 291 มีมติผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่าก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลควรไปถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติจากประชาชน และประชาชนตัดสินใจเลือกใช้ ถ้ารัฐบาลคิดจะเดินหน้าลงมติในวาระ 3 จะเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญไม่ใช่ร่างแล้วค่อยมาถามกัน และหากรัฐบาลจะลงมติโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร รัฐบาลต้องยอมรับ ซึ่งอาจเสี่ยงให้ถูกยุบพรรคได้

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเคลื่อนไหวหรือไม่นั้นอยู่บนเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1.หากมีการแก้กฎหมายเปลี่ยนโครงสร้างพระราชอำนาจ 2.หากมีการแก้กฎหมายล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก เพราะเป็นการทำลายอำนาจหลักนิติรัฐ และ 3.หากประชาชนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ในขั้นตอนของรัฐบาลขณะนี้ ยังไม่เข้าข่ายที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำหนดไว้ จึงจะยังไม่มีการชุมนุมแต่อย่างใด

40 ส.ว. ค้านหวั่นสงครามกลางเมือง

ที่รัฐสภา กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายประสาร มฤคพิทักษ์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ส.ว.สรรหา ร่วมกันแถลงข่าวโดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่จะมีการเดินหน้าโหวตวาระ 3 โดยอ้างว่า จะทำให้ประเทศเข้าสู่วังวนเดิมของความขัดแย้ง เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่ จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม และท้ายที่สุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะต้องล้มเลิกไป ดังนั้นรัฐสภาควรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบในวาระ 3

โดย สว.จะริเริ่มรวบรวมรายชื่อส.ว.และส.ส.บางส่วน ไม่น้อยกว่า 128 รายชื่อ ซึ่งไม่น้อย 1ใน 5 ของสมาชิก 2 สภา เพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรค และรัฐธรรมนูญมาตรา 117 เกี่ยวกับการจำกัดวาระในการสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลือกตั้ง เพราะการจำกัดให้ส.ว.เลือกตั้งตำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว เป็นการกีดกันบุคคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งญัตติดังกล่าวจะนำเข้าพิจารณาหลังจากที่รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

"จะเริ่มรวบรวมรายชื่อในวันที่ 10 ธันวาคม โดยหวังว่าจะได้รับความมือจากสมาชิกวุฒิสภา หลังจากที่รวบรวมรายชื่อได้ครบ จะเสนอญัตติดังกล่าวต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระเมื่อเปิดประชุมสมัยนิติบัญญัติทันที โดยญัตติดังกล่าวจะอยู่ลำดับหลังจากการลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ "นายไพบูลย์กล่าว

ปชป.เชื่อเตรียมสอดไส้นิรโทษแม้ว

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามทำเรื่องดังกล่าวด้วยความเร่งรีบ เพื่อให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ถ้าอยู่บนเงื่อนไขผลประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชน เป็นการพัฒนาทางการเมือง แต่หากแอบแฝงด้วยเงื่อนไขการล้างผิด หรือมีกลุ่มได้รับประโยชน์เฉพาะตน

ทั้งนี้ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิฉัยแล้วว่าการแก้ไขโดยการยกร่างใหม่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนเพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันมาจากการทำประชามติ ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเป็นการล้มรัฐธรรมนูญ และร่างใหม่ทั้งฉบับโดยไม่มีหลักประกันใดๆว่ามาตราใดจะถูกแก้ไขหรือไม่ถูกแก้ไข

ส่วนที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดงระบุชัดว่าต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเลยไปถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการเปิดเผยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงว่าสุดท้ายแล้วการแก้รัฐธรรมนูญเป็นประตูบานแรก เพื่อไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการคืนทรัพย์สิน

ตัวเร่ง“แม้ว”อยากกลับเมืองไทย

นายอภิสิทธิ์. เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สาเหตุที่เป็นตัวเร่งทำให้รัฐบาลต้องผลักดันทั้ง2 เรื่องนี้ให้ได้ในสิ้นปีนี้ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณพูดมาโดยตลอดว่า จะกลับมาภายในสิ้นปีนี้ ฉะนั้น ทุกอย่างจึงกลับไปสู่จุดเดิมคือ แทนที่รัฐบาลจะเอาใจใส่กับปัญหาบ้านเมือง กลับไปตอบสนองความต้องการของคนคนเดียว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมเพราะยังไม่อะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และหากรัฐบาลรีบลงมติวาระ3 ก็อาจ จะเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

“การแก้รัฐธรรมนูญ หรือการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับนั้น เป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย และเห็นว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะซ่อนเร้นความจริง และขอให้ตระหนักด้วยว่า เรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญ และเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหมายความว่าเราต้องไปเขียนกติกาของประเทศขึ้นมาใหม่ การจะทำอะไรควรคิดให้รอบคอบ และไม่ควรใช้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลเพื่อคนใดคนหนึ่ง”

“นพดล”เย้ยงูเห่าแผ่แม่เบี้ยใช่มีพิษ!

อีกด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขั้นตอนนี้เป็นเพียงข้อเสนอความเห็นของคณะกรรมการพรรคร่วมรัฐบาล กรรมการบริหารพรรคแต่ละพรรคยังไม่ได้มีข้อสรุปว่า จะแก้รัฐธรรมนูญตามแนวทางที่คณะกรรมการฯเสนอหรือจะแก้ด้วยวิธีอื่น ฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม ส.ว.สรรหาอย่าเพิ่งด่วนสรุปและขู่รัฐบาลว่าถ้าเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลจะอายุสั้น

ทั้งนี้รัฐบาลฉลาดพอและจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อประชาชนและคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยไม่กลัวคำขู่ของฝ่ายค้านหรือ กลุ่ม ส.ว.เพราะงูเห่าที่แผ่แม่เบี้ยก็ไม่ใช่ว่าจะมีพิษทุกตัว ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงการล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทวงคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปนั้น เป็นการใส่ร้ายและจินตนาการไปเอง

“เหลิม”ผวา กล่อมส.ส.แดงถอนโหวต

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน (6 ธ.ค.) นายวรชัยได้โทรศัพท์มาหาตนและคุยกันเข้าใจดีแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลายฝ่ายในพรรคเพื่อไทยอยากผลักดันให้มีการโหวตวาระ 3 ในการเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัตินี้เลย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า แล้วแต่พรรค พรรคเอาอย่างไรตนเอาด้วย ส่วนข้อกังวลที่องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) อาจออกมาอีกหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เรื่องนี้ตนจะเอาไปคุยในพรรค

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่าหากมีการโหวตในวาระ 3 จะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนยังมีแนวคิดว่าอะไรที่สร้างความขัดแย้งควรทำทีหลัง แต่ว่าทำแน่ ส่วนวิธีทำก็มีหลายวิธี ตนคิดว่าหากแก้ไขเป็นรายมาตราจะเร็วกว่าตั้งส.ส.ร. และเป็นการไม่เปิดช่องให้ใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุเอาไว้ว่า หากจะแก้ไขให้เป็นรายมาตรา ซึ่งนี่คือแนวคิดตน
เมื่อถามว่า การที่ระบุไม่ให้เร่งรีบ แล้วเวลาที่เหมาะสมควรเป็นเวลาใด รองนายกฯ กล่าว่า ต้องสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชนให้ตกผลึก หากประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจก็จบ

“ชลน่าน”เตือนพรรคพวกอย่าตะแบง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข ในฐานะอดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 กล่าวว่า ต้องอาศัยความเห็นพ้องของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จะเห็นด้วยกับการลงมติวาระ 3 หรือไม่ ตลอดจนต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยอมรับว่ามีความกังวลว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถเดินหน้าได้หรือไม่ เนื่องจากสังคมยังไม่ตกผลึกว่าจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้เร่งรีบที่จะต้องดำเนินการ ดังนั้น จึงคาดว่าการลงมติวาระ 3 ไม่น่าจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระบวนการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามมาตรา 291 ที่ให้เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีการถามความเห็นหรือทำประชามติหลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากถามความเห็นโดยไม่มีต้นร่าง จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม จึงไม่น่าขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาล

พท. ยันไม่เร่งโหวตรธน.วาระ3"

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวถึงกรณีร.ต.อ.เฉลิม คัดค้านกรณีการเร่งดำเนินการโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะเกรงว่าจะเกิดความไม่เข้าใจในสังคมขึ้นอีกว่า เชื่อว่าคงไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หน้าที่ของคณะทำงานฯคือรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วส่งให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะนำเรื่องเข้าสภาฯ เพื่อโหวตวาระ 3 เมื่อไหร่ แต่คงไม่จำเป็นต้องเร่งยื่นเข้าสภาฯ เพื่อโหวตวาระ 3 ทันที เพราะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลมีคำแนะนำในช่วงท้ายด้วยว่า ก่อนโหวตวาระ 3 นั้นควรรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การโหวตวาระ 3 ไม่ใช่การดำเนินการที่ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อน คาดว่าจะใช้เวลารณรงค์ประมาณ 2 เดือน รวมถึงต้องดูกระแสสังคมประกอบด้วย เพราะเราไม่ต้องการสร้างปัญหา ไม่ต้องเร่งรีบโหวต อาจจะเป็นช่วงเดือนมี.ค.หรือเม.ย.ก็ได้ เพราะยังอยู่ในช่วงสมัยประชุมสภาฯ

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า การเร่งโหวตวาระ 3 อาจทำให้เกิดสงครามมวลชนได้นั้น เป็นการตื่นเต้นไปเองของฝ่ายค้าน เราคงไม่รีบยื่นโหวตวาระ 3 แต่หากฝ่ายค้านจะยื่นตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อีกครั้งก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การโหวตวาระ 3 ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ส่งผลให้รัฐบาลอายุสั้นลง

ส่วนกรณีที่นายวรชัย เรียกร้องให้เร่งโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 พร้อมกับออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยนั้น นายสามารถระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของนายวรชัย แต่ขณะนี้ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไปก่อน เพราะเป็นการทำตามนโยบายรัฐบาล ไม่ควรนำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมมาเกี่ยวข้อง อย่าเอาเรื่องอื่นมาปน เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น