xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.สรุปจี้ “ปูนิ่ม” แก้ 5 เหตุแห่งความเสื่อม - สภาฯ นัดลงมติเช้านี้ 09.30 น.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฝ่ายค้านอภิปรายสรุป ลั่นไม่ได้สักแค่ค้าน ยัน “แม้ว” เข้าเกณฑ์การถูกถอดยศ ทุจริตที่ดินรัชดาฯ ย้ำ “บิ๊กโอ๋” เน่าสนิท 3 เรื่อง “ชัจจ์” ฮั้วประมูล แจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ แหลจตุจักร “ปู” บริหารงานล้มเหลว-เอื้อพวกพ้อง-ปล่อยให้มีการทุจริตฯ จี้ยุติ 5 เหตุแห่งความเสื่อม ก่อน ปธ.สภาฯ นัดลงมติ 09.30 น.พุธนี้

วานนี้ (27 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานช่วงท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ได้รับมอบจากผู้นำฝ่ายค้านและ ส.สพรรคประชาธิปัตย์ และพรรครักประเทศไทย จำนวน 157 รายชื่อ เพื่อสรุปการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 159

โดยก่อนการอภิปราย ฝ่ายค้านเจอปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่การพยายามลดความน่าเชื่อถือจากรัฐมนตรี ทำให้การอภิปรายเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ทั้งที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายบริหารแทนประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

ต่อมามีการพยายามทำให้เข้าใจว่าเป็นฝ่านค้านที่ค้านทุกเรื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง เพราะจากการเสนอกฎหมายเข้าสภาฯ ของรัฐบาลทั้งหมด 59 ฉบับ ฝ่ายค้านยกมือให้ 57 ฉบับ ไม่เห็นด้วยแค่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการออก พ.ร.ก.ที่รัฐบาลอ้างว่าเร่งด่วน ซึ่งความจริงพิสูจน์แล้วว่ามีการเบิกเงินแค่ 2-3 หมื่นล้าน แต่รัฐบาลต้องการรอให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไปก่อน เพื่อความคล่องในการดำเนินการ

ต่อมาคือ ร่างพระราชกฤษฎีกาโอนหนี้ จากกระทรวงการคลังไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับการทำสัญญาผูกพันระหว่างไทยกับต่างประเทศทั้งหมด 31 เรื่อง ฝ่ายค้านก็สนับสนุนทั้งหมด และที่ว่ามีการพยายามจับมือกับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามนั้น ขอทำความเข้าใจว่าฝ่ายค้านยื่นญัตติก่อนที่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามจะชุมนุมด้วยซ้ำ ตรงนี้คือความจริง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลพยายามลดความน่าเชื่อถือผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อให้ญัตติที่ตรวจสอบมีปัญหา

ทั้งนี้ เดิมไม่คิดอภิปราย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตรงกันข้ามกลับชื่นชมความกล้าหาญที่ยอมรับความจริงว่าเป็นขี้ข้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่มีประเด็นที่อภิปราย คือ การไม่ไม่ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 2 ครั้ง ได้คำตอบตรงกันว่าคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าเกณฑ์การถูกถอดยศทุกประการ หรือถูกถอดยศเมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุด (จำคุก)

ต่อมารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิม ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ตอบสื่อ 2 ข้อ คือ ไม่ถอดถอนและจะเพิ่มยศให้ด้วย ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่าที่ศาลตัดสินจำคุกคดีที่ดินรัชดานั้น ไม่ใช่การทุจริต ทั้งที่กฎหมายของสำนักงาน ป.ป.ช.ก็บอกชัดเจนว่ามีความผิดรวมถึงคู่สมรส และกฎหมายก็ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2542 ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะรับตำแหน่งด้วยซ้ำ

ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สรุปได้ 3 เรื่อง คือ การแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมโดยมิชอบ โดยมีเป้าหมายในการเข้าไปแทรกแซง พร้อมกับพบว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ทั้งที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมต้องเป็นผู้เสนอ แต่ พล.อ.อ.สุกำพลล้วงลูกผิดกฎหมาย และการที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เสนอชื่อทั้งที่มีปัญหาก็เป็นการไม่บังควร ส่อไปในทางมิชอบ หรือไม่ทำตามจริยธรรม ซึ่งผิดอย่างร้ายแรง

ต่อมาคือ เรื่องจัดซื้อเรือลาดตระเวน 3 ลำ มูลค่า 558 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบข้อร้องเรียนปรากฎว่ามีการฮั้วกัน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกลับเซ็นยกเลิกการชะลอ เรื่องที่ 3 คือการเปลี่ยนระบบยิงลูกหลอกจรวจนำวิธีเรือรบ ที่เปลี่ยนจากแท่นหมุนได้รอบทิศทาง มาเป็นแท่นที่ยึดอยู่กับที่ ซึ่งไม่ถูกต้อง

ด้าน พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นั้น มีเหตุผล 3 ประเด็นหลักๆ คือ การทำผิดกฎหมายฮั้วประมูล ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้รัฐเสียหาย โดยเฉพาะงบฯ เยียวยาน้ำท่วม 1.2 แสนล้าน ใน 26 โครงการ ที่ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการ สุดท้ายผลงานขุดลอกแม่น้ำ 7 สายแม่น้ำเละเทะ อีกทั้งทำบัญชีเท็จ

เรื่องที่ 2 คือ เรื่องตลาดนัดจตุจักร ตอนยึดที่ของการรถไฟฯ มาจาก กทม. ก็บอกว่าจะตั้งบริษัทลูกมาดูแล กลายเป็นการยึดแล้วมายกให้บริษัท ที เอ เอ็ม แมเนจเมนท์ฯ จัดการ ซึ่งตอนนี้แผงก็ยังว่าง

สุดท้ายคือ การแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จต่อสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีเป็นเจ้าหนี้นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 232 ล้าน และเรื่องนี้ภริยาของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ก็ฟ้องนายสุริยาด้วยว่าเงินส่วนหนึ่งนั้นเป็นเงินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ และ พล.ต.ท.ชัจจ์ก็รู้เป็นอย่างดี เพราะได้เชิญนายสุริยามาตกลง ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.ท.ชัจจ์จึงไม่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป

คนสุดท้ายคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อกล่าวหา 3 ประเด็นใหญ่ คือ เบียดบังอำนาจและงบประมาณของประชาชน เพื่อประโยชน์ตนเองและครอบครัว พฤติกรรมที่ชัดเจนคือ ค่าแรง 300 บาท ที่ต้องรอถึงเดือนถึงมกราคม 2556 ทั้งที่บอกว่าทำได้ในปี 2555 จากการหาเสียงที่ผ่านมา อีกทั้งเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ก็ปรากฏว่าไม่ใช่เงินเดือน แต่เป็นค่าครองชีพ ที่หลายๆ รัฐบาลให้อยู่แล้ว สุดท้ายคือ การให้บริการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย แต่ประเด็นที่เอื้อพวกพ้องกลับทำทันที โดยไม่มีเงื่อนไข เช่น การร้องขอให้ประเทศญี่ปุ่นออกวีซ่าให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมกับตอบแทนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ให้กับผู้ที่ดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังลักไก่ออก พ.ร.บ.พระราชทานอภัยโทษ อีกทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผ่าน พ.ร.บ.ปรองดอง มากกว่านั้น คือการเอางบฯ ฉุกเฉินจำนวน 100 ล้านบาท ไปประกันตัวผู้ต้องหาที่มาชุมนุมแล้วถูกศาลตัดสินจำคุก

ประการที่ 2 คือ นายกรัฐมนตรีบริหารงานล้มเหลว โดยเฉพาะการบริหารประเทศและปากท้องของประชาชน เช่น การแก้ปัญหาเกษตรกร โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งที่สุดท้ายแล้ว เจ๊ง เพราะต้นทุนสูงฝีมือต่ำ เกิดการทุจริต และประชาชนจนเหมือนเดิม มากกว่านั้นคือทำให้ประเทศไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าว

ประการสุดท้าย คือ นายกรัฐมนตรีปล่อยให้มีการทุจริต ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะงบเยียวยาน้ำท่วม 1.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลาง ตรวจสอบยาก พฤติกรรมก็คือว่า นายกรัฐมนตรี สร้างภาพด้วยการเปิดงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ต่อมามีการสั่งย้ายเลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และแก้ตัวทั้งๆ ที่รู้ว่า เลขาฯ ป.ป.ท.กำลังแฉ 3 เรื่อง คือการนำเข้ารถหรู ไซฟ่อนเงิน และทุจริตงบฯ น้ำท่วม

สุดท้ายนายจุรินทร์เชื่อว่าแผนบันได 5 ขั้นไม่สามารถล้มรัฐบาลได้อยู่แล้ว ลงมติเมื่อไรก็มีการอุ้มกันไว้ แต่สิ่งที่จะล้มรัฐบาลได้ก็คือ ตัวของนายกรัฐมนตรี และการบริหารงานที่ล้มเหลว ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องยุติเหตุแห่งความเสื่อม 5 ข้อ ดังนี้

1.หยุดทำผิดกฎหมาย หรือปล่อยให้มีการทุจริต 2.ต้องมีวุฒิภาวะในการเป็นนายกรัฐมนตรี ในสภาฯ ซึ่ง 1 ปีกว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถแสดงได้โดยชัดเจน มาปรากฏตัวน้อยมาก หรือมาปรากฎตัววันแรกที่ขอให้เป็นนายกรัฐมนตรี นอกนั้นเลี่ยงสภาฯ มาโดยตลอด ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ใน 3 สมัยประชุมทั้งหมด 74 กระทู้ แต่นายกรัฐมนตรี มาตอบด้วยตัวเอง 2 กระทู้

3.เลิกการบริหารประเทศแบบลอยตัว หนีปัญหาและความรับผิดชอบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องรักษาคำมั่นสัญญา โดยเฉพาะที่บอกว่าจะแก้ไข ไม่แก้แค้น อย่าปล่อยให้คำพูดเหล่านี้เป็นวาทะกรรมสร้างภาพอีกต่อไป 4.อย่าปล่อยให้คนอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่มาล้วงลูก โดยเฉพาะการแต่งตั้ง ตรงนี้ไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะตกต่ำ เพราะสถาบันนายกรัฐมนตรีจะตกต่ำไปด้วย 5.นายกรัฐมนตรี ต้องก้าวข้ามผลประโยชน์ของพวกพ้อง หรือทำเพื่อคนคนเดียว เพราะเรื่องนี้จะทำให้ประเทศก้าวเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปราย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งปิดประชุมสภาฯ ในเวลา 23.45 น. และนัดลงมติในวันที่ 28 พ.ย. เวลา 09.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น