xs
xsm
sm
md
lg

“โภคิน” โว รธน.มาจาก ปชช.รอบ 80 ปี หากแก้ผ่าน ชง “ปู” พรรคร่วม 17 ธันวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
ปธ.ศึกษาแก้ รธน.พรรคร่วมฯ เผยความคืบหน้า “ปู” คาด 17 ธ.ค.เสร็จพร้อมเสนอ อ้าง ปชช.แปลกใจ ประชามติก่อนแก้ ยันทำตามขั้นตอนจากศาลร ธน. ชี้วาระ 3 ผ่านต้องรอ ส.ส.ร.ยกร่างถึงประชามติรับ รธน. ยกคล้าย รธน.50 แต่ฉบับนี้ ส.ส.ร.มาจาก ปชช.-ผู้ทรงคุณวุฒิ เผยได้ทั้ง รธน.57 หรือแก้ รธน.50 รายมาตรา รับสภาลุยเองชี้นำมากกว่า ย้อน รธน.40 ก็ไร้ปัญหา เผยสำเร็จจริงเป็น รธน.จาก ปชช.รอบ 80 ปี ไม่รู้มีวุ่นอ้างทำกฎ เงียบลุยวาระ 3 ประชุมสภาสมัยนี้

วันนี้ (4 ธ.ค.) นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานความคืบหน้าถึงผลสรุปของคณะทำงานฯ จากนั้นนายโภคินให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบว่า ตนนำผลการประชุมของคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมามาเรียนนายกฯให้ทราบ โดยนายกฯ เองก็ไม่ได้ห่วงอะไร เพียงแต่บอกว่าให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการ และให้มีความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม สำหรับเอกสารสรุปทั้งหมดของคณะทำงานฯ ตนพยายามจะตรวจสอบให้เสร็จภายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้เพื่อตีพิมพ์ออกมา หลังจากนั้นก็จะมีการนำเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาล และนายกฯ ด้วย

นายโภคินกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้ในคำวินิจฉัยแล้วว่า หากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องทำประชามติเสียก่อน เราก็เห็นว่าเป็นคำแนะนำที่นำมาปฏิบัติได้อยู่แล้ว เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมก็มีเรื่องของการทำประชามติอยู่ แต่หากจะมีการทำประชามติก่อนการทำรัฐธรรมนูญหลายคนก็สงสัยว่าจะไปถามอะไรประชาชน เพราะวันนี้ยังไม่มีอะไรเลย ก็คงแปลกๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ก็พยายามทำตามขั้นตอนและตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ในส่วนของคณะทำงานนั้นได้ดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีข้อสังเกตว่าควรจะมีการทำประชามติก่อนจะมีฉบับใหม่ ทั้งนี้ สมมติว่าโหวตวาระ 3 ผ่านก็ถือว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะยังเป็นฉบับเดิมอยู่ เพียงแต่มี ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อไปยกร่าง จากนั้นพอยกร่างเสร็จก็ถือว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดีเพราะต้องไปทำประชามติ จากนั้นก็ทำตามกระบวนการจนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

เมื่อถามว่า กระบวนการดังกล่าวจะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 40 หรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า ครั้งนี้จะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 50 เพียงแต่การยกร่างครั้งนั้นคณะรัฐประหารเป็นผู้เห็นชอบตัวบุคคล แต่ครั้งนี้ให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน และมีอีก 22 คนเป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาเลือก จากนั้นให้ ส.ส.ร.ไปยกร่างเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ ทั้งนี้ สมมติว่าผ่าน โดย ส.ส.ร.อาจจะทำได้ 2 วิธี คือ 1. เขียนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 57 หรือ 2. เป็นเขียนรัฐธรรมนูญปี 50 แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสมมุติว่ามีการแก้ไข 30 มาตราเหมือนกัน อันหนึ่งเปลี่ยน พ.ศ. กับอีกอันหนึ่งไม่เปลี่ยน พ.ศ. นั่นแสดงว่าอันไม่เปลี่ยน พ.ศ.เป็นฉบับเดิม อันเปลี่ยน พ.ศ.เป็นฉบับใหม่ โดยเนื้อหาเหมือนกัน ดังนั้นตนคิดว่าประเด็นหลัก คือ หากเราจะมีรัฐธรรมนูญขึ้นมา เป็นไปได้หรือไม่ว่าประชาชนเป็นคนยกร่าง เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 มีการเลือก ส.ส.ร.จังหวัดละ 10 คน และมาให้รัฐสภาเลือกให้เหลือ 1 คน แต่วันนี้ให้ประชาชนเลือกโดยตรงก็จะค่อนข้างตรงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 คือไปถามประชาชนเลยว่าประชาชนตกลงหรือไม่ เพราะตรงนี้ก็มีข้อดีว่าระหว่างมีการยกร่างก็ต้องมีการไปรณรงค์อยู่แล้วว่ามีประเด็นใดบ้าง ประชาชนก็เสนอเรื่องราวต่างๆ มาได้หมด ซึ่งดีกว่าที่อยู่ดีๆ เราไม่มีรัฐธรรมนูญอะไรแล้วไปถามประชาชนว่าจะมีฉบับใหม่กันเอาหรือไม่

เมื่อถามว่า บางฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะกลัวว่าฝ่ายรัฐจะไปชี้นำ นายโภคินกล่าวว่า หากพูดอย่างนี้รัฐสภาแก้เองไม่ชี้นำมากกว่าหรือ เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะทำให้ได้ ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน หากเราบอกว่าฝ่ายรัฐชี้นำก็เท่ากับว่าเราไม่เชื่อมั่นในประชาชนและไม่เชื่อมั่น ส.ส.ร. ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 40 ก็มีการมองว่ารัฐสภาจะครอบงำเนื่องจากเป็นคนเลือก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นรัฐสภาจะทำอะไรได้เลย ตนจึงคิดว่า ส.ส.ร.มีวุฒิภาวะและเกียรติภูมิพอสมควร ซึ่งหากเราทำได้สำเร็จ และประชาชนให้ความเห็นชอบ จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในรอบ 80 ปีที่ทำโดยประชาชนจริงๆ และความชอบธรรมจะสูงมาก

เมื่อถามว่า มองว่าจะมีความวุ่นวายตามมาระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยหรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า เราทำตามรัฐธรรมนูญปี 50 และหากไม่เอาอีกตนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นจึงอยากฝากว่าเราควรมาใช้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนที่มีความชอบธรรมจะดีกว่าหรือไม่ เมื่อถามว่าจะมีโหวตวาระ 3 ในการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัตินี้เลยหรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า ยังไม่ทราบ เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น