xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุมพรรคร่วมแก้ รธน.เห็นตรงเดินหน้าวาระ 3 คาดได้ข้อสรุป พ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานก๊วนแก้รัฐธรรมนูญ เผยที่ประชุมเห็นตรง 3 ประเด็น ฉบับใหม่ ส.ส.ร.ยกร่างฯ เสร็จทำประชามติต่อ เดินหน้าลุยวาระ 3 เนื้อหาเน้นประชาธิปไตย นิติธรรม แก้เหลื่อมล้ำ คาดสรุปได้ พ.ย.นี้ จ่อเชิญอธิการนิด้าร่วมงวดหน้า ด้าน ม.เที่ยงคืนชงปรับโครงสร้างอธิปไตย ต้องยอมรับพวกเลือกตั้ง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยกเลิกภูมิภาค สร้างความเท่าเทียม ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้เสรีภาพความเห็นทางการเมือง

วันนี้ (24 ก.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น. นายโภคิน พลกุล ในฐานะประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับของประชาชน โดยมีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต้องจัดให้มีการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเห็นชอบ 2. ต้องมีการเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ เพิ่มเติม ซึ่งคงค้างการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่สาม ซึ่งในการประชุมนายดิเรก ให้ความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ที่ค้างอยู่ในการพิจารณา มีกระบวนการลงประชามติโดยประชาชน หลังจากที่ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะตรงกับความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาในคำวินิจฉัยส่วนตน พบว่ามีเพียงตุลาการ 1 คนที่ให้ความเห็นแนะนำว่าต้องผ่านการลงประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระสามเมื่อใด นั้นต้องให้ทางพรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจ และ 3. ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องแก้ไขต้องตอบโจทย์ 3 ข้อ ได้แก่ ความเป็นประชาธิปไตยต่อการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“คณะทำงานจะมีการสรุปความเห็นทั้งหมด ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ทางได้เปิดช่องทางรับฟังความเห็นของประชาชน ผ่านเว็บไซต์ www.thaipeopleconsituion.com และตู้ ปณ.291 ราชเทวี ส่วนการประชุมนัดต่อไปของคณะทำงาน จะจัดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ที่พรรคเพื่อไทย โดยจะเชิญ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น” นายโภคินกล่าว

เมื่อถามว่า ข้อเสนอที่ให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม จะใช้ข้อกฎหมายใดมารองรับการกระทำ ในเมื่อรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร นายโภคิน กล่าวว่า ผลผูกพันของศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงแค่มาตรา 68 ที่มีความเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งนี้การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระสามเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 291 โดยถือว่าเป็นกระบวนการปกติที่ต้องเดินหน้าต่อไป อย่าไงรก็ตามการเดินหน้าทันทีในช่วงที่ความเข้าใจยังแตกต่างกันอยู่อาจมีปัญหา รวมถึงประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้แนะนำเรื่องการทำประชามติ ดังนั้นต้องมาทำความเข้าใจว่าจะทำประชามติเมื่อใด

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในการร่วมประชุมดังกล่าว นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องการสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยต่อที่ประชุมว่า ในความเห็นที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่ควรจำกัดขอบเขตเฉพาะ การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง เพราะจะทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วางอยู่บนปมของความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ เกิดการคัดค้านและต่อต้าน ดังนั้นม.เที่ยงคืน มีประเด็นที่เสนอให้พิจารณา คือ 1. ต้องปรับโครงสร้างของสถาบันทางการเมือง ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยต้องมีการยอมรับอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากระบบเลือกตั้ง และจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ และควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง ส่วนองค์กรอิสระ ต้องปรับโครงสร้างการทำงาน ให้มีความผูกพันธ์และความรับผิดชอบต่อประชาชน

2. ต้องมีการกระจายอำนาจ สู่ท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงยอมรับสิทธิในการปกครองของท้องถิ่น และชุมชน เพื่อให้เกิดการตอบสนองความต้องการ ที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงอำนาจการจัดสรรทรัพยากร การเลือกตอั้งผู้นำของตนเอง นอกจากนั้นควรยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และคงไว้เพียงราชการส่วนกลางและส่วนส่วนท้องถิ่น 3. สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้สิทธิขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม 4. ต้องมีการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในด้านกระบวนการยุติธรรม และให้ได้รับความคุ้มครอง จากรัฐในง่ของการถูกละเมิดสิทธิ นอกจากนั้นต้องให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อสถาบันการเมือง

สำหรับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจของประชาชน อย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย เช่น จัดให้มีการเผยแพร่ ร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้ง และรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างเต็มที่ก่อนที่จะให้ประชาชนมีการลงมติ



กำลังโหลดความคิดเห็น