“ประยุทธ์” เผย กอ.รมน.ถก พ.ร.บ.มั่นคง 5 อำเภอ 2 จชต. แจงคดีความมั่นคงใช้เวลาสืบนาน กม.ปกติให้อำนาจน้อย บอกไม่ได้หากปรับลด พ.ร.บ. หวั่นสบช่องก่อเหตุ พ้อลด จนท.แต่สถานการณ์ยังเข้ม ยันไม่ใช้ความรุนแรง แค่ทหารร่วมดูแลพร้อม ตร. ปัดไล่ล่า เตือนครูเสี่ยงขออยู่รวมเป็นกลุ่มง่ายต่อการดูแล แนะนอน ร.ร.พื้นที่เสี่ยง ไม่ฟังอันตราย ชี้เพิ่มเบี้ยเลี้ยงครูไม่ใช่ทางออก เตือนรัฐกระทบงบฯ เผย “ปู” เซ็น ศปก.กปต.แล้ว ประชุมสัปดาห์หน้า
วันนี้ (30 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวภายหลังร่วมประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่าที่ประชุมได้มีการหารือถึงโครงสร้างการทำงาน และเรื่องการต่ออายุประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.มั่นคง) ในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ขณะเดียวกันก็ได้พูดคุยในเรื่องแผนงานที่มีอยู่เดิมแล้ว อาทิ พื้นที่ใดที่เคยมีการใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.บ.มั่นคง และพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) หากพื้นที่ใดสถานการณ์หนักอยู่ก็ต้องใช้กฎอัยการศึกคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากสถานการณ์เบาลงก็จะลดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น พ.ร.บ.มั่นคง เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาทางออก ในการใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.มั่นคง ที่ว่าด้วยการเปิดโอกาสให้กลับใจเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีพื้นที่ใดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับลดระดับความเข้มข้นของกฎหมายลงอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำหนดประเมินอยู่ เพราะความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ไม่ต้องการใช้กฎหมายพิเศษใดๆ แต่มีปัญหาในขั้นตอนการสืบสวนที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่กฎหมายปกติให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำงานน้อยมาก ซึ่งการทำคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อมูลในเรื่องการประกาศปรับลดใช้กฎหมายในพื้นที่ต่างๆ อยู่ แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ เพราะอาจทำให้มีการก่อเหตุขึ้นอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากลดลงจนเห็นได้ชัดในห้วงระยะเวลาที่เราประเมิน 6 เดือนถึง 1 ปี ถ้าไม่มีเหตุการณ์หรือลดน้อยลงจนเกือบไม่มีเลย ก็จะลดระดับการใช้กฎหมายลงได้ แต่หากรีบร้อนจนเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก อาจเป็นแผนลวงก็เป็นได้
“การเลิกใช้กฎหมายทำได้ง่าย แต่การประกาศใหม่ทำได้ยาก ต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นคนประเมิน ปีที่ผ่านมามีคดีเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมด 9,000 กว่าคดี แต่เป็นคดีความมั่นคงเพียง 1,000 พันกว่าคดี ที่เหลือเป็นอาชญากรรมทั่วไป ตรงนี้เป็นข่าวดีที่แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงและโจรลดลง แต่อีกด้านกำลังเจ้าหน้าที่ก็กลับถูกลดลงเช่นกัน และใช้กฎหมายที่อ่อนลง เพราะฉะนั้นหากเหตุการณ์ไม่ลด แต่กลับลดอำนาจเจ้าหน้าที่ หากเกิดเรื่องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ยืนยันว่าเราไม่สามารถใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาภาคใต้ได้ หากเราใช้กำลังขนาดใหญ่เข้าไปปิดล้อมตรวจค้นทุกหมู่บ้านทุกตำบล มันสุ่มเสี่ยง ตอนนี้เราใช้กำลังทหารที่มีอยู่ไปช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัย และช่วยในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ไปไล่ล่าคนร้าย” ผบ.ทบ.ระบุ
เมื่อถามถึงมาตรการการดูแลครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ตกเป็นเป้าการก่อเหตุรุนแรง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยและปรับเข้าหากันระหว่างครูกับทางเจ้าหน้าที่ เพราะครูไม่ได้อาศัยอยู่รวมกันจุดเดียว แต่กระจายไปทั่วพื้นที่ ก็ได้มีการทำบัญชีบ้านพักที่อยู่อาศัยไว้ และเตือนกันว่าวันนี้ครูถือเป็นเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง การดูแลที่ง่ายที่สุดคือให้ครูทั้งหมดมาอยู่รวมกันโดยให้เจ้าหน้าที่ดูแลทั้งหมด แต่เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องอยู่กระจายออกไป ซึ่งก็ต้องมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ดูแลในพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะไปไหนอย่างไร ทั้งนี้จากการพูดคุยสิ่งใดที่ฝ่ายครูต้องการ ทางเจ้าหน้าที่ก็ปรับเพิ่มให้ บางสิ่งไม่สามารถทำได้ก็ขอความร่วมมือกัน
“บางโรงเรียนบางพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงก็อาจจะต้องนอนที่โรงเรียน หรือถ้าใครสมัครใจอยู่เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง ก็ถือว่าลดงานของเจ้าหน้าที่ไปบ้าง ส่วนผู้ที่ต้องเดินทางกลับก็ขอให้รวมตัวกันและไปกลับในเวลาที่กำหนด เพราะที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มักไปในเส้นทางที่ไม่ได้กำหนด หรือไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลเพราะกลัวเป็นเป้า สรุปว่ามีความอันตรายจึงต้องระมัดระวัง และปรับกันใน 3 ข้อหลัก คือ 1. การทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและพลเรือน 2. การติดกล้องวงจรปิดที่ยังไม่เรียบร้อยดี และ 3. เรื่องของการดูแลสวัสดิภาพ สิทธิของครู” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวต่อไปว่า วันนี้ตำรวจทหารได้เบี้ยเลี้ยงประจำวัน 200 กว่าบาท และประจำเดือนอีก 3,500 บาท ก็ทราบมาว่าขณะนี้ครูขอปรับขึ้นมาเท่ากัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางคณะรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจตัดสินใจในการพิจารณา ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งใดที่เป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ ประชาชน และบุคลากร แต่ก็ต้องหาสิ่งที่จะมารองรับให้ได้ เพราะจะมีเรื่องของงบประมาณและระเบียบต่างๆ ตามมา หากต่างฝ่ายต่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีปัญหา รัฐบาลต้องแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการเรียกประชุมเพื่อหารือกันอีกครั้งในเรื่องการทำงานที่จังหวัดชายแดนใต้